เสมหะ คือเยื่อเมือก ที่ปกติจะอยู่ในลำคอ ปอด จมูก และโพรงอากาศในกะโหลกศีรษะอยู่แล้ว แต่เมื่อมีอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นหวัด ร่างกายก็จะยิ่งผลิตเสมหะออกมามากขึ้น เวลาที่ไม่สบาย เสมหะจะยังแยกออกมาได้หลายสีตามอาการป่วยด้วย หากเข้าใจจะทำให้ทราบว่ากำลังเป็นโรคอะไรอยู่และควรไปพบแพทย์หรือไม่
สารบัญ
สีของเสมหะ ช่วยบอกโรคอะไรได้บ้าง
1. เสมหะสีใส
เสมหะสีใสเป็นเสมหะที่ร่างกายผลิตออกมาทุกวันอยู่แล้ว ประกอบไปด้วยโปรตีน น้ำ และสารภูมิคุ้มกัน คอยหล่อลื่นและช่วยให้ระบบทางเดินหายใจชุ่มชื้น
ถ้ามีเสมหะสีใสเยอะขึ้น ร่างกายอาจบอกเราว่ากำลังชะล้างหรือกำจัดสิ่งสกปรกให้อยู่ เช่น สารระคายเคือง สารก่อภูมิแพ้ หรือเชื้อไวรัส
โรคที่ทำให้เสมหะสีใสเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ หรือโรคปอดอักเสบ
2. เสมหะสีเขียวหรือสีเหลือง
บางครั้ง การมีเสมหะค้างในลำคอเป็นเวลานานก็ทำให้เสมหะกลายเป็นสีเขียวหรือเหลืองได้ เช่น เสมหะหลังตื่นนอนตอนเช้า แล้วกลับมาเป็นสีใสในช่วงเวลาอื่นของวัน ซึ่งไม่ถือเป็นอาการผิดปกติ
แต่บางครั้ง การมีเสมหะสีเขียวหรือสีเหลือง อาจร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคอยู่ ซึ่งสีเขียวกับสีเหลืองนี้มาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่คอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคทำอันตรายต่อร่างกายเรานั่นเอง
อาจสังเกตได้ว่า ช่วงแรก ๆ ที่มีเสมหะ เสมหะจะเป็นสีเหลืองก่อน แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่อาจจะเพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นระยะเวลาในการขับเชื้อโรคที่ยาวนานขึ้นก็ได้
โรคที่มักทำให้เกิดเสมหะสีเขียวหรือสีเหลือง ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบ โรคทางพันธุกรรมอย่างโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) อาการปอดบวม หรือภาวะไซนัสอักเสบ
3. เสมหะสีแดงหรือสีชมพู
เมื่อเลือดปนมากับเสมหะ เสมหะจะกลายเป็นสีแดงหรือสีชมพู อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การระคายเคืองจากสารต่าง ๆ
- การบาดเจ็บบริเวณจมูก ลำคอ และทางเดินหายใจ
- โรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคฝีในปอด โรคมะเร็งปอด โรคปอดอักเสบ โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) หรือการติดเชื้อวัณโรค
4. เสมหะสีน้ำตาล
เสมหะสีน้ำตาลมักมาจากเลือดเก่าที่ยังคั่งอยู่ในลำคอ จะเกิดขึ้นหลังจากมีเสมหะสีแดงหรือสีชมพู
โรคที่มักทำให้เกิดเสมหะสีน้ำตาล ได้แก่ อาการปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) โรคฝีในปอด หรือโรคฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis)
5. เสมหะสีขาว
เสมหะสีขาวอาจเกิดได้จากร่างกายกำลังกำจัดเชื้อแบคทีเรีย พยายามรับออกซิเจนให้เพียงพอ หรือเป็นของเหลวจากอาการบวมน้ำ โดยเป็นผลมาจากโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคกรดไหลย้อน หรือภาวะหัวใจล้มเหลว
ถ้ามีเสมหะสีขาวร่วมกับอาการหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ การกินผลิตภัณฑ์จากนมเยอะ ๆ ก็จะทำให้น้ำมูกไหลลงคอเป็นสีขาวออกขุ่นได้เหมือนกัน เพราะในนมมีไขมันที่จะทำให้น้ำมูกเหนียวข้นนั่นเอง
6. เสมหะสีดำ
เสมหะสีดำ (Melanoptysis) มักเกิดจากการที่ร่างกายเผลอรับสารสีดำบางอย่างเข้าไปเป็นจำนวนมาก เช่น ควันดำ หรืออาจเป็นสัญญาณบอกว่าร่างกายกำลังติดเชื้อรา (Fungal infection) อยู่
เสมหะสีดำเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งโรค อาการเจ็บป่วย หรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม
โรคหรือสภาวะที่มักทำให้เกิดเสมหะสีดำ เช่น โรคติดเชื้อรา ฝีในปอด โรคฝุ่นจับปอด โรคหอบหืด โรคไซนัสอักเสบ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในลำคอ อย่างซิฟิลิส การมีพังผืดหรือก้อนเนื้องอกในลำคอ รวมถึงการอาเจียนบ่อย ๆ ก็มีส่วนเหมือนกัน
พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมบางอย่างก็ทำให้เกิดเสมหะได้ เช่น
- อยู่ในที่ที่อากาศร้อนหรือแห้งเกินไป
- ใช้เสียงพูดมาก หรือใช้เสียงผิดวิธี ทำให้จมูกกรองสารระคายเคือง และปรับอากาศที่หายใจเข้าไปให้อุ่นชื้นขึ้นไม่ได้
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
- ดื่มน้ำน้อย
- ดื่มเครื่องดื่มประเภทที่มีคาเฟอีนมากเกินจำเป็น
- สูบบุหรี่
มีเสมหะ รักษายังไงดี
- ยาแก้คัดจมูก ทำให้หลอดเลือดในทางเดินหายใจหดตัว เลือดจึงไหลเวียนน้อยลง ช่วยลดปริมาณการผลิตเสมหะในจุด ๆ นั้นลงได้ ถ้าใช้ยาเกินขนาด ก็จะส่งผลให้เยื่อเมือกแห้งจนผลิตเสมหะออกมาเหนียวข้น และอาจเจอผลข้างเคียงได้ เช่น เวียนศีรษะ อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย หรือความดันโลหิตสูง
- ยาแก้แพ้ จะขัดขวางหรือลดการทำงานของฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้นขณะมีอาการแพ้ มักมีผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ ปากแห้ง หรือปวดศีรษะ
- การล้างจมูก คือการใช้หลอดฉีดยาหรือขวดบีบผสมน้ำเกลือฉีดเข้าไปในรูจมูกเพื่อล้างเมือกส่วนเกินออก โดยทำให้เมือกในโพรงจมูกขยายตัว พอขับออกมา ปริมาณเมือกก็จะลดลง และจะช่วยกำจัดสารภูมิแพ้ออกจากจมูกด้วย
ถ้าไม่อยากล้างจมูกหรือใช้ยาบ่อย ๆ การลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดเสมหะได้เหมือนกัน เช่น
- งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มคาเฟอีนชั่วคราว
- อาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะไอความอุ่นชื้นจากน้ำจะเข้าไปช่วยเปิดทางเดินหายใจในลำคอ ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
- จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ
- งดดื่มน้ำเย็นชั่วคราว
- กินผลไม้ที่มีใยอาหาร รวมถึงอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ จะช่วยให้เสมหะลดลง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศมาก ร่างกายจะได้ไม่รับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเข้าไปเพิ่ม
การมีเสมหะเยอะ แปลว่าร่างกายกำลังบอกว่าคุณดูแลเขาได้ไม่ดีพอ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเสมหะมากขึ้น ก็เป็นการดูแลตัวเองง่าย ๆ ที่คุณทำได้ เพื่อไม่ให้เสมหะมากวนใจ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ภกญ. เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์