prostate cancer disease definition

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยเงียบของผู้ชายสูงวัย รู้จักอาการ สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เป็นมะเร็งอีกชนิดที่พบบ่อยในผู้ชายสูงวัย โดยเฉพาะในช่วง 50 ปีขึ้นไป อาการช่วงแรกอาจไม่เด่นชัดมากนัก ไม่ก็คล้ายคลึงกับอาการโรคอื่นในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้คุณผู้ชายหลายคนไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติเท่าไร บางคนกว่าจะรู้ตัวแล้วไปพบแพทย์ ก็เจอในระยะที่รักษาได้ยาก บทความนี้จะชวนทุกคนไปรู้จักกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคที่เป็นภัยเงียบของผู้ชายสูงอายุกัน

รู้จักกับต่อมลูกหมากและโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมไร้ท่อและเป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย อยู่ ด้านหน้าต่อกับทวารหนักและอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ มีท่อปัสสาวะบางส่วนล้อมรอบ หน้าที่สำคัญของต่อมลูกหมากคือ ผลิตสารที่ส่วนหนึ่งของน้ำอสุจิ ช่วยหล่อเลี้ยงอสุจิ และปกป้องสารพันธุกรรม (DNA) ของอสุจิ 

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย เกิดจากเซลล์บริเวณต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติอย่างต่อเนื่องจนควบคุมไม่ได้ ทำให้อุดตันท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ทำลายเซลล์ปกติของต่อมลูกหมากเอง และสามารถแพร่เซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะใกล้เคียง ปกติแล้ว มะเร็งชนิดนี้จะพบมากในผู้ชายสูงอายุ และโตได้ค่อนข้างช้า ทำให้การตรวจเจอในระยะแรกก่อน จะช่วยให้เพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดได้ 

อาการมะเร็งต่อมลูกหมาก 

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่หากมะเร็งเริ่งลุกลามอาจทำให้บางคนพบอาการต่อไปนี้

  • ปวดหน่วงบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ปัสสาวะออกยาก ปัสสาวะไหลเบา ไม่พุ่ง หรือปัสสาวะราดเท้า
  • มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ หรือน้ำอสุจิ
  • รู้สึกเจ็บปวดเมื่อถึงจุดสุดยอด
  • ปวดหลังส่วนล่าง ต้นขา หรือสะโพก
  • ปวดกระดูก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

คุณผู้ชายคนไหนที่มีอาการน่าสงสัยข้อใดข้อหนึ่งในข้างต้นเป็นเวลานาน หรืออาการกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัด เพราะอาการต้องสงสัยเหล่านี้อาจเกิดได้จากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเอง หรือปัญหาอื่น ๆ ของต่อมลูกหมากได้เช่นกัน 

สาเหตุโรคมะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร ใครเสี่ยงบ้าง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่พบหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนี้

  • อายุมากขึ้น มะเร็งต่อมลูกหมากเริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี แต่พบได้บ่อยเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ข้อมูลทางการแพทย์ชี้ว่า คนที่มีน้ำหนักตัวมากหรือมีโรคอ้วน จะเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้น
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งบางโรค คนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะญาติสายตรง อย่างพ่อ แม่ หรือพี่น้อง มักจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าคนทั่วไป

ต่อมลูกหมากอาจไม่มีอาการเตือน ตรวจคัดกรองได้ก่อนเมื่อถึงวัยเสี่ยง หาโปรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้ชาย HDmall.co.th รวมมาให้ครบ จองได้ก่อนในราคาโปรโมชั่น เลือกตรวจได้ทั้งคลินิกและ รพ. ใกล้บ้าน คลิกเลย

การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจจากอะไรได้บ้าง

การตรวจหาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถตรวจคัดกรองโรคก่อน หากผลการตรวจคัดกรองผิดปกติ แพทย์จะตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลและช่วยในการวางแผนการรักษาในขั้นต่อไป

การตรวจคัดกรองโรค

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี ในคนที่มีความเสี่ยงสูง หรืออายุ 50 ขึ้นไป การตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ สามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาได้ แบ่งได้เป็น 2 วิธี

  • การตรวจเลือดดูค่า PSA (Prostate Specific Antigen: PSA) หรือสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก สาร PSA เป็นสารที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก ปกติมักพบในเลือดปริมาณน้อย การตรวจพบค่า PSA ในเลือดสูงกว่าปกติ อาจมีแนวโน้มที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมีปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก 
  • การตรวจต่อมลูกหมากผ่านทวารหนัก (Digital Rectal Exam: DRE) เป็นการคลำดูลักษณะและขนาดของต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะสวมถุงมือและใช้นิ้วสอดเข้าไปทางทวารหนัก ซึ่งลักษณะและขนาดของต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นกัน แพทย์มักแนะนำให้ตรวจวิธีนี้ควบคู่ไปกับการตรวจเลือดดูปริมาณ PSA หรือตรวจหลังจากตรวจเลือดเมื่อผลเลือดผิดปกติ 

แม้ว่าการตรวจในข้างต้นอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพของต่อมลูกหมากได้ แต่จำเป็นต้องตรวจวิธีอื่น และตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม เพราะอาจมีปัญหาสุขภาพอื่นที่คล้ายคลึงกันได้ 

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค

การตรวจวินิจฉัยจะทำต่อเมื่อผลการตรวจคัดกรองชี้ว่า มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูง ซึ่งแพทย์จะตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันโรคด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound: TRUS) เป็นการตรวจโดยสอดหัวตรวจเข้าไปทางทวารหนักให้ใกล้กับต่อมลูกหมาก ซึ่งหัวตรวจนั้นจะปล่อยคลื่นความถี่สูงให้กระทบกับต่อมลูกหมาก แล้วสะท้อนกลับมาเป็นภาพ ทำให้มองเห็นความผิดปกติในต่อมลูกหมากได้ 
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นการตรวจต่อมลูกหมากด้วยเครื่องที่ปล่อยคลื่นสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อช่วยในการถ่ายภาพของต่อมลูกหมาก ทำให้มองเห็นรายละเอียดของต่อมลูกหมากได้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้แพทย์ตรวจการแพร่กระจายของมะเร็ง ดูตำแหน่งของมะเร็ง และช่วยในการวางแผนการรักษาได้เหมาะสม
  • การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก กรณีพบก้อนที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็ง แพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษในการเก็บชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ 

นอกจาการตรวจวินิจฉัยในข้างต้นอาจมีการตรวจอื่น ๆ อย่างการสแกนกระดูก การตรวจต่อมลูกหมากด้วยเครื่องซีที สแกน (CT Scan) หรือการตรวจต่อมลูกหมากด้วยเครื่องเพท สแกน (PET Scan) ซึ่งแพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย  

ระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีอยู่ 4 ระยะด้วยกัน แต่สามารถจัดระยะของโรคง่าย ๆ ตามตำแหน่ง ความรุนแรง และการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้ดังนี้

  • ระยะที่ 1 และ 2 หรือจะเรียกเป็นระยะแรก เป็นระยะที่มะเร็งจะพบได้แค่เฉพาะบริเวณต่อมลูกหมากเท่านั้น ยังไม่ได้กระจายไปยังบริเวณอื่น ซึ่งระยะนี้มีโอกาสในการรักษาหายขาด
  • ระยะที่ 3 หรือระยะลุกลามเฉพาะที่ เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียงต่อมลูกหมาก แต่ยังไม่แพร่ไประบบอื่น
  • ระยะที่ 4 หรือระยะลุกลาม เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะและระบบอื่น เช่น กระดูก ตับ และต่อมน้ำเหลือง 

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีวิธีไหนบ้าง

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากรักษาได้หลายวิธี แพทย์จะประเมินจากระยะของโรคมะเร็ง ความรุนแรง ความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย และปัจจัยอื่น ๆ ร่วมกับพูดคุยกับตัวผู้ป่วยด้วย ก่อนเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่มักใช้มีดังนี้

การติดตามอาการ ผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่รุนแรงหรือความเสี่ยงที่มะเร็งจะแพร่กระจายต่ำ แพทย์อาจยังไม่เริ่มการรักษาทันที แต่จะใช้การติดตามอาการ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของมะเร็ง ซึ่งเนื้องอกที่ไม่รุนแรงอาจยุบตัวไปเองได้

การผ่าตัด แพทย์จะผ่าตัดต่อมลูกหมากส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็งและเนื้อเยื่อโดยรอบออก เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของมะเร็ง การผ่าตัดถือเป็นการรักษาหลักของมะเร็งต่อมลูกหมาก มีทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง และอาจรักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย

รังสีรักษาหรือการฉายรังสี (Radiation Therapy) วิธีนี้เป็นการใช้แสงที่มีพลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง มีทั้งการฝั่งแร่ในต่อมลูกหมาก และการฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต่อมลูกหมากว่าเป็นมะเร็งความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง หรือสูง ซึ่งการรักษาด้วยการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะต้น สามารถช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ดีเหมือนการผ่าตัด

ฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy) เป็นการรักษาโดยควบคุมการผลิตฮอร์โมนเพศชาย เพราะฮอร์โมนเพศชายมีส่วนสำคัญในการเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะฉีดยาหรือฮอร์โมนบางชนิด เพื่อลดการผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรือยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรืออาจผ่าตัดเอาอัณฑะออก เพื่อไม่ให้ผลิตฮอร์โมนเพศชาย จึงชะลอการขยายตัวของมะเร็งได้

เคมีบำบัด (Chemotherapy) เคมีบำบัดหรือการให้คีโม เป็นการรักษาโดยให้ยาเคมีผ่านทางหลอดเลือดดำเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง มักใช้กับผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลามหรือรักษาด้วยฮอร์โมนแล้วไม่ได้ผล 

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษามะเร็งโดยใช้หลักการของระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการให้ยาเข้าไปกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผู้ป่วยทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น สามารถใช้เป็นการรักษาเดี่ยวหรือใช้รักษาร่วมกับวิธีอื่น

ยามุ่งเป้า (Targeted Drug Therapy) เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้แบบเฉพาะจุด ซึ่งอาจใช้ในมะเร็งระยะที่เริ่มลุกลาม หรือรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัดไม่ได้ผล

ในระหว่างการรักษาตัว ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังอาการตนเองอย่างใกล้ชิด ดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ และไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามอาการและผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากเป็นมะเร็งในระยะต้นมักมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ สำหรับมะเร็งในระยะลุกลาม แม้ไม่อาจรับรองได้ว่าจะรักษาให้หายขาด แต่ก็ยังสามารถควบคุมอาการของโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้    

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ป้องกันได้ไหม

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพ และเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรคบางอย่าง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ กินอาหารไขมันสูงให้น้อยลง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อถึงช่วงวัย

มะเร็งต่อมลูกหมาก รู้เร็ว รักษาได้ เช็กความเสี่ยงได้ก่อน หาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ราคาประหยัด ที่ HDmall.co.th ถูกกว่าจองตรงด้วยตัวเอง คลิกเลย หรืออยากให้แอดมินช่วยแนะนำแพ็เกจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมบริการทางไลน์ทุกวัน ทักเลย

Scroll to Top