อาการผดผื่นคันตามบริเวณผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมพิษ ท้องร่วง ท้องอืด หรืออาการคัดจมูก หลังจากรับประทานอาหาร สัมผัสกับฝุ่นควัน โดนยุง แมลงสัตว์กัดต่อย
ฯลฯ อาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบได้มากในคนทั่วไป สาเหตุของอาการแพ้ และอาการแสดง มักแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เป็นโรคภูมิแพ้ และเมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์ หาคำตอบได้ที่บทความนี้
สารบัญ
รู้จักกับโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของร่างกายชนิดที่มีอาการแสดงตามส่วนต่างๆ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหาร ไรฝุ่น ขนสัตว์ อากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด เข้าไป
สารก่อภูมิแพ้จะไปทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้บริเวณนั้น หรือบริเวณอื่นๆ เกิดการอักเสบขึ้น อาการสามารถเป็นได้ตั้งแต่น้อยถึงมาก อาจหายได้เองหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษา
อาการดังกล่าวจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นภูมิแพ้แย่ลง ทั้งการทำงาน การเรียน การพักผ่อน และการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการแพ้จะแสดงออกผ่านทางระบบต่างๆ ในร่างกาย ระบบที่พบมาก ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในการเกิดโรคภูมิแพ้ เหตุใดแต่ละคนจึงมีระดับความรุนแรงของอาการแพ้ไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อมที่เติบโตมา รวมถึงอาหารที่รับประทานด้วย
มีอาการแพ้อาหารอีกประเภทที่คล้ายกันเรียกว่า “ภูมิแพ้อาหารแฝง” เป็นภาวะที่ร่างกายไม่หลั่งเอนไซม์ย่อยอาหารออกมาไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการผิดปกติหลายอย่างตามมา เช่น ท้องอืด สิวขึ้น อ่อนเพลีย
คนไทยมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากสักเพียงใด?
โรคภูมิแพ้มีหลายชนิดได้แก่
- ภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วย โรคภูมิแพ้ทางจมูก และโรคหืด
- ภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ภูมิแพ้ทางตา
- ภูมิแพ้แบบรุนแรงอาจถึงช็อคได้ (เรียกว่า ภาวะช็อคจากภูมิแพ้)
โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือโรคหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้พบในเด็กไทยประมาณ 40% (4 ในเด็ก 10 คน) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกว่า 5 ปีก่อนประมาณ 1 เท่าตัว ส่วนในผู้ใหญ่พบประมาณ 20 % (2 ในผู้ใหญ่ 10 คน)
ดังนั้น หากประมาณจากประชากรไทยทั้งประเทศ เชื่อว่า มีคนไทยกว่า 10 ล้านคนที่เป็นโรคหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้ จึงไม่แปลกใจว่า คุณ หรือญาติ หรือคนที่คุณรู้จักคนใดคนหนึ่งต้องมีอาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกอยู่บ้าง
การจะรู้ว่าเราแพ้อะไร อาจต้องอาศัยการสังเกต และจดบันทึกอาหารที่รับประทาน เพื่อให้ทราบว่าอะไรคือสิ่งกระตุ้นสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย หรืออาจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้กับแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่อาจช่วยให้ทราบได้ไวขึ้น
อ่านเพิมเติม: ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ความหมาย ประเภท อาการ และวิธีรักษา
อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร
อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร หรือที่เรียกว่า “ภูมิแพ้อาหารแฝง” มักเกิดจากการแพ้อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารเหล่านี้ได้
ประเภทอาหารที่มักพบว่า มีอาการแพ้ ได้แก่ ไข่ นมวัว
ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วที่เติบโตบนดิน อาหารทะเล ข้าวสาลี
อย่างไรก็ตาม จะต้องจำแนกให้ได้ก่อนว่า อาการที่เกิดขึ้น คือ อาการแพ้อาหาร อาการไวต่ออาหารที่รับประทานเข้าไป หรืออาการแพ้อาหารแฝงกันแน่
อาการแพ้อาหาร
(Food allergy)
- อาการแพ้อาหารจะแสดงทันที หรือไม่ภายในไม่กี่นาทีที่รับประทานเข้าไป
- อาการแพ้อาหารที่พบบ่อย ได้แก่ มีปัญหาในการกลืน หรือหายใจ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ลมพิษ และอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- คุณสามารถตรวจอาการแพ้อาหารได้โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด
(Skin Prick Test: SPT) หรือตรวจเลือด เพื่อหาปริมาณสารก่อภูมิต้านทานต่ออารแพ้ (Serum Specific IgE)
อ่านเพิ่มเติม: อาการแพ้อาหาร (Food allergy)
อาการไวต่ออาหาร (Sensitive food)
- อาการไวต่ออาหารจะแสดงอาการหลังจากรับประทานไปภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือภายในไม่กี่วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความไวต่ออาหารในแต่ละบุคคล เช่น หลังดื่มคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์
แล้วเกิดผื่นแดง หรือนอนไม่หลับ - อาการไวต่ออาหารที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร หรือระบบผิวหนัง บางรายอาจมีอาการไม่สบายตัวด้วย
- อาการไวต่ออาหารตรวจสอบได้ยาก แต่สามารถตรวจอาการไวต่ออาหารด้วยวิธีเดียวกับการตรวจอาการแพ้อาหารได้ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ชัดเจน จึงควรสังเกตอาการด้วยตัวเองด้วย
อาการแพ้อาหารแฝง (Food intolerance)
- อาการแพ้อาหารแฝงเป็นอาการแพ้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่อาจเกิดจากร่างกายย่อยอาหารได้ไม่สมบูรณ์ หรือดูดซึมคาร์โบไฮเดรตได้ไม่ดีพอจนทำให้เกิดอาการแพ้ตามมา
- อาการแพ้อาหารแฝงที่พบบ่อยคือ อาการแพ้แลคโตส หรือที่เรียกว่า ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสผิดปกติ (Lactose intolerance)
- อาการแพ้อาหารแฝงจะแสดงอาการภายใน 30 นาทีถึง 48 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
- อาการแพ้อาหารแฝงที่พบบ่อยมักเกิดกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วง ท้องผูก หรือมีแก๊สในกระเพาะมาก
- คุณสามารถตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ด้วยวิธีการตรวจเลือด โดยแต่ละสถานพยาบาลจะมีรายการตรวจที่แตกต่างกัน
อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ
อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจเกิดจากผู้ป่วยสูดสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เข้าไปในร่างกาย เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ จนทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โรคแพ้อากาศ”
อาการภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ คันจมูก คัดจมูก จามติดๆ กัน มีน้ำมูกใส และมักมีอาการร่วมกับระบบร่างกายอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ เปลืกตามบวม หูอื้อ โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความไวของแต่ละบุคคล
วิธีการสังเกตง่ายๆ ว่า ตนเองมีอาการแพ้ในระดับใด คือ เมื่อใดก็ตามที่อาการแพ้ส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับ การเรียน หรือการทำงาน หมายถึงอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น
อาการภูมิแพ้ผิวหนัง
อาการภูมิแพ้ทางผิวหนังเกิดจากผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ถูกกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ดินสอพอง โฟม ครีมทาผิว เครื่องสำอาง ยาง แมลงสาบ แมลงกัดต่อย ไรฝุ่น อาหาร แม้กระทั่งเหงื่อของตัวเอง
อาการภูมิแพ้ผิวหนังจะแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง ไม่ติดต่อไปยังผู้ใกล้ชิด อาการที่พบบ่อยมีดังนี้
ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis)
- อาการที่ผิวหนังอักเสบเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายใน 1-7 วัน
- ลักษณะของผื่นจะคล้ายทรายละเอียด เมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจเกิดการลอกได้ และเมื่อเป็นติดต่อกันนานๆ จะเป็นผื่นหนา และมีสีคล้ำขึ้น
- ถ้ามีอาการแพ้มากขึ้นก็จะมีน้ำเหลืองซึมออกมา
- ผื่นแพ้สัมผัสจะเป็นเฉพาะที่ และอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
ลมพิษ (Hives)
- เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ได้รับยาบางอย่าง ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ติดเชื้อบางอย่าง ความเย็น หรือเกิดจากภาวะจิตใจเคร่งเครียด
- ผื่นจะขึ้นกระจายทั่วร่างกาย มีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน อาจเป็นตุ่มนูนสีแดง หรือสีชมพู เป็นปื้นหนา หรือมีขนาดเล็ก และมีอาการคันมากร่วมด้วย
ผื่นภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)
- มักเกิดร่วมกับภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ผิวหนังจะแห้ง และคันมาก ผิวหนังไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นเป็นๆ หายๆ
ผื่นแพ้ยา
- โดยทั่วไปมักเกิดจากการแพ้ยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้ปวด
- อาจมีอาการคล้ายหัด คือ มีผื่นคันขึ้นทั้งตัว หรือเป็นผื่นแพ้ยาแบบลมพิษ อาจมีตุ่มน้ำพองใส หรือมีน้ำเหลืองอยู่ภายใน ถ้าอาการรุนแรงผิวจะลอกทั้งตัวเหมือนถูกน้ำร้อนลวก
อาการแพ้ที่เป็นอันตราย
อาการแพ้รุนแรงเป็นอาการแพ้ที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการแพ้รุนแรงมักแสดงออกมาทันที หรือภายในไม่กี่นาทีหลังจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ผ่านทางระบบร่างกายต่างๆ เช่น มีผื่นแดงกระจายตามตัว แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด ปากบวม ลำคอบวม และความดันโลหิตต่ำพร้อมกัน
เมื่อมีอาการแพ้รุนแรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉีดยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ทันที และรีบส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อรักษาในกระบวนการต่อไป
จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นโรคภูมิแพ้?
การสังเกตตัวเองเป็นประจำจะช่วยให้คาดคะเนได้ว่า มีแนวโน้มจะแพ้สารชนิดใด
คุณอาจจดบันทึกอาหารที่รับประทาน และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร หรือหยุดรับประทานอาหาร หรือสัมผัสสารที่น่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ติดต่อกัน 2-3 อาทิตย์แล้วดูว่า อาการแพ้หายไปหรือไม่
หากมั่นใจว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือต่อให้ไม่มั่นใจก็ตาม คุณควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เพื่อตรวจยืนยันผล และวัดระดับความรุนแรงของอาการแพ้ เพื่อเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วง
แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ และเริ่มทำการทดสอบด้วยวิธีต่างๆ
วิธีตรวจภูมิแพ้ที่นิยมตรวจ
1.ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
เป็นการทดสอบที่ผิวหนังโดยตรง แพทย์จะนำสารก่อภูมิแพ้หยดลงบนแขน หรือฉีดเข้าผิวหนัง
- ข้อดี: ราคาไม่แพง สามารถรู้ผลได้เลย
- ข้อเสีย: มีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกาย
2.ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดส่งตรวจห้องแล็ป เพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย
- ข้อดี: เป็นวิธีที่ปลอดภัย สามารถตรวจสารก่อภูมิแพ้ได้หลากหลายชนิดพร้อมๆ กัน
- ข้อเสีย: ราคาค่อนข้างสูง
หากคุณจะไปตรวจภูมิแพ้ควรติดต่อสอบถามกับทางโรงพยาบาลถึงวิธีการต้องเตรียมตัวที่ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสการเกิดผลลวงให้มากที่สุด
แนวทางการรักษาทั่วไปของโรคภูมิแพ้
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาด วิธีรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่า แพ้สารชนิดใด ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพื่อป้องกันอาการภูมิแพ้กำเริบ
เมื่ออาการแพ้กำเริบขึ้น หากเป็นเพียงอาการแพ้เล็กน้อยถึงปานกลาง แค่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็มักจะดีขึ้นเอง หรืออาจรับประทานยาแก้แพ้ หรือใช้ยาทาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการได้
แต่หากเป็นอาการแพ้รุนแรง แพทย์มักสั่งยาฉีดอีพิเนฟรินและบัตรประจำตัวโรคภูมิแพ้ ให้พกติดตัว เมื่อเกิดอาการก็ให้ฉีดยานี้ทันที และควรรีบไปหาแพทย์
ในบางกรณีสามารถรักษาภูมิแพ้โดยใช้การฉีดวัคซีนได้ด้วย (Allergen Immunotherapy)
การฉีดวัคซีนเพื่อรักษาภูมิแพ้
หลักการคือ ใช้วัคซีนที่เตรียมจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ขึ้น โดยวิธีฉีดเข้าในผิวหนังทีละน้อยๆ ในระยะ 5-6 เดือนแรกจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง โดยฉีดที่แขนสลับข้างกัน และค่อยๆเพิ่มปริมาณของวัคซีนทีละน้อยตามลำดับ
หลังจากฉีดได้ขนาดสูงสุดเท่าที่ผู้ป่วยจะรับได้แล้วโดยไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ขึ้น จึงไม่เพิ่มขนาดของวัคซีน และค่อยๆ เพิ่มระยะห่างของการฉีดวัคซีนออกไปเป็นทุกๆ 2 และ 3 สัปดาห์ จนถึงฉีดเพียงเดือนละครั้งเพื่อกระตุ้นให้ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นคงระดับสูงอยู่ได้ตลอดเวลา
วัคซีนชนิดนี้ควรฉีดเดือนละครั้ง ฉีดไปนาน 3-5 ปี จึงจะพิจารณาหยุดฉีดได้ ในรายที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้ผลดีโดยได้ฉีดต่อเนื่องกันมาเกินระยะ 1 ปีแล้ว และได้ตรวจสอบแก้ไขสาเหตุต่างๆ จนแน่ใจแล้วว่า ไม่มีข้อผิดพลาด แสดงว่า การรักษาโดยวิธีนี้ไม่ได้ผลสำหรับผู้ป่วยรายนั้น และควรจะหยุดฉีดได้
- ข้อดี: เป็นการรักษาที่ตรงจุด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการมาก รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี รักษาได้หลายอาการ ทำให้อาการภูมิแพ้อื่นๆดีขึ้นด้วย
- ข้อเสีย: ขณะฉีดอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ทั่วร่างกายได้เช่นเดียวกับการแพ้ยา อาจต้องใช้เวลาฉีดกว่า 3-6 เดือน หรือนานกว่านั้น ต้องฉีดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจึงตะเห็นผล
อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป
คำถามพบบ่อย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.รุจิรา เทียบเทียม