การถอดเล็บเป็นสิ่งที่อาจต้องทำในการรักษาความผิดปกติของเล็บในหลายกรณีที่เกิดการกระทบกระแทกหรือความผิดรูปของเนื้อเยื่อรองเล็บหรือฐานเล็บ
สารบัญ
ความผิดปกติอะไรบ้างที่ทำให้ต้องถอดเล็บ?
ภาวะ อาการ ความผิดปกติที่อาจต้องรักษาด้วยการถอดเล็บ มีดังนี้
- การอักเสบรอบเนื้อเล็บเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
- เล็บงอกโค้งผิดปกติ
- ติดเชื้อราที่เล็บ แบบที่ทำให้เล็บเกิดความเสียหายรุนแรง
- เล็บขบ หมายถึง การงอกของเล็บทิ่มเข้าในเนื้อปลายเล็บ
- การจิกตนเองและทำให้เกิดความเสียหายต่อเล็บ
- สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกต่างๆ ใต้เล็บ หรือมีเม็ดสีที่เล็บ
- เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียใต้เล็บที่ต้องการการระบายหนอง
สองภาวะหลังจะต้องทำหัตถการหลังจากถอดเล็บ เช่น การตัดชิ้นเนื้อหรือการระบายหนอง
อย่างไรก็ตาม แม้คนไข้ได้รับการวินิจฉัยโรคต่างๆเหล่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรับการรักษาด้วยการถอดเล็บเสมอไป โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ยาเฉพาะที่ หรือภาวะเลือดออกผิดปกติ ขึ้นกับแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป
บางกรณีอาจมีการรักษาด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสมกว่า อีกทั้งในการถอดเล็บ อาจจะถอดเพียงบางส่วน หรือถอดทั้งเล็บ ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาเช่นกัน
ถอดเล็บเจ็บไหม?
หัตถการการถอดเล็บเป็นหัตถการที่เจ็บ แพทย์จำเป็นจะต้องฉีดยาชาเฉพาะที่อย่างถูกต้องและเพียงพอเพื่อระงับความเจ็บปวด จากนั้นคนไข้จะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด
ขั้นตอนการถอดเล็บมีอะไรบ้าง?
ขั้นตอนการถอดเล็บมีดังนี้
- ทำความสะอาดบริเวณเล็บด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งรอบเล็บ และนิ้ว
- ฉีดยาชาเฉพาะที่ บริเวณนิ้วที่จะทำการถอดเล็บ
- รัดข้อนิ้วเพื่อป้องกันการไหลของเลือดในขณะทำการถอดเล็บ และเพือเป็นการป้องกันการขาดเลือด จะต้องในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะให้คนไข้ใส่ถุงมือปราศจากเชื้อและตัดถุงมือบริเวณนิ้วมือที่ทำ เพื่อม้วนรัดที่โคนนิ้ว
- ปูผ้าสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมทำการถอดเล็บ
- แพทย์ทำการถอดเล็บ จากส่วนปลายเล็บมายังโคนเล็บ โดยขึ้นกับโรคว่าถอดเพียงบางส่วนหรือถอดเล็บทั้งเล็บ
- ปลดการรัดข้อนิ้วออกเมื่อทำการถอดเล็บเสร็จ หรือแพทย์อาจทำการคลายการรัดสักพักหากทำไม่เสร็จในเวลาที่กำหนด จากนั้นกดห้ามเลือดที่เล็บไว้ แล้วรัดข้อนิ้วต่อเมื่อจะทำหัตถการต่อ
- ทำการพันเล็บ บางครั้งแพทย์หรือพยาบาลอาจพันแผลแบบรัดแน่นเพื่อห้ามเลือดราวๆ 5-10 นาที ก่อนจะปิดแผล
จะถอดเล็บ ต้องไปหาหมออะไร?
แพทย์เฉพาะทางที่สามารถทำการถอดเล็บ ได้แก่ แพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์ โดยความชำนาญในการถอดเล็บของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียของเล็บที่งอกใหม่ตามมา เช่น เล็บงอกผิดรูป
นานไหมกว่าเล็บจะขึ้น?
การงอกของเล็บโดยปกติจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
- อัตราการงอกของเล็บมือ จะยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตรต่อเดือน และจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจึงจะครบทั้งเล็บ
- อัตราการงอกของเล็บเท้า จะยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อเดือน และอาจใช้เวลาถึง 18 เดือนจึงจะครบทั้งเล็บ
อย่างไรก็ตาม ภาวะบางอย่างอาจทำให้เล็บงอกช้ากว่าปกติ เช่น สูงอายุ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น คางทูม วัณโรค เป็นโรคเชื้อราที่เล็บอยู่เดิม มีภาวะขาดสารอาหาร เป็นไข้ เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือรับประทานยาบางอย่างที่มีผลทำให้เล็บงอกช้า เช่น L-Dopa, Methotrexate, Calcium, vitamin D, Azathioprine, Etretinate/Acitretin (ยกเว้นในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน ยาตัวหลังนี้กลับมีผลทำให้เล็บงอกเร็วกว่าปกติ)
วิธีดูแลตัวเองหลังการถอดเล็บ
การดูแลตัวเองหลังจากถอดเล็บ มีหลักสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ การดูแลบาดแผล การดูแลหากมีเลือดออก การดูแลหากเจ็บปวดที่แผล สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และการเฝ้าระวังการติดเชื้อ
- การดูแลที่บาดแผล ทำได้ดังนี้
- รักษาแผลให้แห้งอยู่เสมอ เลี่ยงการโดนน้ำ จนกว่าแพทย์จะให้เปิดแผลและอาบน้ำตามปกติ
- ทำความสะอาดบริเวณแผลอย่างเบามือ อาจใช้สบู่และน้ำผ่านแผล แต่ไม่ขัดถู
- ให้ความชุ่มชื้นแก่แผล โดยอาจทาวาสลีนและปิดแผล
- การดูแลเมื่อกลับไปแล้วเลือดออก ทำได้ดังนี้
- ทำการกดห้ามเลือดประมาณ 20 นาที โดยกดต่อเนื่อง ไม่คอยเปิดดูแผล เนื่องจากอาจจะทำให้เลือดยังไหลต่อ หากยังไม่หยุดให้ทำการกดซ้ำ
- หากเลือดยังคงไหลไม่หยุด ให้กลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
- การดูแลหากเจ็บปวดที่แผล ทำได้ดังนี้
- ยกบริเวณแผลให้สูงหลังถอดเล็บ ซี่งจะช่วยทั้งอาการปวด บวม และเลือดออก
- หากเป็นการถอดเล็บเท้า หลังทำให้ใส่รองเท้าที่เปิดหัวบริเวณเล็บที่ถอด เช่น รองเท้าแตะ
- รับประทานยาเบื้องต้นในการระงับปวด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และ/หรือประคบเย็น ได้นานถึง 20 นาที ทำได้ทุกชั่วโมง
- สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังจากถอดเล็บ มีดังนี้
- เลี่ยงการโดนน้ำที่เสี่ยงต่อการสกปรก เช่น แหล่งน้ำธรรมชาติ ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำหากต้องลงสระว่ายน้ำ หรือรอให้แผลหายสนิทก่อน
- ลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทกบริเวณที่ทำการถอดเล็บ เช่น การวิ่ง จนกว่าแผลจะหาย
- การเฝ้าระวังการเกิดการติดเชื้อ ทำได้ดังนี้
- เมื่อมีภาวะที่สงสัยว่าจะเกิดการติดเชื้อ เช่น ปวด บวม แดง ร้อน หรือมีหนองออกจากบาดแผลควรรีบไปพบแพทย์
- การที่มีไข้ร่วมด้วยหรือมีอาการปวดกระจายไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ บาดแผล อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
เขียนบทความโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ