เลือดคั่งในสมองเป็นอย่างไร อาการที่สังเกตได้ และวิธีรักษา scaled

เลือดคั่งในสมองเป็นอย่างไร อาการที่สังเกตได้ และวิธีรักษา

เมื่อพูดถึงภาวะเลือดคั่งในสมอง หลายคนต้องนึกถึงอาการฉุกเฉินร้ายแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วนและมักลงเอยด้วยการผ่าตัดสมอง แต่เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของภาวะนี้ ยังมีหลายคนที่ไม่ทราบว่า มันเกิดจากอะไร แล้วรักษาให้หายได้หรือไม่

ความหมายของภาวะเลือดคั่งในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมอง หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ภาวะเลือดคั่งในสมอง”(Intracerebral Hemorrhage) คือ ภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยเกิดจากหลอดเลือดในสมองฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกในสมองจนสร้างความเสียหายต่อสมองและระบบประสาท

เมื่อเกิดภาวะเลือดคั่งในสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกมาดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลียอย่างกะทันหัน
  • มีอาการสับสนเฉียบพลัน ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ทั้งการพูด อ่าน ฟัง หรือเขียน
  • ปวดศีรษะและวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • การมองเห็นพร่าเบลอ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปากเบี้ยว
  • พูดลำบาก
  • กลืนอาหารลำบาก
  • แขน ขาเป็นอัมพาต
  • เสียการทรงตัว ไม่สามารถยืน หรือเดินได้

นอกจากอาการแสดงที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ป่วยยังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้อีก เช่น มองไม่เห็นเลย สมองบวม อารมณ์แปรปรวน หรือซึมเศร้า มีไข้สูง ความทรงจำเลอะเลือน ปอดบวม เป็นอัมพาต

หากคุณพบว่า คนใกล้ตัวมีอาการคล้ายกับเป็นภาวะเลือดคั่งในสมองควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะยิ่งมีเลือดออกในสมองมากเท่าไหร่ ก็มีความเสี่ยงที่เลือดจะไปขับแรงดันในโพรงกะโหลกให้สูงขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของภาวะเลือดคั่งในสมอง

ความเสื่อมของหลอดเลือดตามวัยมักเป็นสาเหตุหลักของภาวะเลือดคั่งในสมอง จึงมักพบโรคนี้มากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-60 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่นที่สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้อีก เช่น

  • อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุนแรง
  • โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • โรคหลอดเลือดสมองโป่ง (Ruptured cerebral aneurysm)
  • โรคเนื้องอกสมอง (Brain tumor)
  • โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือโรคเอวีเอ็ม (Arteriovenous Malformation: AVM)
  • มีการใช้ยาเจือจางเลือด (Blood thinners) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ใช้ยาเสพติด เช่น สารโคเคน หรือยาบ้า (Methamphetamine)
  • โรคที่มีอาการแสดงเป็นอาการเลือดออก เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
  • พฤติกรรมดื่มสุรา สูบบุหรี่ ซึ่งมีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูง ร่างกายได้รับสารพิษที่เข้าไปทำลายระบบต่างๆ ของร่างกาย

การรักษาภาวะเลือดคั่งในสมอง

เมื่อเกิดภาวะเลือดคั่งในสมอง ผู้ป่วยจะต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วนภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ โดยวิธีรักษาสำคัญของภาวะนี้คือ การผ่าตัด เพื่อนำก้อนเลือดที่ออกในสมองออก และเพื่อรักษาหลอดเลือดสมองส่วนที่ฉีกขาด

นอกจากนี้แพทย์อาจจ่ายยาควบคุมความดันโลหิต เพื่อลดความดันเลือดในกะโหลกศีรษะ รวมถึงลดอาการสมองบวม และอาจจ่ายยากันชัก หากผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งเกิดขึ้น

ภายหลังการรักษาแบบฉุกเฉินแล้ว แพทย์จะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากสมอง เช่น การทำกายภาพบำบัด หากผู้ป่วยเป็นอัมพาต หรือเคลื่อนไหวร่างกายซีกใดซีกหนึ่งไม่ได้ การฝึกพูด หากผู้ป่วยพูดไม่ชัด

ค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะเลือดคั่งในสมองอาจสูง และต้องจ่ายเป็นระยะยาว นอกจากกระบวนการผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะฉุกเฉินแล้ว ยังต้องมีการทำกายภาพบำบัด และฟื้นฟูร่างกายในส่วนอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อีก

วิธีป้องกันภาวะเลือดคั่งในสมอง

ภาวะเลือดคั่งในสมองมักเกิดจากโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือด และสมอง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคนี้ คุณจึงปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่
  • งดเสพยาเสพติด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
  • หมั่นออกกำลังกาย
  • พักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ให้หมั่นไปตรวจสุขภาพ และอาการของโรคกับแพทย์เป็นประจำ รวมถึงรักษาอาการของโรคนี้ให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย เช่น ตรวจหัวใจ
  • ระมัดระวังการเดิน การเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หรือหากต้องนั่งมอเตอร์ไซด์ควรสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง

ภาวะเลือดคั่งในสมองเป็นภาวะอันตรายร้ายแรงที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และอาจเสียชีวิตได้หากรับการรักษาไม่ทันเวลา ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะนี้จึงต้องรักษาสุขภาพให้ดี

หากมีโรคประจำตัวก็ควรหมั่นไปตรวจอาการกับแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามกลายเป็นภาวะเลือดคั่งในสมองได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top