ภาวะความดันโลหิตต่ำ (Low Blood Pressure หรือ Hypotension) คือ ภาวะที่ความดันของหลอดเลือดแดงตกลงจนมีค่าต่ำอย่างผิดปกติ ซึ่งภาวะความดันโลหิตต่ำในผู้ใหญ่จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 90/60 mmHg หรือน้อยกว่า
สารบัญ
อาการจากภาวะความดันต่ำ
ภาวะความดันต่ำไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงเสมอไป แต่ถ้าภาวะนี้อาจทำให้เลือดส่งผ่านไปยังสมองและอวัยวะสำคัญต่างๆ ไม่เพียงพอได้ ซึ่งก็อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ตามมา
- วิงเวียน
- หมดสติ
- หน้ามืด
- การมองเห็นไม่ชัดเจน
- ใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว หรือไม่สม่ำเสมอ)
- สับสน
- คลื่นไส้
- อ่อนแรง
กลุ่มอาการที่ทำให้เกิดภาวะความดันต่ำแบบเฉียบพลัน
- ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน (Postural Hypotension หรือ Orthostatic Hypotension) เกิดขึ้นเมื่อความดันโลหิตตกลงหลังจากการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น ลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง ภาวะนี้จะทำให้ทรงตัวไม่อยู่และล้มลงได้ บางคนอาจมีอาการหน้ามืด มองเห็นไม่ชัดเจน และหมดสติได้
- ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Vagovagal Hypotension) เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติชนิดพาราซิมพาเทอะติก (Parasympathetic) ทำงานผิดปกติ ทำให้ความดันโลหิตตก จนทำให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด และหมดสติได้
- ภาวะความดันโลหิตต่ำภายหลังรับประทานอาหาร (Postprandial Hypotension) มักจะเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเกิดจากลำไส้ต้องการเลือดปริมาณมากในการย่อยอาหาร ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจต้องมากขึ้นตาม หากหลอดเลือดไม่สามารถบีบรัดตัวได้ดีพอจะทำให้ความดันโลหิตตก จนทำให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด และหมดสติได้
สาเหตุของภาวะความดันต่ำ
มีปัจจัยมากมายที่สามารถส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต และอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ดังนี้
- การนอนหลับ ความดันโลหิตจะตกลงเมื่อนอนหลับ ดังนั้นจึงอาจพบภาวะความดันโลหิตต่ำในตอนเช้าหลังตื่นนอน
- อายุ ความดันโลหิตจะมีค่าสูงขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือจากการเปลี่ยนท่าก็เกิดได้ง่ายขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นเช่นกัน
- การออกกำลังกาย ในช่วงแรกการออกกำลังกายอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น แต่หากมีสุขภาพดีและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงขณะที่หยุดพัก
- อุณหภูมิ หากรู้สึกหนาว หัวใจจะเต้นช้าลง และทำให้ความดันโลหิตตกลง
หากภาวะความดันโลหิตต่ำนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยข้างต้น อาจเป็นไปได้ว่า มีสาเหตุจากภาวะทางการแพทย์ดังต่อไปนี้
- การใช้ยา ยาบางตัวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ ภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น
- Beta-Blockers ยาสำหรับปัญหาที่หัวใจ หรือภาวะความดันโลหิตสูง
- Alpha-Blockers ยาสำหรับลดระดับความดันโลหิตของผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงบางราย
- ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) บางชนิด
- โรคทางระบบประสาทอิสระ (Autonomic disorder) ระบบประสาทอิสระคือ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ เช่น การย่อยอาหาร การเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ควบคุมการบีบและขยายออกของหลอดเลือดอีกด้วย หากเกิดปัญหาขึ้นกับระบบนี้จะทำให้หลอดเลือดเปิดออกกว้างเกินไปจนทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ตัวอย่างของภาวะระบบประสาทเสรีผิดปกติ มีดังนี้
- โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
- โรค Multiple System Atrophy
- ต่อมหมวกไต หากต่อมหมวกไตได้รับความเสียหาย จะทำให้ฮอร์โมน Aldosterone มีปริมาณลดลงจนทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือ และทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำได้
- ภาวะช็อกและการบาดเจ็บร้ายแรง ภาวะความดันโลหิตต่ำสามารถเกิดจากแผลไหม้ หรือการบาดเจ็บร้ายแรงได้ โดยเฉพาะหากผู้บาดเจ็บสูญเสียเลือดปริมาณมากด้วย ส่วนภาวะช็อกมีอยู่หลายประเภท ดังนี้
- ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock) กับอาการทอกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เข้าจู่โจมผนังของหลอดเลือดขนาดเล็กต่าง ๆ จนทำให้ของเหลวจากเลือดไหลออกไปสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียง ทำให้ความดันโลหิตตกลงอย่างรุนแรง
- ภาวะช็อกจากการแพ้รุนแรง (Anaphylactic shock หรือ Anaphylaxis) เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้บางสิ่งบางอย่าง เช่น แพ้เหล็กในผึ้งหรือแพ้ถั่วลิสง ระหว่างที่มีปฏิกิริยาแพ้เกิดขึ้นร่างกายจะผลิตสารเคมีที่เรียกว่า “ฮิสตามีน (histamine)” ออกมาปริมาณมาก ซึ่งสารตัวนี้จะทำให้หลอดเลือดขยายตัวออกจนทำให้ความดันโลหิตตกลงอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน
- ภาวะช็อกจากหัวใจ (Cardiogenic Shock) เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอจนทำให้ความดันโลหิตตกลง ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างที่มีภาวะหัวใจวาย (Heart Attack)
การวินิจฉัยภาวะความดันต่ำ
แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตต่ำได้ง่ายๆ ด้วยการวัดความดันโลหิตของผู้เข้ารับการตรวจ โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “Sphygmomanometer” ในการวัดความดันโลหิต
ในผู้ใหญ่ ภาวะความดันโลหิตต่ำจะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 90/60 mmHg หรือน้อยกว่านั้น
วิธีแก้ไขภาวะความดันต่ำ
หากมีภาวะความดันโลหิตต่ำแต่ไม่มีอาการใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง เช่น ใจสั่น หน้ามืด หมดสติ แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุที่เกิด
การป้องกันภาวะความดันต่ำด้วยตัวเอง
วิธีต่อไปนี้สามารถป้องกันการเกิดอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำลงได้ โดยเฉพาะอาการที่เกิดจากภาวะความดันโลหิตต่ำขณะลุกขึ้นยืน
- ค่อยๆ ลุกขึ้นยืน โดยเฉพาะก่อนลุกจากเตียงในตอนเช้า
- ยกศีรษะให้สูงขณะนอนหลับบนเตียง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย และช่วยให้ลุกจากเตียงได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนตอนกลางคืน
- จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์เพื่อเลี่ยงภาวะขาดน้ำที่อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
- รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งแทนการรับประทานมื้อใหญ่ๆ เพื่อช่วยป้องกันการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำภายหลังรับประทานอาหาร
- การนอนลง หรือนั่งนิ่งๆ หลังรับประทานอาหารก็สามารถลดโอกาสเกิดภาวะนี้ได้
ภาวะความดันโลหิตต่ำแม้ไม่อันตรายเท่าชีวิตมากเท่ากับภาวะความดันโลหิตสูง แต่ก็อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย