ไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะที่พบบ่อย และเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ส่งผลกระทบทั้งการทำงานและชีวิตประจำวัน เพราะต้องรับมือกับอาการปวดที่เพิ่มระดับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหากเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เสียสุขภาพจิตและอาจเกิดความวิตกกังวลถึงการเป็นโรคร้ายอื่นๆ ได้
HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับไมเกรน มาฝากกัน เพื่อให้ผู้มีอาการปวดศีรษะ ไม่กังวลมากเกินไป และสามารถแยกแยะได้ว่า อาการปวดศีรษะของตนจัดเป็น ‘ไมเกรน’ หรือไม่
สารบัญ
ปวดศีรษะไมเกรนคืออะไร?
ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) คือ อาการปวดศีรษะซ้ำๆ ข้างเดียว และปวดรอบกระบอกตา โดยบางครั้งอาจลามไปปวดทั้งสองข้างหรือปวดสลับซ้ายขวา มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียงเกิดขึ้นด้วย ระยะเวลาของอาการปวดโดยทั่วไปจะไม่เกิน 1 วัน แต่ก็มีบางรายที่อาจปวดนาน 2-3 วันได้
การปวดศีรษะไมเกรน มีสาเหตุมาจากระบบไฟฟ้าที่ผิวสมองเกิดความผิดปกติ ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าปกติ ซึ่งการกระตุ้นของกระแสไฟฟ้านี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดและระบบประสาทของสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้น
ไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine Without Aura) เป็นการปวดแบบเฉียบพลัน ไม่มีสัญญาณล่วงหน้าใดๆ โดยทั่วไป ผู้มีอาการไมเกรนมักเป็นแบบที่ไม่มีอาการเตือน
- ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine With Aura) เป็นการปวดที่มีอาการเตือนก่อน อาการที่พบทั่วไป ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นคล้ายฟันเลื่อย อาจมีหรือไม่มีสี เห็นภาพมืดบางส่วน เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพบิดเบี้ยว เป็นต้น และอาจมีอาการเตือนอื่น เช่น อาการชาที่มือ แขน หรือรอบปาก พูดไม่ได้ชั่วคราว อาการอ่อนแรงของแขนและขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
อาการปวดศีรษะไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรนพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3.5 เท่า ซึ่งไมเกรนถือเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่มีอาการ
อาการของไมเกรนที่พบโดยทั่วไป ได้แก่
- อาการปวดหัวตุ้บๆ บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจทั้งสองข้างก็ได้
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง
- บางรายอาจมีอาการปวดรอบกระบอกตาและตาพร่ามัว
อาการปวดศีรษะไมเกรน แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome) จะเกิดในช่วง 1-2 วันแรกก่อนปวดศีรษะไมเกรน มีอาการดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือ ภาวะเคลิ้มสุข เป็นต้น
- อยากอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ
- ปวดตึงบริเวณคอ
- กระหายน้ำบ่อย
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- หาวบ่อยกว่าปกติ
- ท้องผูก
2. ระยะอาการเตือน (Aura) เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นก่อนหรือพร้อมกับการปวดไมเกรนก็ได้ และอาจเกิดหลายอาการพร้อมกัน ได้แก่
- การมองเห็นแสงกะพริบ หรือสายตาพร่ามัว
- มองเห็นแสงลักษณะซิกแซก เป็นคลื่น หรือเป็นจุดแสงวาบ
- การมองเห็นภาพรูปทรงต่างๆ ผิดขนาด
- การเกิดความผิดปกติของร่ายกายด้านอื่น เช่น การเคลื่อนไหวผิดปกติ พูดลำบาก กล้ามเนื้อคล้ายจะอ่อนแรง ชาที่มือหรือเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น และจะมีความรู้สึกต่อเนื่องเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง
3. ระยะที่เกิดอาการปวดศีรษะ (Headache) มีอาการ ดังนี้
- ปวดศีรษะตุ้บๆ ข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง บริเวณขมับ โดยอาการปวดรุนแรงตั้งแต่ปานกลางถึงมาก
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม
- ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ซึ่งจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น
- หากทำกิจวัตรที่เคลื่อนไหว เช่น การเดินหรือขึ้นบันได จะทำให้ปวดศีรษะมากขึ้น
- อาการปวดศีรษะจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 4 ชั่วโมง จนเป็นวัน และหากไม่ได้รับการรักษาจะนานกว่านี้
4. ระยะที่หายจากการปวดศีรษะ (Postdrome) เป็นระยะที่เกิดหลังจากการปวดศีรษะไมเกรน โดยมีอาการดังนี้
- สับสบ มึนงง
- รู้สึกหงุดหงิด
- เวียนศีรษะ
- อ่อนล้า อ่อนแรง
อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะไมเกรนอาจมีไม่ครบทั้ง 4 ระยะ หรืออาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ไม่มีอาการเตือนใดๆ ก็ได้ แต่หากมีอาการเตือน อาการจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเกิดอาการต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ก่อนจะปวดศีรษะ
สาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่
- อารมณ์ด้านลบ เช่น เครียด วิตกกังวล ช็อก หรือซึมเศร้า เป็นต้น
- สภาพร่ายกาย เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือออกกำลังกายที่ใช้พลังมากเกินไป เป็นต้น
- อาหาร เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีน ได้แก่ เนยแข็ง หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไนไตรท์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน น้ำตาลเทียม การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มชากาแฟ หรือการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น มีแสงสว่างจ้า มีเสียงดัง มีกลิ่นฉุนรุนแรง มีบรรยากาศร้อนอบอ้าวหรือร้อนชื้น และได้รับควันนบุหรี่ในห้องแบบปิด เป็นต้น
- อาการออฟฟิศซินโดรม หรือโรคพังผืดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือก้มหน้านานๆ หรือ อาการกล้ามเนื้อบริเวณคอตึง
- อาการปวดรอบเดือนของผู้หญิงบางคนอาจเป็นสาเหตุของการปวดไมเกรนได้
- ภาวะหลังการคลอดบุตร โดยช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะสูงขึ้น และลดลงหลังคลอดบุตร เมื่อฮอร์โมนลดลง ก็อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
รักษาไมเกรนมีกี่วิธี?
การรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน จะขึ้นอยู่กับความถี่และความรุนแรงของการปวดศีรษะ โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งปัจจุบันมี 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. การรักษาไมเกรนด้วยยา
มีการใช้ยาหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ดังนี้
- ยาบรรเทาอาการปวดกรณีอาการไม่รุนแรงหรือปานกลาง ผู้มีอาการสามารถใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดอื่นๆ ช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้
- ยาบรรเทาอาการปวดสำหรับอาการปวดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นยาแก้ปวดสำหรับผู้มีอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะ ได้แก่ ยาเออร์กอต (Ergots) ที่มีส่วนผสม 2 ตัวระหว่างยาคือ เออร์โกตามีนและคาเฟอีน
- ยาสำหรับบรรเทาอาการปวดไมเกรน และอาการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อาการคลื่นไส้ อาการไวต่อแสงและเสียง ยาประเภทนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) มีทั้งประเภทยาเม็ด ยาพ่น และยาฉีด เช่น ยาซูมาทริปแทน ยาริซาทริปแทน ยาอีลีทริปแทน เป็นต้น
2. การรักษาด้วยการฝังเข็ม
เป็นศาสตร์แพทย์แผนจีน ที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองว่า สามารถรักษาโรคไมเกรนได้ ซึ่งใช้หลักการเลือกตำรับจุดฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะ โดยพิจารณาจากเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องทั้งตำแหน่งที่ปวด และสาเหตุที่ปวด
โดยในเบื้องต้นแพทย์จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของอาการปวดศีรษะ จากความผิดปกติภายในร่างกาย โดยแพทย์ศาสตร์จีนพบสาเหตุการปวดศีรษะมาจาก
- เกิดจากการติดขัดจึงทำให้เกิดอาการปวด เรียกว่ากลุ่มอาการเกร็ง เช่น มีการติดขัดของลมปราณไหลเวียนไม่สะดวก เลือดคั่ง ซึ่งอาการติดขัดอาจรวมถึง อารมณ์โกรธ หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
- เกิดจากสมรรถภาพการทำงานของระบบร่างกายลดลง หรือขาดการบำรุง เรียกว่ากลุ่มอาการบกพร่อง เช่น รับประทานอาหารมันๆ การสร้างเลือดไม่ดี การเจ็บป่วยเรื้อรัง การทำงานหนักหรือเครียดเกินไป เป็นต้น
เมื่อทราบสาเหตุแล้ว แพทย์แผนจีนจะใช้เทคนิคฝังเข็ม ได้แก่ การฝังเข็มเพื่อกระตุ้นให้การบำรุงในจุดที่บกพร่อง หรือฝังเข็มเพื่อระบายลมปราณให้ไหลเวียนดีขึ้น โดยใช้เข็มขนาดเล็กพิเศษฝังลงไปที่จุดเส้นประสาทที่เป็นการเปิดทวารสมอง ทะลวงลมปราณ เพื่อระบาย และบำรุงสมอง
3. การรักษาด้วยการนวดแผนไทยรักษาโรคเฉพาะจุด
ในทางการแพทย์แผนไทย โรคปวดศีรษะไมเกรน มีชื่อเรียกว่า โรคลมปะกัง หรือลมตะกัง เป็นกลุ่มอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดลมไปเลี้ยงบริเวณศีรษะไม่สะดวก จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณศีรษะ เบ้าตา กระบอกตา และขมับ และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเกิดขึ้นด้วย
สำหรับการรักษาโดยใช้วิธีการนวดแผนไทยรักษาโรคเฉพาะจุด เป็นการนวดกดจุดเพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่และกล้ามเนื้อรอบศีรษะ ซึ่งจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงศีรษะได้มากขึ้น และยังช่วยปรับการไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกายให้ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้จะมีการประคบร้อนด้วยลูกประคบสมุนไพรด้วย ซึ่งจะเสริมประสิทธิภาพของการคลายกล้ามเนื้อจากการนวดได้มากขึ้น และกลิ่นของสมุนไพรยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ความกังวลด้วย โดยอาจใช้สมุนไพรสำหรับรับประทานร่วมด้วย เช่น ยาหอม หรือสมุนไพรอื่น เพื่อแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้หลับสบาย และช่วยปรับสมดุลของเลือดลมภายในร่างกายให้เป็นปกติ
ข้อดีและข้อเสียรักษาไมเกรนแต่ละแบบ
การรักษาไมเกรนด้วยยา
ข้อดีของการรักษาไมเกรนด้วยยา
- บรรเทาอาการได้ตรงจุดในเวลาอันรวดเร็ว
- ระงับอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้มีอาการปวดไมเกรนขั้นรุนแรง
ข้อเสียของการรักษาไมเกรนด้วยยา
- อาจทำให้เกิดแผลเปื่อยหรือแผลอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน
- อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน
- อาจเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่มีเหตุมาจากการใช้ยาแก้ปวดได้ เมื่อใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน
- อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้ ในกรณีใช้ยาสำหรับผู้มีอาการไมเกรนโดยเฉพาะ
- อาจทำให้เกิดอาการเลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายได้
การรักษาไมเกรนด้วยการฝังเข็ม
ข้อดีของการรักษาไมเกรนด้วยการฝังเข็ม
- ทำให้อาการปวดลดน้อยลง และระยะเวลาในการปวดสั้นลงด้วย
- หากรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด
ข้อเสียของการรักษาไมเกรนด้วยการฝังเข็ม
- ไม่สามารถระงับหรือบรรเทาอาการปวดได้ทันที จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดขั้นรุนแรง
- ใช้ระยะเวลาในการรักษา ซึ่งอาการจะค่อยๆ บรรเทาลงทีละน้อย
- ไม่ใช่วิธีป้องกัน จึงมีโอกาสกลับมามีอาการซ้ำได้
การรักษาไมเกรนด้วยการนวดแผนไทย
ข้อดีของการรักษาไมเกรนด้วยการนวดแผนไทย
- ปรับการไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกายให้ดีขึ้น และช่วยให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะได้มากขึ้น
- หากรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด
ข้อเสียของการรักษาไมเกรนด้วยการนวดแผนไทย
- ไม่สามารถระงับอาการปวดได้ทันที
- ใช้ระยะเวลาในการรักษา ขึ้นอยู่กับการภาวะร่างกายของแต่ละคน
การดูแลตัวเองหลังรักษาไมเกรน
ปัจจุบันไมเกรน ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นเพียงการช่วยบรรเทา และระงับอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมเดิม ก็สามารถกลับมามีอาการได้อีกตลอดเวลา
ดังนั้นการดูแลตัวเองหลังรักษาไมเกรนจึงมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดไมเกรนขึ้นอีก ด้วยการลดความถี่ของการเกิดไมเกรน และลดระยะเวลาการปวดแต่ละครั้งให้สั้นลง โดยวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดไมเกรนซ้ำ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงสภาวะที่กระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ปรับพฤติกรรมการนอนและสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการนอน เช่น นอนในที่มืดและเงียบสงบ
- ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายทั้งร่ายกายและจิตใจ
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ไมเกรนแบบไหนควรไปพบแพทย์
อาการหรือสัญญาณของไมเกรนที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้
- ปวดศีรษะบ่อย หรือปวดครั้งละนานๆ แม้จะปวดไม่มาก
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยคอ พร้อมกับมีไข้
- มีอาการสับสนมึนงง อาการชัก หรืออ่อนแรง
- มองเห็นภาพซ้อน
- พูดติดขัด อย่างชัดเจน
- ปวดศีรษะเรื้อรัง
- อาการปวดศีรษะในผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี
ผู้มีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาช้า อาจทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น นานขึ้น และถี่ขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดอีกต่อไป
แม้ปัจจุบัน ไมเกรน ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่ก็มีความจำเป็นต้องรักษาเพื่อไม่ให้กระทบกับชีวิตประจำวัน ทั้งยังสามารถลดความรุนแรง ลดระยะเวลา ตลอดจนลดความถี่ของอาการปวดศีรษะได้