sexual transmitted infections test disease definition

เรื่องต้องรู้ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร อันตรายไหม และใครควรตรวจ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual transmitted infections: STIs) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อผ่านการมีเซ็กซ์หรือเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะด้วยการสัมผัส การจูบ การทำออรัลเซ็กซ์ การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดและทวารหนัก เชื้อเหล่านี้ส่วนมากจะติดจากคนหนึ่งไปอีกคนผ่านสารคัดหลั่ง อย่างเลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น และน้ำลาย ขณะที่เชื้อบางชนิดติดได้จากการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิด

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอยู่หลายโรค เช่น การติดเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อเอชพีวี ซิฟิลิส เริมที่อวัยวะเพศ และหนองใน แต่ละโรคจะมีอาการและวิธีรักษาแตกต่างกันออกไป เมื่อเป็นโรคแล้วจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จำนวนไม่น้อยไม่แสดงอาการในระยะแรก สามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้โดยไม่รู้ตัว หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้โรคลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อน และส่งผลต่อชีวิตด้านอื่นได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีหลายโรค แต่ละโรคเกิดจากการได้รับเชื้อต่างชนิดกันออกไป โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย เช่น

ซิฟิลิส (Syphilis) 

โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema Pallidum) ทำให้เกิดแผลที่ในตำแหน่งที่มีเพศสัมพันธ์ พบบ่อยบริเวณปาก อวัยวะเพศ และทวารหนัก แผลนี้ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด จะคงอยู่ประมาณ 3-6 สัปดาห์แล้วหายไปเอง แต่เชื้อยังคงแฝงอยู่ในร่างกายระยะหนึ่งโดยที่ไม่ได้แสดงอาการอะไร ก่อนจะฟักตัวเข้าสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น ทำให้ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังติดเชื้ออยู่

โรคหนองใน (Gonorrhea)

โรคหนองในหรือโรคหนองในแท้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไนซีเรียโกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) ผู้ชายมักจะมีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ มีหนองข้นไหลออกจากจากอวัยวะเพศ อัณฑะบวม ส่วนผู้หญิงมักไม่มีอาการหรืออาจมีอาการน้อย มักจะมีอาการปวดแสบปัสสาวะ ตกขาวเยอะ มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด นอกจากนี้ ยังเกิดการติดเชื้อภายในลำคอ ดวงตา และข้อต่อได้ ถ้าไม่ได้รักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และภาวะมีลูกยาก ทั้งผู้ชายและผู้หญิงได้

การติดเชื้อเอชพีวี (HPV)

เชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papilloma Virus: HPV) หรือเอชพีวี เป็นไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ทำให้เกิดติ่งหรือก้อนเนื้อผิวขุระบริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น ช่องปากและลำคอ อวัยวะเพศชาย ช่องคลอด และทวารหนัก บางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งทวารหนักได้

โรคหนองในเทียม (Chlamydia) 

โรคหนองในเทียมเป็นการติดเชื้อคลามัยเดีย (Chlamydia Trachomatis) คนส่วนมากมักไม่มีอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการทำออรัลเซ็กส์ บางคนอาจมีอาการใน 7-21 วันหลังได้รับเชื้อ เช่น ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะขัด มีหนองใสไหลออกจากอวัยวะเพศ ปวดอัณฑะ และปวดท้องน้อย 

โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) 

โรคพยาธิในช่องคลอดเกิดจากการได้ติดเชื้อโปรโตซัว ทริโคโมแนส วาไจนาลิส (Trichomonas vaginalis) พบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย มักไม่แสดงอาการ แต่บางคนอาจ รู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์ มีอาการคัน แสบ บวมแดงบริเวณช่องคลอด ตกขาวเยอะผิดปกติ ตกขาวเป็นฟอง และมีกลิ่นคาว ถ้าปล่อยไว้โดยไม่รีบรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกและภาวะมีบุตรยากในระยะยาว

โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes)

โรคเริมเกิดจากไวรัสเอชเอสวี (Herpes Simplex Virus: HSV) มีทั้งชนิดติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ ช่องปาก และผิวหนัง เริมที่อวัยวะเพศสามารถติดต่อได้จากมีทางเพศสัมพันธ์และการสัมผัสโดนเชื้อ ทำให้เกิดผื่นแดง ตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มรอบอวัยวะเพศ มีอาการปวดแสบคันตามอวัยวะเพศและทวารหนัก มีไข้ ปวดตามร่างกาย แต่บางคนอาจไม่มีอาการ เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ เพราะเชื้อยังหลบอยู่ในร่างกาย พอร่างกายอ่อนแออาจทำให้อาการกำเริบขึ้นใหม่ 

โลน (Pediculosis Pubis, Pubic Lice)

เป็นการติดเชื้อปรสิตชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับแมลงตัวเล็ก ๆ กินเลือดเป็นอาหาร และมักอาศัยอยู่ตรงขนที่อวัยวะเพศ และอาจพบบริเวณขนดกหยาบส่วนอื่น เช่น ขนรักแร้ ขนคิ้ว ขนหน้าอก และเครา การติดเชื้อเกิดได้จากการสัมผัส การใช้สิ่งของร่วมกัน และถ้ามีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสติดเชื้อได้ด้วยเช่นกัน โดยอาการที่พบบ่อยคือ คันบริเวณอวัยวะเพศ 

การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อ การติดต่อทางเลือดอย่างการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันหรือสัมผัสโดนเชื้อตอนมีแผลเปิด รวมถึงติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ เมื่อไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ในภายหลัง และเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนมากมาย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่การใช้ยาต้านไวรัสตามที่แพทย์แนะนำจะช่วยยับยั้งเชื้อไม่ให้ลุกลาม และสามารถมีสุขภาพที่แข็งแรงได้เหมือนคนทั่วไป

ใครบ้างที่เสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับแฟนหรือคนอื่น ล้วนมีความเสี่ยงที่จะได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่คนที่มีไลฟสไตล์การใช้ชีวิตบางอย่างอาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป คือ

  • ไม่ใส่ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน 
  • เปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ
  • มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนประจำ
  • ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม

คนทั่วไปที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี แต่คนที่ใช้ชีวิตเสี่ยงต่อโรคหรือมีเพศสัมพันธ์บ่อย ควรตรวจทุก 3-6 เดือน ถ้าพบอาการผิดปกติหลังจากมีเพศสัมพันธ์ควรปรึกษาและเข้ารับการตรวจจากแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันกับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

อยากตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต้องทำอย่างไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายชนิดไม่แสดงอาการ การตรวจหาโรคเหล่านี้เลยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจรู้สถานะการติดเชื้อของตัวเอง ลดความเสี่ยงของอาการรุนแรง และป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่นได้ด้วย การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่สถานพยาบาลทั่วไป ซึ่งบางคนอาจรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะต้องบอกชื่อตัวเองก่อนตรวจหาโรคเหล่านี้ สถานพยาบาลบางแห่งเลยมีนโยบายตรวจหาโรคแบบไม่ระบุตัวตน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจได้มากขึ้น

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีหลายวิธี ก่อนการตรวจติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะต้องมีการสอบถามประวัติ เพราะหลายโรคอาจไม่มีอาการในช่วงแรกหรืออาจมีอาการไม่ชัดเจน ร่วมกับการตรวจร่างกายตามอวัยวะต่าง ๆ และการตรวจอื่น เพื่อหาร่องรอยของโรค ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค เช่น 

  • การตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อ สามารถตรวจหาได้หลายโรค เช่น การติดเชื้อเอชไอวี เริม และโรคซิฟิลิส
  • การตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อ ดูสีและความใสของปัสสาวะ สามารถตรวจหาโรคหนองในเทียม การติดเชื้อคลามัยเดีย และโรคอื่น ๆ 
  • การตรวจสารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด และทวารหนัก เพื่อหาการติดเชื้อ
  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear, Pap Test) เป็นการตรวจหาร่องรอยของการติดเชื้อเอชพีวี และสัญญาณของโรคมะเร็งปากมดลูก 

กรณีตรวจพบโรค แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งควรทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ  

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือของร่วมกับคนอื่น ฉีดวัคซีนเอชพีวี และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงของโรค 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยก็ควรตรวจ ตรวจครั้งเดียวรู้ผลได้หลายโรค จองแพ็กเกจตรวจโรคทางเพศกับ HDmall.co.th จองง่าย ใช้สะดวก รู้ผลตรวจได้เร็วสุดใน  1 ชั่วโมง คลิกเลย หรือ ไม่สะดวกนัดหมายเอง ต้องการตรวจเป็นความลับ แชทหาปรึกษาแอดมินได้เลย ที่นี่ 

Scroll to Top