psychiatrist vs psychologist treatment how to scaled

มีปัญหาทางใจ สุขภาพจิตแย่ ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาดี?

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตมีหลากหลายสาขาและมีชื่อเรียกที่คล้ายกัน โดยเฉพาะจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่หลายคนสงสัยปนสับสนว่าทั้งสองอาชีพนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร 

แล้วถ้าเรามีสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์ อยากไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ควรไปพบใครดี ระหว่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา บทความนี้มีคำตอบมาฝาก 

จิตแพทย์กับนักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์และนักจิตวิทยานั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตเหมือนกัน และส่วนมากมักทำงานร่วมกัน 

โดยมีจุดมุ่งหมายช่วยให้คนที่มาปรึกษาหรือรับการรักษามีสภาวะทางจิตใจดีขึ้น และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุด 

ความต่างของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะอยู่ที่การศึกษา ความเชี่ยวชาญ อำนาจในการวินิจฉัยโรค รวมถึงขอบเขตในการบำบัดรักษา โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

จิตแพทย์ (Psychiatrist)

การจะเป็นจิตแพทย์ก็ต้องจบจากคณะแพทยศาสตร์ แล้วจึงต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญและมีอำนาจในการตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตเวช รักษาด้วยยาและบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ และป้องกันโรคหรือปัญหาทางจิตใจที่มีความซับซ้อนหรือรุนแรงยิ่งกว่า

  • จบจากคณะแพทย์ศาสตร์ ต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ และมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ
  • สามารถสั่งตรวจหรือทดสอบ เพื่อวินิจฉัยโรคทางจิตเวชหรืออื่น ๆ ได้ เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ หรือการตรวจการทำงานของตับ   
  • รักษาหรือบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การบำบัดด้วยการพูดคุย การกระตุ้นไฟฟ้า (ECT) การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) หรือโคมไฟบำบัด
  • สามารถสั่งจ่ายยารักษาโรค เพื่อบรรเทาอาการจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ยาต้านเศร้า ยาต้านอาการทางจิต ยานอนหลับ ยาควบคุมอารมณ์ หรือยากล่อมประสาท    

นักจิตวิทยา (Psychologist)

นักจิตวิทยาจะจบการศึกษาจากคณะที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา ไม่ใช่คณะแพทย์โดยตรง จึงมุ่งไปที่การพูดคุย รับฟัง ให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยาผู้ที่มีปัญหาสภาพจิตใจและพฤติกรรม คลายปมปัญหาความสัมพันธ์หรือครอบครัว หรือช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น 

ส่วนการวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยยาถือเป็นข้อจำกัดของนักจิตวิทยา ที่ไม่สามารถทำได้เหมือนจิตแพทย์

  • จบจากคณะที่เกี่ยวข้องกับสาขาจิตวิทยาอย่างมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือจิตวิทยา และมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก
  • ไม่สามารถวินิจฉัยและสั่งจ่ายยารักษาโรคทางจิตเวชได้
  • เน้นรับฟัง ให้คำปรึกษา และบำบัดด้วยการพูดคุย (Psychotherapy) เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี (DBT) หรือการบำบัดสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (IPT)

จิตแพทย์กับนักจิตวิทยา ควรปรึกษาใคร?  

คนที่พบสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์ สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ได้ ขอแค่ไปปรึกษาก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี 

โดยทั้งสองสาขาอาชีพมักทำงานร่วมกัน เพื่อวางแนวทางการรักษาหรือการบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย อารมณ์ และความคิด ปัญหาสุขภาพที่กำลังเผชิญ และความรุนแรงที่ผู้ป่วยเป็น 

จากอำนาจหน้าที่และขอบเขตการทำงานที่มีส่วนต่างกัน ทำให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาเหมาะจะรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์ในลักษณะต่างกันเล็กน้อย 

โดยจิตแพทย์มักเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง หรือภาวะที่ส่งผลต่อสมอง อาการคงอยู่เป็นเวลานานหรือกลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา หรือผู้ป่วยที่แพทย์ทั่วไปแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ เช่น

  • โรคซึมเศร้าระดับรุนแรง
  • โรควิตกกังวลอย่าง โรคแพนิค หรือโรคกลัว (Phobias) 
  • กลุ่มอาการผิดปกติทางจิต เช่น โรคไบโพลาร์ หรือโรคจิตเภท 
  • โรคการกินผิดปกติ เช่น โรคคลั่งผอม หรือโรคล้วงคอ
  • โรคติดการพนัน
  • โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือโรค PTSD (Post-traumatic stress disorder) 
  • โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder: ADHD)
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder: OCD)  

ส่วนนักจิตวิทยาจะใช้การพูดคุยบำบัด เพื่อช่วยให้รับมือหรือควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมได้ดีขึ้น โดยเหมาะกับผู้ป่วยโรคจิตเวชเองด้วย อย่างโรคซึมเศร้า โรคแพนิค หรือโรคไบโพลาร์ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคอื่น ๆ หรือคนทั่วไปที่มีปัญหาทางใจหรือสุขภาพจิต เช่น

  • มีเหตุการณ์เครียดในชีวิต รู้สึกใช้ชีวิตลำบากและต้องการความช่วยเหลือ
  • มีปัญหาความสัมพันธ์ ครอบครัว การทำงาน หรือการเรียน
  • สูญเสียความมั่นใจหรือคุณค่าในตัวเอง 
  • มีบาดแผลทางใจ เผชิญกับการสูญเสียและโศกเศร้า
  • มีพฤติกรรมการดื่มสุราหรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ ที่ผิดปกติ
  • ควบคุมความเครียดหรือความโกรธไม่ได้
  • อาการซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด นอนไม่หลับ
  • ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย

หากยังไม่แน่ใจ ให้ลองสังเกตอาการของตัวเองแล้วจดบันทึก เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมในแต่ละวัน แล้วค่อยเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับความต้องการของเราที่สุด

สัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพจิตมีอะไรบ้าง? 

ตัวอย่างสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพจิตที่ชี้ว่าถึงเวลาไปพบแพทย์ ก่อนอาการจะแย่ลงหรือกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว เช่น 

  • เครียด วิตกกังวล หรือเศร้าจนไม่สามารถควบคุมได้
  • นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียไม่มีแรง
  • มีความคิดหรือพฤติกรรมรุนแรง ทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย
  • ติดสุราหรือสารเสพติด
  • เคยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์มาก่อน
  • เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ ไม่สามารถข้ามผ่านเหตุการณ์นั้นได้

นอกจากปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาล เรายังสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจผ่านทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ทางวิดีโอคอล หรือทางแอปพลิเคชันออนไลน์ของทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน

โดยให้จำไว้เสมอว่า การไปหาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ต่างจากการไปรักษาโรคทางกายกับแพทย์ทั่วไปเลย  

เลือกไม่ได้ว่าจะไปหาใคร จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา? ไม่ต้องห่วง แอดมิน HDmall.co.th พร้อมให้คำแนะนำ ที่นี่ 

หรือจะค้นหาแพ็กเกจดูแลจิตใจและอารมณ์จากผู้เชี่ยวชาญที่แมตช์กับอาการคุณ คลิกเลย โปรดี ๆ แบบนี้มีส่วนลดทุกการจองด้วยนะ! 

Scroll to Top