จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า กว่า 50% ของครัวเรือนมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน และสำหรับบางบ้านสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจใกล้ชิดกับคนเสียจนนับเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัวด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงอาจมีเชื้อโรคบางอย่างซ่อนอยู่และสามารถติดต่อสู่คนผ่านทาง สารคัดหลั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ หรือน้ำลายของสัตว์เลี้ยง หรืออาจมีสิ่งสกปรกที่ติดมากับตัวสัตว์เลี้ยง เช่น ดิน น้ำ เป็นต้น
โรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ใช้เวลาคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเป็นเวลานาน ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง เด็กเล็ก คนแก่ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเป็นโรคประจำตัวบางอย่าง หรือหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสที่จะติดโรคจากสัตว์เลี้ยงได้ง่ายขึ้น
สารบัญ
โรคที่เกิดจากปรสิตจากสัตว์เลี้ยง
หมัด (Fleas)
หมัด เป็นแมลงไม่มีปีก จากรายงานทางชีววิทยาปัจจุบันพบหมัดมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ สายพันธุ์หมัดที่มักอยู่ตามตัวสุนัขและแมวมีประมาณ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Ctenocephalides felis, C. canis, Pulex spp. และ Echnidnophaga gallinacean ไข่ที่ตัวหมัดวางไว้สามารถตรวจพบได้ตามบริเวณที่สัตว์เลี้ยงนอน ตัวของหมัดเองจะทำให้สัตว์คันมากหลังจากการเกาที่รุนแรงอาจทำให้เกิดขนร่วงเฉพาะจุดที่เกาได้หมัดจะระบาดมากในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นตามแนวเส้นศูนย์สูตร เช่น ประเทศไทย เนื่องจากเป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของหมัด หมัดสามารถติดต่อไปยังสัตว์เลือดอุ่นได้ทุกชนิดรวมถึงคน เมื่อคนติดหมัดจากสุนัขหรือแมว จะพบอาการคันเป็นอาการเด่น พบว่าเด็กเล็กเป็นกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดหมัดมากที่สุด เนื่องจากเด็กเล็กจะเคลื่อนที่โดยการคลาน ทำให้มีพื้นผิวสัมผัสกับไข่หมัดหรือตัวหมัดมากขึ้น นอกจากอาการคันแล้ว ตัวหมัดเองยังเป็นพาหะของโรคอื่นๆ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนผ่านทางการกัดของหมัด
เห็บ (Ticks)
เห็บ เป็นแมลงชนิดหนึ่ง แบ่งเป็น Argasid (soft ticks) และ Ixodid (hard ticks) สามารถพบได้ทั่วโลก เห็บติดต่อได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด สามารถติดต่อมาสู่คนได้จากการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีตัวเห็บอยู่โดยตรง หรือการสัมผัสบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่ เมื่อคนติดเห็บแล้วจะมีอาการเริ่มจากคันมาก เจ็บ และระคายเคืองบริเวณที่โดนกัดจากอาการแพ้ หลังจากนั้นจะกลายเป็นแผล และกลายเป็นตุ่มนูนจากชั้นหนังแท้ในที่สุด
อาการสามารถอยู่ได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับการแพ้ในแต่ละบุคคล นอกจากอาการดังกล่าว ตัวเห็บเองยังเป็นพาหะของโรคอื่นๆ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนผ่านทางการกัดของเห็บได้อีกด้วย
ปรสิตขนาดเล็กอื่นๆ (Mites)
ปรสิตขนาดเล็กอื่นๆ เช่น Otodectes cynotis (มักอาศัยตามหูของสัตว์เลี้ยง), Sarcoptes scabiei (หิดสุนัข โดยจะขุดผิวหนังเป็นโพรงและอาศัยในชั้นหนังกำพร้าของสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ), Cheyletiella spp. (อาการคันระคายเคืองไม่รุนแรงมาก) และ Demodex spp. เป็นต้น ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วโลก มักพบในลูกสุนัขหรือลูกแมว สามารถติดต่อสู่คนได้ค่อนข้างง่ายผ่านทางการสัมผัส กอด หรือนอนกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้ออยู่ เป็นต้น โดยมีตุ่มแดงบริเวณผิวหนัง ร่วมกับอาการคันระคายเคือง เป็นอาการที่พบได้บ่อยหลังติดเชื้อ
ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว การกัดของหมัดและเห็บนอกจากจะทำให้มีอาการทางผิวหนัง แมลงเหล่านี้ยังเป็นพาหะของเชื้อโรคอื่นๆ ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- Rickettsia rickettsia ทำให้เกิดโรค Rocky mountain spotted fever
- Ehrlichia spp., Coxiella burnetii ทำให้เกิดโรค Query fever หรือ Q fever
- Borrelia burgdorferi ทำให้เกิดโรค Lyme disease
- Rickettsia typhi ทำให้เกิดโรค Typhus
- Bartonella henselae ทำให้เกิดโรค Cat-scratch disease
- Yersinia pestis
- Dipylidium caninum เป็นพยาธิตืดสุนัขหรือตืดแมว ทำให้เกิดโรค Dipyliadiasis
อาการของโรคที่กล่าวมาในข้างต้นส่วนใหญ่จะมีไข้ และตัวเชื้อมีผลต่ออวัยวะหลายระบบ แล้วแต่ชนิดเชื้อก่อโรค การวินิจฉัยการติดเชื้อดังกล่าวต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ดูปฏิกิริยาการติดสารเรืองแสงของเชื้อ (immunofluorescent) หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมของตัวเชื้อด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) เป็นต้น อย่างไรก็ตามโรคที่กล่าวมาส่วนใหญ่ไม่พบในประเทศไทยแต่ก็มีบางโรคที่สามารถพบได้ในประเทศไทย เช่น Rickettsia typhi หรือ Dipylidium caninum เป็นต้น
โรคติดเชื้ออื่นๆที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง
โรคกลาก (Dermatophyte infection)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งประกอบด้วย Microsporum spp., Trichophyton spp. และ Epidermophyton spp. เชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คน จากสัตว์สู่คน เช่น สุนัขหรือแมว หรือจากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน (โดยอาจปนเปื้อนมาจากผิวหนัง ขน อุ้งเท้า หรือกรงเล็บของสุนัขหรือแมวก็ได้) สู่คนโดยผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรง โดยส่วนใหญ่เชื้อรามักชอบสิ่งแวดล้อมร้อนชื้นจึงทำให้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตมรสุมโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน โดยเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบบ่อย ได้แก่ Microsporum canis, Microsporum gypseum และ Trichophyton mentagrophytesเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากสามารถติดได้ตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ตัวหรือแขนขา (Tinea corporis) ศีรษะ (Tinea capitis) เล็บ (Tinea unguium) เท้า (Tinea pedis) มือ (Tinea manuum) ง่ามขา (Tinea cruris) และหน้า (Tinea faciei) โดยเชื้อกลากที่ก่อโรคบริเวณผิวหนังจะมีรอยโรคเป็นวง ขอบวงแดงมีลักษณะอักเสบ ตรงกลางวงมีสีแดงหรืออาจสีคล้ายผิวหนังปกติ มีขุยสีขาวเล็กๆ กระจายทั่วผืนของรอยโรค มีอาการคัน หากปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาล่าช้าผื่นดังกล่าวจะขยายตัวออกและอักเสบมากยิ่งขึ้น
หากเชื้อกลากก่อโรคบริเวณศีรษะ สามารถมาได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นผื่นวงคล้ายที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดงคันมีขุยสีขาว หรือแม้แต่มีลักษณะคล้ายก้อนนูนอักเสบมีหนอง โดยเชื้อกลากบริเวณศีรษะมักพบร่วมกับผมร่วงและเส้นผมหัก พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเชื้อกลากที่ก่อโรคบริเวณเล็บสามารถมาได้หลายรูปแบบเช่นกัน โดยมักพบแผ่นเล็บหนาตัวขึ้น มีการเสียรูป ผิวเล็บด้านบนมีลักษณะขรุขระหรือเป็นขุยขาว ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเชื้อก่อโรคและลักษณะการติดโรค
อย่างไรก็ตาม เชื้อกลากที่ติดต่อมาจากสัตว์จะแสดงอาการรุนแรงที่สุดในบรรดาการติดต่อทั้งหมด โดยทั่วไปเชื้อกลากสามารถตรวจพบด้วยขูดผิวหนังที่มีรอยโรคและย้อมเชื้อทางห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามในโรคกลากบางตำแหน่งมีความจำเป็นต้องส่งเพาะเชื้อเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป
โรคเกลื้อน (Malassezia dermatitis)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา Malassezia spp. สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้ออยู่ เชื้อราดังกล่าวมักเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีไขมันเยอะ เช่น หน้า ศีรษะ ไรผม คอ หน้าอก และหลังส่วนบน เป็นต้น โดยทั่วไปโรคเกลื้อนจะมีลักษณะเป็นผื่นเรียบขนาดเล็กหลายสี ในคนไทยมักพบสีขาว แต่อาจพบสีน้ำตาลหรือสีอื่นๆ ได้ ผื่นขอบเขตชัดเจน มีขุยบางๆ สีขาวเล็กน้อยบริเวณผื่น ไม่ค่อยมีอาการคัน เชื้อเกลื้อนสามารถตรวจพบด้วยขูดผิวหนังที่มีรอยโรคและย้อมเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การรักษาสามารถทำได้ด้วยการทายาฆ่าเชื้อรา อย่างไรก็ตาม แม้เชื้อราที่ก่อโรคถูกกำจัดไปแล้ว แต่สีของผิวหนังที่เปลี่ยนไปอาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในการกลับมาเป็นผิวหนังสีปกติ
สปอโรทริโคสิส (Sporotrichosis)
เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา Sporothrix schenckii (เชื้อดังกล่าวมักพบจากการโดนหนามกุหลาบทิ่มตำ แต่ก็สามารถในสัตว์เลี้ยงได้ด้วย โดยพบในแมวมากกว่าในสุนัข) หรือเกิดจากเชื้อ Nontuberculous mycobacteria ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง การติดต่อเกิดจากการมีแผลเปิดบริเวณผิวหนังและแผลดังกล่าวสัมผัสกับเชื้อที่ติดมาจากสัตว์หรือสิ่งสกปรกที่ติดตัวสัตว์มา เช่น ดิน หรือน้ำสกปรก เป็นต้น ลักษณะอาการที่สำคัญ ได้แก่ การมีตุ่มแดงบริเวณผิวหนังอาจเป็นตุ่มเดี่ยวๆ หรือมีหลายตุ่มเรียงตัวตามแนวท่อน้ำเหลือง (Lymphatic pattern) การวินิจฉัยทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจดูพยาธิสภาพผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ ร่วมกับการเพาะเชื้อ
โรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ
มีเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่สามารถติดจากสุนัขและแมวได้ เช่น Staphylococcus, Streptococcus, Corynebacterium, Pasteurella และ anaerobic species โดยสามารถแสดงอาการทางผิวหนังได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นผื่นแดง แผลพุพอง หนอง รูขุมขนอักเสบ การติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่สุนัขและแมวกัด หรือข่วน นอกจากการติดเชื้อทางผิวหนังแล้วการถูกกัด ข่วน หรือมีแผลเปิดสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ยังมีโอกาสติดเชื้ออื่นๆที่รุนแรง เช่น พิษสุนัขบ้า และเชื้อบาดทะยัก หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อประเมิณความรุนแรงและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ถูกต้องต่อไป
โรคติดเชื้อไวรัส
ทางการแพทย์มีรายงานการติดเชื้อไวรัสจากสุนัขและแมวสู่ค่น แต่พบได้น้อยมาก
โดยสรุปแล้ว มีโรคทางผิวหนังมากมายที่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวได้ อย่างไรก็ตามยังมีโรคอื่นๆอีกมากที่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงโดยไม่แสดงอาการทางผิวหนัง การดูแลรักษาความสะอาดสัตว์เลี้ยง อย่างถูกต้องเหมาะสม และการตรวจสุขภาพของสัตว์เลี้ยงตามนัดหมายของสัตวแพทย์ ทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง สามารถลดโอกาสการติดเชื้อในตัวสัตว์เลี้ยงเองและการติดต่อของเชื้อมาสู่คนได้
เขียนโดย คุณหมอลูกเป็ด