ตรวจ DNA คืออะไร ตรวจเพื่ออะไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร scaled

ตรวจ DNA คืออะไร ตรวจเพื่ออะไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร

เมื่อถึงการตรวจดีเอ็นเอ หลายคนคงจะนึกถึงข่าวดารา หรือคนดัง ที่ต้องการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดของตนกับเด็กที่เกิดจากผู้หญิงซึ่งตนเองเคยไปมีความสัมพันธ์ด้วยว่า “มีความเป็นพ่อ-ลูกกันจริงหรือไม่” แต่ความจริงแล้ว การตรวจดีเอ็นเอนั้นมีประโยชน์มากกว่าการพิสูจน์ว่า ใครเป็นพ่อ-แม่-ลูก กัน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า การตรวจดีเอ็นสามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงในโรคต่างๆ รวมถึงบอกถึงพรสวรรค์ และความถนัดในตัวเราได้ด้วย

ความหมายของดีเอ็นเอ

ดีเอ็นเอ (DNA) มีชื่อเต็มว่า “กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (Deoxyribonucleic Acid)” มีรูปร่างเป็นเกลียวคู่ เป็นกรดจำพวกนิวคลีอิก (Nucleic acid) ซึ่งจะอยู่ในนิวเคลียสที่พันตัวอยู่บนโครโมโซม (Chromosome)

เราสามารถพบดีเอ็นเอได้ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืช เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส โดยสามารถตรวจพบดีเอ็นเอได้จากเซลล์เนื้อเยื่อตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น

  • เส้นผม
  • ชิ้นเนื้อ
  • ผิวหนัง
  • เยื่อบุกระพุ้งแก้ม
  • กล้ามเนื้อ
  • น้ำลาย
  • เม็ดเลือดขาว
  • น้ำเหลือง
  • น้ำลาย
  • น้ำอสุจิ

บทบาทสำคัญของดีเอ็นเอคือ เป็นสารกรดที่กำหนดลักษณะของสิ่งมีชีวิตและสามารถถ่ายทอดลักษณะเหล่านั้นไปยังสิ่งมีชีวิตรุ่นลูก หรือรุ่นหลานต่อๆ ไปนั่นเอง

ความหมายของการตรวจดีเอ็นเอ

การตรวจดีเอ็นเอ (DNA Testing) คือ การใช้สารดีเอ็นเอจากเลือด เซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้ม หรือเนื้อเยื่อจากร่างกายส่วนอื่นๆ เพื่อตรวจหาข้อพิสูจน์ และหาความผิดปกติภายในร่างกาย

โดยการตรวจดีเอ็นเอที่ให้บริการในประเทศไทยในปัจจุบันแบ่งเป็น 5 อย่าง ได้แก่

  1. การตรวจดีเอ็นเอเพื่อยืนยันตัวบุคคลจากสิ่งส่งตรวจ หรือจากเนื้อเยื่อ
  2. การตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร โดยมีวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย
  3. การตรวจดีเอ็นเอเพื่อติดตามผลการปลูกถ่ายไขกระดูกและเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
  4. การตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด สำหรับปลูกถ่ายอวัยวะ
  5. การตรวจดีเอ็นเอเพื่อยืนยันตัวบุคคล จากกรณีคดีความผิดทางเพศ

ปัจจุบัน การตรวจดีเอ็นเอมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่เป็นหลักฐานทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ ความเสี่ยงต่อโรค การค้นหาพรสวรรค์ และความถนัดในตัวบุคคลได้ด้วย

เทคนิคการตรวจดีเอ็นเอ

เทคนิคการตรวจดีเอ็นเอที่เปิดให้บริการแบ่งออกได้ 4 เทคนิคหลักๆ ได้แก่

  1. การตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA Fingerprint)
  2. การตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอที่อยู่ในเซลล์ไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial DNA)
  3. การตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอจากในโครโมโซมเพศชาย (Y-Chromosome Short Tamdem Repeat Typing)
  4. การตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอจากในโครโมโซมเพศหญิง (X-Chromosome Short Tamdem Repeat Typing)

ประโยชน์ของการตรวจดีเอ็นเอ

นอกจากเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ทางกฎหมายแล้ว การตรวจดีเอ็นเอยังมีประโยชน์ทางสุขภาพอีกหลายด้าน โดยเป็นตัวบ่งบอกถึงความสามารถและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น

  • รู้ความต้องการวิตามินของร่างกายว่า ร่างกายของเรายังขาดสารอาหาร และวิตามินชนิดใด
  • รู้ความไวของร่างกายที่มีต่ออาหารประเภทต่างๆ เช่น สารแลคโตสในนมวัว ไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้อาหาร และภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงได้
  • รู้ความไวของการอิ่มท้อง รวมถึงยีนที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมชอบรับประทานของรสหวาน
  • รู้ความสามารถในการเผาผลาญอาหาร ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
  • สามารถตรวจความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคความดันโลหิต
  • รู้ความเสี่ยงโรคที่ส่งต่อทางพันธุกรรม เพื่อวางแผนการมีบุตร
  • ค้นพบพรสวรรค์ที่ตนเองอาจไม่เคยรู้ เช่น ความสามารถด้านภาษา ทักษะด้านคณิตศาสตร์ ความสามารถด้านดนตรี ความคิดสร้างสรรค์

ความสำคัญของการตรวจดีเอ็นเอ

ความสำคัญของการตรวจดีเอ็นเอโดยหลักๆ ได้แก่

  • เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด เป็นประโยชน์ที่หลายคนคงรู้กันดีจากการตรวจดีเอ็นเอ เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดจากการปฏิสนธิจากอสุจิของพ่อและไข่ของแม่ จึงได้รับสารดีเอ็นเอจากพ่อแม่คนละครึ่ง ดังนั้นการตรวจดีเอ็นเอจึงสามารถพิสูจน์ได้ความเป็นพ่อแม่ลูกได้ และมักใช้ในคดีความเกี่ยวกับครอบครัว การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร
  • เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ของการตรวจดีเอ็นเอที่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่า คุณสามารถนำดีเอ็นเอที่ตรวจไปให้แพทย์ประเมิน และแปลผลว่า ร่างกายมีการทำงานอย่างไร มีการฟื้นฟูจากการเจ็บป่วยได้ดีแค่ไหน มีความเสี่ยงเกิดโรคร้ายแรงที่ส่งต่อทางพันธุกรรมอะไรบ้าง
    นอกจากนี้การตรวจดีเอ็นเอยังช่วยให้ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือต้องการหาแนวทางออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเองเข้าใจถึงระบบเผาผลาญของร่างกายได้ดียิ่งขึ้นด้วย
  • เป็นหลักฐานทางนิติเวชศาสตร์ เพราะดีเอ็นเอของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างแบบเฉพาะตัว จึงสามารถเป็นหลักฐานในการระบุตัวบุคคลที่กระทำผิด เช่น ก่ออาชญากรรม ล่วงละเมิดทางเพศ โดยการเก็บเศษผิวหนัง เส้นผม เส้นขน รวมทั้งคราบอสุจิไปตรวจได้ ในกรณีที่เกิดบุคคลสูญหาย พบศพที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ การตรวจดีเอ็นเอจะสามารถช่วยให้ทางตำรวจสามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ของบุคคล นำไปสู่การสืบค้นต่อไปได้
  • สำหรับติดตามผลการรักษาผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไขกระดูก เพราะการปลูกถ่ายไขกระดูกให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะต้องมาจากผู้ใกล้ชิดทางสายเลือด เพื่อให้ไขกระดูกซึ่งแทนที่เข้าไปสามารถผลิตเม็ดเลือด และเกล็ดเลือดชุดใหม่ให้กับผู้ป่วยได้ เมื่อมีการปลูกถ่ายกระดูกแล้ว ลายพิมพ์ดีเอ็นเอของผู้ป่วยก็จะเปลี่ยนไปจนเหมือนกับผู้ให้ไขกระดูกทุกอย่าง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบันทึกเก็บไว้ เพื่อติดตามความคืบหน้าของการรักษาว่า ประสบความสำเร็จหรือไม่

ขั้นตอนการตรวจดีเอ็นเอ

การตรวจดีเอ็นเอมักจะเกี่ยวข้องกับคดีความ หรือกระบวนการทางกฎหมาย ขั้นตอนการตรวจจึงต้องมีการเตรียมเอกสารให้พร้อม โดยส่วนมากจะมีดังต่อไปนี้

  • บัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง ในกรณีที่ผู้ตรวจ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นชาวต่างชาติ
  • ใบสูติบัตร
  • ทะเบียนบ้าน
  • ใบเปลี่ยนชื่อ หากผู้เข้าตรวจเคยเปลี่ยนชื่อ
  • หนังสือยื่นคำร้องขอให้มีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ
  • ภาพผู้สูญหาย หรือผู้เสียชีวิต กรณีที่ต้องการตรวจดีเอ็นเอเพื่อตามหาบุคคลสูญหาย หรือเพื่อคดีความ

ส่วนขั้นตอนตรวจดีเอ็นเอ ผู้เข้าตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารมาก่อน มีขั้นตอนต่อไปนี้

  • นำใบนัดหมาย หรือติดต่อกับแผนกเวชทะเบียนว่า ต้องการตรวจดีเอ็นเอ
  • ชำระเงินให้เรียบร้อย
  • เข้าพูดคุยกับแพทย์เพื่อซักประวัติสุขภาพ รวมถึงเพื่อให้แพทย์ได้อธิบายเกี่ยวกับการส่งตรวจดีเอ็นเอ และวิธีการแจ้งผล
  • เข้าถ่ายรูปกับพนักงานและพิมพ์รอยนิ้วมือ เพื่อบันทึกหลักฐานยืนยันตัวบุคคล
  • เริ่มดำเนินการตรวจดีเอ็นเอ โดยมักจะเป็นการป้ายเยื่อบุข้างแก้ม แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หรือผู้ตรวจ

สำหรับการตรวจดีเอ็นเอทางนิติเวช หากไม่มีหนังสือยื่นคำร้องจากพนักงาน ทางเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจจะไม่รับตรวจดีเอ็นเอทางเลือด น้ำลาย เส้นผม และวัตถุพยานใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่รับตรวจดีเอ็นเอของทารกที่อยู่ในครรภ์ น้ำคร่ำ หรือเลือดจากสายสะดือด้วย

ราคาการตรวจดีเอ็นเอ

ค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอมีราคาค่อนข้างสูง โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 6,500-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการตรวจ จำนวนกลุ่มยีนที่ใช้ในการตรวจดีเอ็นเอ ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพต่างๆ รวมถึงค่าบริการของสถาบันที่เข้ารับการตรวจด้วย

ชุดตรวจดีเอ็นเอด้วยตนเอง

นอกจากการไปตรวจดีเอ็นเอกับโรงพยาบาล หรือสถาบันนิติเวชแล้ว ปัจจุบันคุณยังสามารถซื้อชุดตรวจดีเอ็นเอมาตรวจด้วยตนเองที่บ้านได้ โดยทำตามขั้นตอนที่ชุดคู่มือตรวจระบุไว้ให้ครบถ้วน

หลังจากนั้นค่อยนำชุดตรวจส่งกลับไปที่บริษัทผู้ขาย เพื่อให้ทางบริษัทออกผลตรวจดีเอ็นเอให้กับคุณ

ก่อนซื้อ ทางบริษัทจะมีการติดต่อขอบันทึกประวัติ และข้อมูลเพื่อระบุตัวตนจากคุณเสียก่อน โดยราคาของชุดตรวจดีเอ็นเอจะอยู่ที่ประมาณ 6,000-9,500 บาท

จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอนั้นค่อนข้างสูง แต่หากจำเป็นต้องตรวจจริงๆ คุณก็สามารถนำคำแนะนำจากบทความนี้ไปเป็นประโยชน์ในกระบวนการตรวจดีเอ็นเอของตนเองได้

ใครที่กำลังมองหาวิธีตรวจสุขภาพอีกรูปแบบและมีงบประมาณมากพอที่จะตรวจดีเอ็นเอได้ บางทีวิธีตรวจนี้ก็เป็นอีกทางเลือกน่าสนใจ ที่คุณจะได้ตรวจดูความแข็งแรงของร่างกาย พรสวรรค์ที่ไม่เคยรู้ รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันของตนเอง เพื่อจะได้รู้วิธีดูแลสุขภาพให้แข็งแรงได้อย่างเหมาะสมต่อไป

หรือหากเป็นคุณพ่อคุณแม่ การลงทุนตรวจดีเอ็นเอเพื่อหาพรสวรรค์และความถนัดของลูกก็อาจเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ เพื่อจะได้สนับสนุนให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เขาถนัดต่อไป และไม่บังคับให้ลูกต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top