หนึ่งในเชื้อไวรัสที่มักระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว คือ เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV) ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ มีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัด ทุกช่วงวัยสามารถติดเชื้อได้ง่าย แต่จะมีอาการรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่แข็งแรง จึงเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก เพราะอาจก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นหลอดลมฝอยอักเสบ ปอดบวม หรือปอดอักเสบได้
ในบทความนี้ HDmall ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ โรคติดเชื้อ RSV ทั้งลักษณะอาการ ความรุนแรงของโรค มีความแตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการตรวจ RSV ซึ่งจะช่วยให้ดูแลรักษาลูกน้อย หรือคนในครอบครัวที่ติดเชื้อได้อย่างถูกวิธี และช่วยหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้ที่ใกล้เคียงด้วย
สารบัญ
โรคติดเชื้อ RSV คืออะไร?
เชื้อ RSV เป็นไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ RSV-A และ RSV-B ซึ่งทั้งสองชนิด เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดหลอดเลือดฝอยอักเสบเฉียบพลัน โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ โดยหลังรับเชื้อ RSV จะแสดงอาการภายใน 2-8 วัน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา
หากเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่ภูมิคุ้มกันแข็งแรงดี อาการอาจค่อยๆ หายไปได้เองโดยบรรเทาอาการเบื้องต้น เช่น กินยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมง นอนหลับพักผ่อนมากๆ แต่หากติดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการมักรุนแรงกว่า และอาจลามไปถึงระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนมีอาการหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดหวิว หรือเสียงครืดคราดในลำคอ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัส หรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
กรณีติดเชื้อในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจทำให้เด็กหยุดหายใจได้ จึงถือเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายมากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ RSV สูง หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะขาดสารอาหาร ที่มีโอกาสติดเชื้อ RSV ได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น
เชื้อ RSV ติดต่อได้อย่างไร?
เชื้อไวรัส RSV สามารถติดต่อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่
- ผ่านทางลมหายใจ การไอ การจาม ที่มีละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย
- ผ่านการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ของเล่น เป็นต้น เพราะเชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมง หรือหากติดเชื้อที่มือ เชื้อสามารถมีชีวิตได้นานประมาณ 30 นาที
โรคติดเชื้อ RSV ต่างกับไข้หวัดทั่วไปอย่างไร?
ผู้ที่ติดเชื้อ RSV มักมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้ น้ำมูลไหล ไอ แต่ผู้ติดเชื้อ RSV จะมีรายละเอียดที่ต่างกับไข้หวัดเล็กน้อย ดังนี้
- ผู้ติดเชื้อ RSV จะมีไข้สูง 39-40 องศา และอาการแย่ลงเรื่อยๆ ใน 5-10 วัน ขณะที่ไข้หวัดธรรมดาจะมีไข้ไม่สูงมาก อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ใน 3 วัน และสามารถหายได้ภายใน 5-7 วัน
- มีอาการไอแรง ไอถี่ มีเสมหะมากจนอาเจียนได้
- มีน้ำมูกลักษณะเหนียวคล้ายกาว
- มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย หายใจหอบ ซึ่งจะนำไปสู่หลอดลมอักเสบ หลอดเลือดฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ และปอดบวมได้
ติดเชื้อ RSV เมื่อไรควรไปพบแพทย์?
หากไม่แน่ใจว่าเป็นไข้หวัด หรือติดเชื้อ RSV และมีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้โดยไม่ดีขึ้นใน 4 วัน ควรไปพบแพทย์ทันที
- ไข้สูงนานกว่า 2 วัน หรือเด็กทารกที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ไอแรง ไอถี่ และมีเสมหะมาก มีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียวหรือสีเหลือง
- หายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ เหนื่อยหอบ อกบุ๋ม เขียว ได้ยินเสียงหายใจหวีด
- มีน้ำมูกเหนียวคล้ายกาว
- มีอาการเซื่องซึม ไม่ร่าเริง หรือไม่เล่นเหมือนปกติ
- ไม่ดูดนมหรือไม่รับประทานอาหาร
- ประสบภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากตอนร้องไห้จะไม่มีน้ำตาไหลออกมา
- ปลายนิ้วหรือปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ซึ่งเกิดจากภาวะขาดออกซิเจน
- หยุดหายใจเป็นพักๆ
ตรวจ RSV คืออะไร?
การตรวจ RSV คือ การตรวจหาเชื้อโรค Respiratory Syncytial Virus แพทย์จะส่งตรวจสำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อโดยมีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดทั่วไป การตรวจจะใช้ชุดตรวจ RSV แบบด่วน (RSV Rapid Test) ที่สามารถรู้ผลได้ภายใน 30 นาที ส่วนใหญ่จะสามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกที่รับตรวจ
การรักษาผู้ติดเชื้อ RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษา หรือวัคซีนป้องกันเชื้อ RSV โดยเฉพาะ แพทย์จึงใช้การรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ร่วมกับการเช็ดตัวหรือใช้น้ำเกลือล้างจมูก
หากมีอาการของทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือไวรัสลงปอด แพทย์จะใช้วิธีพ่นยาขยายหลอดลม หรือให้ออกซิเจน เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น แล้วนัดติดตามอาการหรือพ่นยาจนกว่าอาการจะดีขึ้น
กรณีมีอาการรุนแรงและต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์จะดูแลใกล้ชิดและยังต้องรักษาตามอาการเช่นเดิม เช่น การให้น้ำเกลือ ให้ยาขยายหลอดลม พ่นยา เคาะปอด ดูดเสมหะ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็อาจให้ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีภาวะขาดออกซิเจนก็จะใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งอาการควรจะดีขึ้นภายใน 7-9 วัน
ตรวจ RSV มีกี่วิธี?
ปัจจุบันการตรวจ RSV มาตรฐานคือการใช้ชุดตรวจแบบด่วน (RSV Rapid Test) โดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากจมูก (Nasal Swab) โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้ร้อยละ 53-96 ของผู้ติดเชื้อ แพทย์จึงอาจใช้การตรวจประเภทอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัย เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
ทั้งนี้แพทย์อาจไม่ได้ตรวจ RSV ให้กับทุกคนที่มีอาการคล้ายหวัด แต่มักตรวจเมื่ออาการรุนแรงขึ้น หรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อ RSV ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
ใครควรตรวจ RSV?
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV และควรได้รับการตรวจหาเชื้อ ได้แก่
- ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- เด็ก หรือผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูงต่อเนื่องนานกว่าปกติ
- ผู้ที่มีไข้สูง 39-40 องศา ติดต่อกันหลายวัน มีน้ำมูกมีความเหนียวคล้ายกาว มีอาการไอมากและไอแบบมีเสมหะมาก หายใจครืดคราด บางรายอาจมีอาการหายใจเร็ว แรง หรือมีอาการหอบเหนื่อย
- ทารกที่สูดดมควันบุหรี่ เนื่องจากพบว่าทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไป มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการรุนแรงได้มากกว่า
การเตรียมตัวก่อนตรวจ RSV
การตรวจ RSV ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตอาการลูกน้อย เด็ก หรือบุคคลในครอบครัว เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น มีน้ำมูก ไอ มีเสมหะมาก มีไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีดหรือเสียงครืดคราดในลำคอ เป็นต้น
ขั้นตอนการตรวจ RSV
การตรวจหาเชื้อไวรัส RSV ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันการตรวจเชื้อ RSV จะทำควบคู่ไปกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
- แพทย์ทำความสะอาดจมูก หรือหากมีน้ำมูกก็ให้สั่งออกก่อน
- จากนั้นใช้ไม้ลักษณะคล้ายคัตเตอร์บัตแต่มีก้านยาว แหย่เข้าไปในจมูกของผู้มีอาการ ป้ายสารคัดหลั่งน้ำมูกในจมูกแล้วเก็บตัวอย่างน้ำมูกออกมา
- แพทย์นำสารคัดหลั่งน้ำมูกที่ได้ ไปตรวจแบบด่วน (RSV Rapid Test) ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจหาเชื้อประมาณ 15-30 นาที ก็จะทราบผล
- ผู้รับการตรวจกลับบ้านได้
การดูแลตัวเองหลังตรวจ RSV
หลังตรวจ RSV แล้ว แพทย์มักจ่ายยาตามอาการให้ และอาจแนะนำข้อควรปฏิบัติต่างๆ ดังต่อไปนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
- รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
- งดเดินทาง และหยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
- งดคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อ
- งดสูบบุหรี่
- สวมหน้ากากอนามัย ใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอหรือจาม และล้างมือ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่บุคคลใกล้เคียง
ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากตรวจ RSV
การตรวจ RSV ด้วยชุดตรวจแบบด่วน มีความเป็นไปได้ที่ ผลการตรวจจะไม่ขึ้นแถบสีเลย อาจเกิดจากสาเหตุุชุดตรวจมีปัญหา หมดอายุ หรืออุปกรณ์ในการตรวจไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ได้ผลตรวจที่ทราบผลการหาตรวจหาเชื้อได้ นอกจากนี้ ผู้มีอาการติดเชื้อ RSV ที่ได้รับการรักษาหายแล้ว ไม่เพียงสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเมื่อร่างกายอ่อนแอ แต่อาจมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามมาภายหลังได้ ดังนี้
- ในเด็กมักมีอาการทางหลอดลมไวที่ทำให้หายใจเหนื่อยง่าย รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดสูงเกิดขึ้น
- หูชั้นกลางอักเสบ
- หลอดลมฝอยอักเสบ
- ปอดอักเสบ หรือปอดบวม
- หายใจล้มเหลว
- เสียชีวิตได้
การอ่านผลการตรวจ RSV
การตรวจ RSV มักทราบผลได้ภายใน 30 นาที โดยผลตรวจจะมี 2 แบบได้แก่
- ผลลบ (Negative) มีแถบสีขึ้น 1 ขีด หมายถึงไม่พบเชื้อ RSV
- ผลบวก (Positive) มีแถบสีขึ้น 2 ขีด หมายถึงพบเชื้อ RSV
การป้องกันการติดเชื้อ RSV
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเชื้อ RSV ยังไม่มียารักษา และวัคซีนป้องกันอย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อ และลดโอกาสแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น โดยปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
- ล้างมือให้ถูกวิธี ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
- หมั่นทำความสะอาดบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่น ที่เด็กหรือสมาชิกในครอบครัวจะต้องสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้ที่มีอาการ หรือผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ RSV
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องรวมกันหรือสถานที่แออัด หากพบว่ามีอาการเกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งในครอบครัว
- งดการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะบ้านที่มีทารกที่ได้รับควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
- ใส่หน้ากากอนามัย และใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ หรือจาม
- ควรแยกสมาชิกที่ติดเชื้อออกจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกัน RSV กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ระหว่างนี้จึงเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องช่วยกันระวังตัว และลดโอกาสแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ หากมีอาการผิดปกติติดต่อกันหลายวัน ควรเข้ารับการตรวจ RSV ถ้าเกิดการติดเชื้อจะได้แยกรักษาตัวได้อย่างเหมาะสมต่อไป