“เกล็ดเลือด” คือเซลล์ที่สร้างจากไขกระดูกและไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด มีหน้าที่สำคัญในการห้ามเลือดเมื่อร่างกายเกิดบาดแผล
การที่ร่างกายเกิด “ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)” ไม่ว่าจะด้วยจากสาเหตุใดก็ตาม ผลที่ตามมาคือ เมื่อร่างกายเกิดบาดผล จะทำให้มีเลือดออกได้ง่าย และหยุดไหลช้า รวมถึงอาจมีเลือดออกตามเยื่อบุอวัยวะ หรือเลือดออกในสมอง ทำให้ร่างกายเสียเลือดมาก และอันตรายถึงชีวิตได้
สารบัญ
ระดับเกล็ดเลือดที่เหมาะสมในคนทั่วไป
ปกติแล้ว คนเราจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 150,000–450,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
อาการของคนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
คนที่เกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ถ้าเกล็ดเลือดต่ำลงมาก ๆ ร่างกายจะเริ่มจะแสดงสัญญาณให้เห็น เช่น
- มีจุดเลือดเล็ก ๆ สีแดงกระจายอยู่ใต้ผิวหนัง
- เกิดรอยฟกช้ำตามร่างกายได้ง่าย
- เมื่อเกิดบาดแผล เลือดจะออกเยอะ และหยุดไหลช้า แม้จะเป็นแผลเล็กก็ตาม
- มีเลือดออกที่จมูกและในปาก
- สำหรับผู้หญิง อาจมีประจำเดือนมากผิดปกติ
- ถ้าเกล็ดเลือดต่ำมาก ๆ อาจมีเลือดออกที่อวัยวะภายในได้ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือสมอง และยังส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลงมาก จนอาจช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิตได้
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากอะไร
สาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แบ่งออกเป็น 2 ข้อหลัก ๆ ได้แก่ มีการใช้หรือทำลายเกล็ดเลือดในร่างกายมากกว่าปกติ และอีกข้อคือ ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้ต่ำลง
1. มีการใช้ หรือทำลายเกล็ดเลือดมากกว่าปกติ
- ภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ หรือที่เรียกว่า “โรคภูมิแพ้ตัวเอง” ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ควรจะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม กลับมาทำลายเซลล์ในร่างกายตัวเอง ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายไปด้วย
- เป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น
-
- ยาเฮพาริน (Heparin) มีฤทธิ์ต่อต้านการแข็งตัวของเลือด มักใช้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ยาควินิน (Quinine) เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย
- ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ใช้รักษาวัณโรค
-
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ไวรัส CMV”
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางตัว
- การตั้งครรภ์ โดยผู้หญิงประมาณร้อยละ 5 จะพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
- การผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ ทำให้เกล็ดเลือดปริมาณมากถูกใช้ไปในการสมานแผล
- ภาวะ Thrombotic thrombocytopenic purpura หรือที่เรียกว่า “โรค TTP” ทำให้ลิ่มเลือดอุดตันทั่วร่างกาย ร่วมกับมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ อาจมีอาการทางไตและสมองร่วมด้วยได้
2. ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้ต่ำลง
- เป็นโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) ทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้ไม่มากพอ รวมถึงเกล็ดเลือดด้วย
- การฉายรังสี และการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
- การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน และสารกำจัดศัตรูพืช มีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดในไขกระดูก
- เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทำให้ไขกระดูกและสเต็มเซลล์ (Stem cell) ของเกล็ดเลือดถูกทำลาย
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr Virus: EBV) และพาโวไวรัส (Parvovirus)
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) มีผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด และยาแอสไพริน (Aspirin) ทำให้เกล็ดเลือดทำงานได้ลดลง
- ขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 โฟเลต และธาตุเหล็ก
การรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
ถ้าภาวะเกล็ดเลือดต่ำไม่ได้รุนแรงมาก และเกิดจากสาเหตุชั่วคราวที่หายได้เอง อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแค่ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ปริมาณเกล็ดเลือดก็จะกลับมาเป็นปกติ
แต่ถ้ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง จะต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน มีแนวทางคร่าว ๆ ดังนี้
- รักษาโดยการใช้ยา เช่น
-
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ชนิดกินและฉีด เพื่อป้องกันการทำลายเกล็ดเลือด
- ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง อาจต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) และริทูซิแมบ (Rituximab) เพื่อยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้วย
- ยาเอลทรอมโบแพค (Eltrombopag) ฉีดเพื่อกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเสตียรอยด์ อิมมูโนโกลบูลิน หรือในรายที่ต้องตัดม้าม
-
- ถ้ามีเกล็ดเลือดต่ำมาก ๆ หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเรื้อรัง จะต้องรักษาโดยการให้เกล็ดเลือด
- ถ้าร่างกายปิดปกติ ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายไปมาก อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดม้าม เพื่อยับยั้งการทำลายเกล็ดเลือด โดยหลังผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ร่างกายอ่อนแอ ติดได้เชื้อง่ายขึ้น จึงต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
วิธีป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ควรปรึกษาหมอหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาต่าง ๆ และไม่ควรกินยาที่ส่งผลต่อเกล็ดเลือดโดยไม่จำเป็น
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ เพราะเป็นสาเหตุให้เกล็ดเลือดต่ำได้ เช่น โรคไข้เลือดออก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน
เกล็ดเลือดต่ำ ควรกินอะไร
หลัก ๆ ควรกินผักสด ผลไม้ อาหารไม่แปรรูป เนื้อสัตว์ ธัญพืช และนม
รวมถึงอาหารหลักหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบเหล่านี้ เพื่อให้บำรุงเลือด
- วิตามินบี 9 หรือโฟเลต (Folate)
- วิตามินบี 12
- ธาตุเหล็ก
- วิตามินซี
- วิตามินเค
เกล็ดเลือดต่ำ ห้ามกินอะไร
ควรเลี่ยงอาหารบางประเภทที่ส่งผลต่อเกล็ดเลือด เช่น
- อาหารที่มีความเข้มข้นสูง เช่น องุ่นแดง บลูเบอร์รี่ กระเทียม หัวหอม ขิง ซึ่งอาจส่งผลต่อเกล็ดเลือดได้
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์สูง
- เนื้อแปรรูป
- ธัญพืชที่มีน้ำตาลสูงเกินไป
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ควรงดหรือลดปริมาณในการดื่มลง