vitamin b complex scaled

วิตามินบีรวม (Vitamin B complex)

วิตามินบีรวม จัดอยู่ในกลุ่มวิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ ถึงไม่มีผลในการรักษาโรคโดยตรง แต่ช่วยเสริมวิตามินให้ร่างกายส่งผลให้ลดปัญหาจากโรคบางอย่างอันเนื่องมาจากการขาดวิตามินได้

วิตามินบีรวมชนิดเม็ด ใช้ป้องกันและรักษาอาการขาดวิตามิน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น ริมฝีปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ เบื่ออาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย

องค์ประกอบของวิตามินบีรวม

วิตามินบีรวมแบ่งเป็นหลายชนิดตั้งแต่ B1 ถึง B12 โดยส่วนใหญ่อาจมีเฉพาะตัวที่สำคัญอย่าง B1, B2, B6 หรือ B12 ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจะมีวิตามินบีครบ

วิตามินบีที่สำคัญ แบ่งเป็นดังนี้

  • วิตามินบี 1 หรือไธอะมีน (Thiamine)
  • วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin)
  • วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin)
  • วิตามินบี 5 หรือกรดแพนโทเธนิก (Pantothenic acid)
  • วิตามินบี 6 หรือไพริดอกซีน (Pyridoxine)
  • วิตามินบี 7 หรือไบโอติน (Biotin)
  • วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก (Folic acid)
  • วิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin)

ประโยชน์ของวิตามินบีแต่ละชนิด

องค์ประกอบของวิตามินมีโครงสร้างเฉพาะตัว และวิตามินบีทำหน้าที่แตกต่างกันต่อร่างกาย ดังนี้

Thiamine (Vitamin B1)

  • เป็นโคเอนไซม์ของร่างกาย
  • ใช้สำหรับภาวะ Korsakoff’s psychosis ซึ่งเป็นอาการทางจิตประสาทจากพิษสุราเรื้อรัง และกลุ่มอาการ Wernicke–Korsakoff syndrome
  • ผู้ป่วยภาวะเพ้อ (Delirium)
  • ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบ

Riboflavin (Vitamin B2)

Niacin (Vitamin B3)

  • เป็นสารตั้งต้นของ NAD และ NADP ที่ใช้ในกระบวนการถ่ายทอดพลังงานภายในเซลล์
  • ใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยาลดไขมันในผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงชิดที่ 4 และ 5

Pantothenic acid (Vitamin B5)

  • เป็นสารตั้งต้นของโคเอนไซม์ ชนิด A ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแมทาบอลิซึมคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน
  • มีข้อมูลการรักษาในหลายโรค เช่น ภาวะอัณฑะบิดขั้ว แผลเบาหวาน ช่วยรักษาแผล สิว ผู้ป่วยโรคอ้วน อาการปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • มีการศึกษาถึงคุณสมบัติการลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอล

Pyridoxine (Vitamin B6)

  • Pyridoxal 5’-phosphate เป็นโครงสร้างออกฤทธิ์ของไพริดอกซีน ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในกระบวนการแมทาบอลิซึมกรดอะมิโน กลูโคส และไขมัน
  • ใช้สำหรับภาวะขาดวิตามินบี 6
  • ใช้ป้องกันภาวะปลายประสาทอักเสบจากการใช้ยา Isoniazid

Biotin (Vitamin B7)

  • เป็นโคแฟกเตอร์ ทำงานร่วมกับเอนไซม์ในกระบวนการแมทาบอลิซึม และควบคุมการแสดงออกของยีน
  • ใช้ในผู้ป่วยภาวะขาดไบโอติน มีการอาการแสดง เช่น ผมร่วง ผิวหนังอักเสบ และอาการทางระบบประสาท
  • ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการใช้ไบโอตินเพื่อบำรุงเส้นผม

Folic acid (Vitamin B9)

  • โฟเลท (Folate) เป็นโครงสร้างออกฤทธิ์ของกรดโฟลิก เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ DNA และกระบวนการแมทาบอลิซึมของ DNA
  • ใช้ในผู้ป่วยภาวะขาดกรดโฟลิก ภาวะโลหิตจางชนิดที่เซลล์เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ (Megaloblastic anemia) และโรคโลหิตจางจากการขาดสารอาหาร
  • ใช้ป้องกันการขาดในสตรีมีครรภ์ และในเด็ก

Cobalamin (Vitamin B12)

  • เป็นโคแฟกเตอร์ ทำงานร่วมกับเอนไซม์เมไทโอนีนซินเทส (Methionine synthase) มีบทบาทในการสังคราะห์เมไธโอนิน (Methionine) ซึ่งจำเป็นในกระบวนการสังเคราะห์ DNA RNA และโปรตีน
  • ใช้ในผู้ป่วยขาดวิตามินบี 12 ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความจำ โรคอัลไซเมอร์
  • ใช้กระตุ้นอารมณ์ กระตุ้นพลังงาน ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย จึงพบการเติมโคบาลามีนในเครื่องดื่มชูกำลังมีการ
  • ใช้ในโรคหัวใจ โรคไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท กระดูกพรุน และโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน

วิตามินบีรวมจัดอยู่ในกลุ่มยาทั่วไป ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติด ยาควบคุมพิเศษ หรือยาอันตราย สำหรับบุคคลทั่วไปเภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ รูปแบบยาที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่

  • วางจำหน่ายในรูปของยาเม็ดวิตามินบีรวม (Vitamin B complex) ชนิดรับประทาน
  • วางจำหน่ายในรูปของยาเม็ดวิตามินรวม ร่วมกับวิตามินอื่น (Multivitamin) ชนิดรับประทาน

ข้อบ่งใช้ของวิตามินบีรวม (Vitamin B complex)

ใช้ป้องกันการขาดวิตามินบี หรือป้องกันการขาดวิตามินบี

ขนาดและวิธีการใช้วิตามินบีรวม (Vitamin B complex)

วิตามินบีรวม มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • เนื่องจากวิตามินบีรวมในแต่ละยี่ห้อ มีปริมาณของวิตามินบีแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน แนะนำให้รับประทานตามคำแนะนำ ผู้และวิธีใช้บนฉลาก
  • สามารถสังเกตจากปริมาณของวิตามินบีแต่ละชนิดบนฉลาก โดยอาจแสดงปริมาณตัวเลข หรือ % RDI (ร้อยละของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน)

ปริมาณที่ควรได้รับต่อวันในชาวไทย (Recommended Daily Intakes; Thai RDI)

โดยปริมาณวิตามินบีแต่ละชนิดที่ร่างกายต้องการต่อวัน เป็นไปดังนี้

  • Thiamine (Vitamin B1) 1.5 มิลลิกรัม (mg)
  • Riboflavin (Vitamin B2) 1.7 มิลลิกรัม (mg)
  • Niacin (Vitamin B3) 20 มิลลิกรัมเทียบเท่าของ niacin (mg NE)
  • Pantothenic acid (Vitamin B5) 6 มิลลิกรัม (mg)
  • Pyridoxine (Vitamin B6) 2 มิลลิกรัม (mg)
  • Biotin (Vitamin B7) 150 ไมโครกรัม (mcg)
  • Folic acid (Vitamin B9) 200 ไมโครกรัม (mcg)
  • Cobalamin (Vitamin B12) 2 ไมโครกรัม (mcg)

หมายเหตุ ปริมาณที่ระบุเป็นปริมาณที่ควรได้รับในชาวไทย กลุ่มบุคคลทั่วไป

ข้อควรระวังในการใช้วิตามินบีรวม

ข้อควรระวังที่ควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนกิน อาจมีดังต่อไปนี้

  • วิตามิน บี 1 ควรระวังการเกิดการแพ้ยา
  • วิตามินบี 3 ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกาท์ โรคตับ โรคถุงน้ำดี หรือแผลในกระเพาะอาหาร
  • วิตามิน บี 6 ควรระวังการใช้ในผู้ที่ใช้ยา Levodopa หรือ Phenytoin

ผลข้างเคียงของการใช้วิตามินบีรวม ได้แก่

หากใครกินวิตามินบีรวมแล้วมีอาการดังนี้ อาจลองปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

  • วิตามินบีรวมมีผลข้างเคียงต่ำ หากปริมาณที่ใช้ไม่เกินกว่าปริมาณ RDI
  • อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

ข้อควรทราบอื่นๆ เกี่ยวกับวิตามินบีรวม (Vitamin B complex)

ข้อควรทราบอื่นๆ มีดังนี้

  • ยานี้ยังไม่ถูกจัดกลุ่มตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ในหญิงมีครรภ์ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  • ยาสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ในกรณีรับประทานก่อนอาหารแล้วเกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แนะนำให้รับประทานหลังอาหาร
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง

การรับประทานวิตามินเสริม เป็นอีกตัวเลือกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างไรก็ตาม คุณก็ยังต้องรับประทานอาหารให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้ครบถ้วนด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD

Scroll to Top