ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก เป็นแบบไหน? รวมวิธีสังเกตอาการ

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะแยกระหว่างอาการของโรคไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดา หรือการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่รุนแรง

เนื่องจากมีการติดเชื้อไวรัสหลายชนิดที่สามารถทำให้เกิดอาการที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ได้ และมักจะรุนแรงกว่าอาการของไข้หวัดทั่วไป

อาการที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

  • ไข้สูง
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ซึมลง
  • ปวดศีรษะ
  • ไอแห้ง
  • เจ็บคอ
  • น้ำมูกไหล
  • อาจพบอาการคลื่นไส้อาเจียน และท้องเสียได้ แต่ไม่บ่อยนัก

อาการเหล่านี้จะคงอยู่ได้หลายวันถึงหลายสัปดาห์ หากไม่แน่ใจว่า บุตรหลานเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ควรพาเด็กไปตรวจกับกุมารแพทย์

โรคอื่นๆ ที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่

  • โรคครูป (Croup) หรือเรียกอีกอย่างว่า “กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ (laryngotracheobronchitis)”
  • หลอดลมฝอยอักเสบ
  • การติดเชื้อในหู
  • ปอดบวม

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ง่าย และผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มมีอาการประมาณ 1 วันจนถึงช่วง 5-7 วัน หลังจากเริ่มป่วย

เมื่อไม่มีไข้มากกว่า 24 ชั่วโมง เด็กๆ จะสามารถกลับไปโรงเรียน หรือศูนย์ดูแลเด็กได้

บางครั้งวิธีที่จะแยกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ก็คือ การทดสอบไข้หวัดใหญ่ เพราะหากเป็นไข้หวัดใหญ่จะมียาที่สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการ และช่วยให้หายเร็วขึ้น

การทดสอบไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

กุมารแพทย์จะทดสอบไข้หวัดใหญ่โดยการใส่ไม้พันสำลีเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเก็บตัวอย่างไปตรวจ และรอผลอีกประมาณ 15 นาที เพื่อดูว่า เป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นการทดสอบที่ใช้บ่อย แต่ก็มีข้อเสียคือ สามารถให้ผลลบลวงได้ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และอาจจะมีผลบวกลวงในช่วงที่การระบาดของไข้หวัดใหญ่น้อย

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคกล่าวว่า การทดสอบนี้ไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคนที่สงสัยว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะหากพบว่า มีการระบาดอยู่ภายในพื้นที่ อาจสามารถวินิจฉัยโรคได้เลยจากอาการ

การทดสอบนี้อาจมีประโยชน์หากเด็กเป็นไข้หวัดใหญ่แบบรุนแรงและต้องนอนโรงพยาบาล หรือมีปัญหาสุขภาวะอื่นๆ ที่เป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือหากทำการทดสอบแล้วจะส่งผลต่อการจัดการด้านการป้องกันการแพร่เชื้อในเด็กคนอื่นๆ

นอกจากการทดสอบไข้หวัดใหญ่แบบเร็วแล้ว ยังอาจใช้การทดสอบรูปแบบอื่นได้ เช่น การเพาะเชื้อไวรัส การตรวจ Direct fluorescent antibody และการตรวจ PCR ซึ่งให้ผลได้แม่นยำกว่า แต่ต้องใช้เวลานานกว่าประมาณหลายชั่วโมง หรือหลายวัน

การรักษาไข้หวัดใหญ่

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มียาที่สามารถใช้รักษาได้ เช่น Tamiflu (oseltamivir) และ Relenza (zanamivir) ซึ่งแตกต่างจากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น

ยา Tamiflu มีในรูปแบบแคปซูลและยาน้ำ ส่วนยา Relenza เป็นลักษณะผงที่ใช้สูดดม หากให้ยาเหล่านี้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และลดระยะเวลาการเจ็บป่วยได้ 1 หรือ 2 วัน

สำหรับเด็กที่เพิ่งได้รับการฉีควัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบสเปรย์ (Flumist) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด เชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live-attenuated influenza vaccine : LAIV) อาจตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นบวกได้อย่างน้อย 7 วัน

อีกทั้งเนื่องจากในปัจจุบันมีอัตราการดื้อยาของเชื้อ ปัญหาเรื่องยาราคาแพง รสชาติของยาที่ไม่อร่อย และผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tamiflu จึงแนะนำให้ใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่เมื่อจำเป็นเท่านั้น

จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยแนะนำให้ใช้ยาต้านไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (เช่นโรคหอบหืด หรือโรคหัวใจ) กลุ่มโรคอ้วน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เด็กและวัยรุ่นที่กำลังได้รับยาแอสไพรินระยะยาว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาไข้หวัดใหญ่ และถึงแม้ว่าคุณจะไม่เคยให้ยาแอสไพรินกับเด็ก ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินในเด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่เช่นกัน

เนื่องจากอาจเกิดกลุ่มอาการราย (Reye syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและตับได้

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ หากบุตรหลานของคุณเป็นไข้หวัดใหญ่ และไม่ได้รับวัคซีนป้องกันในปีนี้ ควรพิจารณาฉีดวัคซีนในปีหน้า เพราะการฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสที่จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในครั้งต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top