เบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย แต่ควบคุมโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองให้แข็งแรง และฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือหากเป็นแล้ว ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรค มาดูกันว่าจะมีวัคซีนอะไรที่จำเป็นต่อผู้ป่วยเบาหวานบ้าง
สารบัญ
ทำไมผู้ป่วยเบาหวานควรฉีดวัคซีน
ตามจริงเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายไม่ผลิตหรือผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่ใช้ในการเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานได้ไม่เพียงพอ ร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลานาน
ซึ่งระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นนี้ส่งผลให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวหรือระบบภูมิคุ้มกันลดลง จึงเกิดการติดเชื้อรุนแรงภายในร่างกายได้ง่าย อาการป่วยหายช้าลง มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน และเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าเมื่อเทียบกับคนสุขภาพทั่วไป
และเมื่อเกิดการติดเชื้อในร่างกายแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะยิ่งแปรปรวน ควบคุมได้ยาก ส่งผลให้อาการเบาหวานกำเริบหรือรุนแรงยิ่งขึ้น
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และยังลดความรุนแรงของอาการหลังจากติดเชื้อต่าง ๆ ได้ด้วย
วัคซีนที่ผู้ป่วยเบาหวานควรฉีด มีอะไรบ้าง
วัคซีนจำเป็นและทางเลือกที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานฉีดเพื่อเสริมภูมิร่างกายจะมีดังนี้
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu shot)
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคตามฤดูกาลที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีไข้สูง ตัวสั่น ไอ จาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ หรือปวดตามตัว
แต่ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการที่รุนแรงมาก แถมยังเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดติดเชื้อ หูอักเสบ และการเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ
ผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงคนในครอบครัวที่มีสุขภาพดี อายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 เข็ม เป็นประจำทุกปี ในช่วงก่อนหน้าฝนและหน้าหนาว หรือประมาณเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่พบการระบาดได้บ่อย
เปรียบเทียบราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จากรพ. และคลินิกใกล้คุณ
2. วัคซีนโควิด-19 (Covid-19 vaccine)
อีกหนึ่งโรคติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อปอดและระบบอวัยวะอื่น ๆ อย่างโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 มีต้นเหตุมาจากเชื้อ SARS-CoV-2 ก่อให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก มีไข้สูง สูญเสียประสาทรับรสหรือรับกลิ่น
โควิด-19 อาจเพิ่มโอกาสของภาวะแทรกซ้อนและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในกลุ่ม 608 หรือคือ กลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป และคนที่มีกลุ่มโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคอ้วน
- โรคมะเร็ง
- โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง โดยเฉพาะหากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือแม้กระทั่งหลังการติดเชื้อแล้วก็ตาม
ปัจจุบันตามแนวทางของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นประจำทุกปี ปีละ 1 เข็ม และสามารถฉีดพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย ตามคำแนะนำแพทย์
3. วัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine)
โรคไอพีดี (Invasive pneumococcal disease: IPD) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกกันว่า นิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) สายพันธุ์ต่าง ๆ ในร่างกาย
ถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดปอดอักเสบ (Pneumonia) รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โดยอาการแสดงจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับระบบอวัยวะที่ติดเชื้อ
ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับเชื้อชนิดนี้จะเสี่ยงติดเชื้อที่ปอดได้บ่อย และเสี่ยงเสียชีวิตได้กว่า 50% จึงควรฉีดวัคซีนปอดอักเสบตามที่แพทย์เห็นสมควร โดยมีให้เลือก 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV-13) และชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV-23)
แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนปอดอักเสบทั้ง 2 ชนิด โดยเว้นระยะการฉีดวัคซีนแต่ละชนิด 1 ปี และอาจฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม
เปรียบเทียบราคาวัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ (PCV-13) และ ชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV-23) จากรพ. และคลินิกใกล้คุณ
4. วัคซีนงูสวัด (Shingles vaccine)
งูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Zoster Virus) เชื้อชนิดเดียวกันที่ก่อโรคอีสุกอีใส หลายคนจึงมักมีเชื้อชนิดนี้ฝังอยู่ในเส้นประสาท
ถ้าเกิดผู้ป่วยเบาหวานเป็นโรคงูสวัดมักจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป เช่น ผื่นและตุ่มน้ำใสที่รุนแรงบริเวณใบหน้า ลำตัว หรือแขนขา มีแผลหายช้า ปลายประสาทอักเสบ และปวดที่ผื่นได้นานหลายปี
วัคซีนงูสวัดจะช่วยลดความรุนแรงของผื่นงูสวัด ลดอาการปวด ช่วยให้แผลหายเร็ว ไม่กลับมาเป็นซ้ำบ่อย ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันยาวนานตลอดชีวิต การฉีดวัคซีนงูสวัดเพียง 1 เข็ม จะช่วยป้องกันได้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะคนอายุมากกว่า 60 ปี
เปรียบเทียบราคาวัคซีนงูสวัด จากรพ. และคลินิกใกล้คุณ
5. วัคซีนคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก (Tdap vaccine)
คอตีบ ไอกรน และบาดทะยักเป็น 3 โรคการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยคอตีบและไอกรนจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอและปัญหาในการหายใจ ส่วนบาดทะยักจะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก คอแข็ง หรือชัก
แม้ในประเทศไทยจะกำหนดให้วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยักเข็มรวม เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ฉีดให้เด็กทุกคน บางคนอาจพลาดการฉีด ฉีดไม่ครบ หรือฉีดแล้วแต่ประสิทธิภาพในการป้องกันลดลงตามกาลเวลา
แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยักทุก 10 ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง
เปรียบเทียบราคาวัคซีนคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก จากรพ. และคลินิกใกล้คุณ
6. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)
ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) นั้นเป็นบ่อเกิดของตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ จึงไม่รู้ว่ามีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่บางรายอาจอ่อนเพลีย จุกใต้ชายโครง ปวดกล้ามเนื้อ หรือตาเหลือง ตัวเหลือง
ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานจะมีแนวโน้มติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง เสี่ยงต่อตับอักเสบ ตับวาย และมะเร็งตับมากกว่าถึง 20 เท่า จึงแนะนำให้ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจำนวน 3 เข็ม ส่วนผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด
เปรียบเทียบราคาวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี จากรพ. และคลินิกใกล้คุณ
นอกจากเหนือจากวัคซีนที่ยกมา ยังมีวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานฉีดด้วยหากเห็นสมควร เช่น วัคซีนป้องกันไวรัส RSV วัคซีนโปลิโอ และวัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR)
เนื่องจากวัคซีนบางชนิดอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเปรียบเทียบความจำเป็นและประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดก่อนเสมอ
เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปฉีดวัคซีน
การเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแทบไม่ต่างจากคนสุขภาพดีทั่วไป เบื้องต้นควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารและยาได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ชา กาแฟก่อนฉีดวัคซีน
ก่อนการฉีดวัคซีนผู้ป่วยควรแจ้งประวัติสุขภาพทั้งหมดและยาที่กำลังใช้ให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนเสมอ กรณีมีไข้หรืออาการป่วยฉับพลันในวันนัดหมายฉีดวัคซีน ควรเลื่อนไปก่อนจนกว่าจะหายดี ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความกังวลใจหรือสงสัยในการฉีดวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีด
ผู้ป่วยอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังการฉีดวัคซีน จึงควรตรวจวัดระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้วในช่วง 48 ชั่วโมงอยู่เสมอ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ทานยาหรือฉีดอินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด
ปกติแล้ว วัคซีนที่จำเป็นในผู้ป่วยเบาหวานนั้นปลอดภัย แต่บางรายก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ ส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อย เช่น ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ หรือมีไข้ต่ำ ๆ ไม่นานก็หายดี กรณีที่อาการเหล่านี้ยังคงอยู่หรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
เปรียบเทียบราคาแพ็คเกจ ตรวจคัดกรองเบาหวาน จากรพ. และคลินิกใกล้บ้าน ที่ HDmall.co.th รวมแพ็กเกจราคาพิเศษ พร้อมแอดมินช่วยเหลือ!