“กินยาเยอะ ระวังตับไตพัง” ประโยคคุ้นหูที่มักได้ยินกัน แล้วถ้ามีโรคประจำตัวต้องกินยาเป็นประจำล่ะ ไม่กินก็ไม่ได้ แล้วตับไตจะเป็นแบบไหน วันนี้มาไขข้อสงสัย ยาเป็นอันตรายกับตับและไตของเราจริงหรอ ถ้าต้องกินยา กินยังไงให้ปลอดภัย ตับยังทำงานได้ดี ไตไม่พังเสียก่อน
สารบัญ
ตับและไต ทำหน้าที่อะไร
ก่อนจะไปพูดถึงการกินยา เรามารู้จักกับหน้าที่ของตับและไตกัน ตับมีหน้าที่หลายอย่าง เช่น เป็นแหล่งสะสมพลังงาน ช่วยกรองของเสียและสารพิษออกจากเลือด เปลี่ยนแปลงตัวยาบางชนิดให้ออกฤทธิ์ในร่างกายของเรา
ส่วนไตก็เช่นกัน มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่วยขจัดของเสียและสารที่ร่างกายไม่ต้องการออกมาเป็นปัสสาวะ ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยสร้างเม็ดเลือด
กินยาเยอะ กินยาต่อเนื่อง ทำร้ายตับและไตจริงไหม
เห็นได้ว่าตับและไต มีบางหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกินยา แต่ยาทุกชนิดไม่ได้เป็นอันตรายต่อตับไตของเรา ต้องดูชนิดของยาด้วย และความจำเป็นในการใช้ยานั้นด้วย
ปัจจัยที่ทำให้การกินยามีผลต่อตับและไตมีอยู่หลายอย่าง เช่น
- สภาพร่างกายและโรคประจำตัว บางคนอาจมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว เช่น เป็นโรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มีปัญหาเกี่ยวกับตับ การทำงานของไตลดลง หรือมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- อายุเยอะ ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนหนุ่มสาวอยู่แล้ว จากสภาพร่างกายที่เสื่อมสภาพลง การทำงานของตับและไตลดลง มีโรคประจำตัวหลายโรค
- พฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น ดื่มเหล้า ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
- พฤติกรรมการใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น กินยาเกินขนาด กินไม่ถูกวิธี ใช้ยาพร่ำเพรื่อ กินยาดักไว้ก่อน ซื้อยามากินเอง
- ชนิดของยา ยาบางตัวหรือบางกลุ่มเป็นอันตรายกับไตโดยธรรมชาติ เช่น กลุ่มยาอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เมื่อมีการใช้ร่วมกันเพิ่มโอกาสให้เกิดอันตรายกับไต
- ระยะเวลาในการใช้ยา ยิ่งช่วงเวลาในการใช้ยาที่นานจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอันตรายกับตับและไตมากขึ้น
เห็นได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ตับและไตอันตรายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอต้องกินยาเพิ่มหรือใช้ยาเป็นเวลานานเกินจำเป็น จะยิ่งเกิดผลเสียกับตับและไตได้มากขึ้น แต่ถ้าการกินยาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรจะปลอดภัยมากขึ้น
อยากเช็กตับไต สุขภาพโดยรวม ลองดู โปรตรวจสุขภาพไต ตรวจเลือด ตรวจสุขภาพ
ยาที่มักเป็นอันตรายต่อตับและไต เมื่อใช้ไม่ถูกวิธี
หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่ายาที่อาจส่งผลเสียต่อตับและไตนั้นเป็นยาที่อยู่ใกล้ตัวมาก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา เมื่อใช้ไปนาน ๆ ใช้โดยไม่มีความจำเป็น หรือใช้ไม่ถูกวิธี จะเป็นอันตรายต่อตับและไตมาก
ตัวอย่างยาที่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น
กลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบ และลดไข้ (NSAIDs)
เป็นกลุ่มยาบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้องประจำเดือน ปวดกระดูก ไปถึงจนบรรเทาอาการอักเสบ บวม แดง และลดไข้ ยากลุ่มนี้จะส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดในไต เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดไตวายเฉียบพลัน
ตัวอย่างยาในกลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบ และลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac) นาพร็อกเซน (Naproxen)
ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ
เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัส จำเป็นต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพราะยาอาจตกผลึก ตกตะกอนภายในไตและท่อปัสสาวะได้
ตัวอย่างยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) คลินด้าไมซิน (Clindamycin) อิริโทรไมซิน (Erythromycin) เตตร้าไซคลิน (Tetracycline)
ยาสมุนไพร ยาชุด ยาลูกกลอน
ยาสมุนไพรเป็นการนำพืชสมุนไพรนำมาต้มแล้วใช้ดื่มหรือกิน ปัจจุบันมีการพัฒนามาเป็นยาเม็ด ยาแคปซูล ยาลูกกลอน ยากลุ่มนี้ส่วนมากไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน และไม่มีการระบุตัวยาที่ชัดเจน จึงความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนสารพิษ โลหะหนัก หรือสารสเตียรอยด์
นอกจากนี้ การกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้สารต่าง ๆ สะสมในไต การกินยาประเภทนี้ควรกินอย่างระมัดระวัง รู้ส่วนประกอบและแหล่งที่มา ไม่กินติดต่อกันเป็นเวลา และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัย
กินยาเยอะ กินยาต่อเนื่อง ดื้อยาไหม อันตรายหรือเปล่า
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าดื้อยาที่ว่าพูดกันคืออะไร เชื้อดื้อต่อยา โรคดื้อยา?!
คนที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้จำเป็นต้องกินยา เพื่อช่วยควบคุมอาการ แม้จะไม่มีอาการ ก็จำเป็นต้องกินยาให้สม่ำเสมอ ยกเว้นมีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ต้องปรึกษาแพทย์ทันที
ยารักษาโรคเรื้อรังส่วนใหญ่ค่อนข้างปลอดภัย ไม่ได้ทำให้เราดื้อยา หรือโรคดื้อยา การหยุดกินยาหรือกินไม่ครบต่างหากที่จะเป็นปัญหา ทำให้โรครุนแรงขึ้น แต่พอเราควบคุมอาการได้ดีแล้ว แพทย์อาจปรับปริมาณยาให้เหมาะสมเป็นะระยะ จึงไม่ต้องกังวลความปลอดภัย
กรณีที่คนมักเข้าใจผิดและน่าห่วง คือ ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มนี้ต้องกินให้ครบชุดตามแพทย์สั่ง แม้อาการดีขึ้นแล้ว ก็ห้ามหยุดยาก่อน หรือหยุดยาเอง เพราะเชื้อแบคทีเรียจะปรับตัวให้คงทนต่อยามากขึ้น กลายเป็นเชื้อดื้อยาในที่สุด
เมื่อเกิดอาการขึ้นอีก สุดท้ายยาตัวเดิมจะใช้ไม่ได้ค่อยได้ผล ต้องเปลี่ยนเป็นยาตัวใหม่ไปเรื่อย ๆ หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงขึ้นกว่าเดิม สำหรับยาอีกกลุ่มที่ต้องระวัง เมื่ออาการดีขึ้นควรหยุดใช้ คือ ยาแก้ปวด ยิ่งกินนานมากเท่าไร กินโดยไม่จำเป็น จะเป็นผลเสียต่อตับและไต
การใช้ยาจำเป็นต้องดูว่าเป็นยาอะไร กินเพื่ออะไร กินตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือเปล่า ไม่ใช่ยาทุกชนิดจะดื้อยา หรือเป็นอันตรายเสมอไป
กินยาหลายตัวพร้อมกัน ยาตีกันจริงไหม
ปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug Interactions) หรือเรียกกันทั่วไปว่า ยาตีกัน มักเกิดเมื่อมีการใช้ยามากกว่า 2 ชนิดขึ้นไปพร้อมกัน ตัวยาจะส่งผลซึ่งกันและกันในหลายด้าน เช่น การดูดซึมยา การออกฤทธิ์ของยา การทำลายยาที่ตับ การขับยาออกที่ไต
ทำให้ประสิทธิภาพของยาหรือฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไป โดยอาจเกิดกับยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้ ทำให้การรักษาโรคไม่หายขาด อาการไม่ขึ้น หรือเป็นพิษต่อร่างกาย ยาในที่นี้ ยังรวมถึงสารอื่น ๆ ที่กินร่วมกับยาด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร หรือวิตามินใด ๆ
ฉะนั้น การที่เรากินยาหลายชนิดแล้วเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอน เพื่อลดความเสี่ยงตรงนี้ การใช้ยา อาหารเสริม วิตามินใด ๆ ร่วมกันหลายชนิด ควรมีการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว
กินยาอย่างไรให้ตับไตไม่พัง
- กินยาเท่าที่จำเป็น ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง
- ถ้าสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ สงสัยว่าซ้ำซ้อนกัน หรือมีผลต่อการทำงานของไต ตับ หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
- คนที่มีโรคประจำตัว หากจะเริ่มกินยา อาหารเสริม สมุนไพรใด ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนทุกครั้ง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอหลังกินยา เพื่อลดความเสี่ยงในการตกตะกอนจากยา
- คนที่ต้องรับประทานยาหลายชนิดพร้อมกัน ควรพกยาติดตัวไปด้วย เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยดูชนิดของยา ไม่ให้ใช้ซ้ำซ้อนกันจนยาตีกันหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายโดยรวม รวมถึงตรวจสุขภาพตับและไตตามความเสี่ยงด้วย ถ้าพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รับการตรวจรักษาได้ทันท่วงที
กินยาบ่อย กินยาเยอะ ไม่อยากตับไตพัง เช็กสุขภาพกับ HDmall.co.th รวมโปรสุขภาพ ตรวจคัดกรองโรคไต ตรวจเลือด ตรวจสุขภาพ จองก่อน รับราคาโปร ใกล้รพ.ไหน เลือกเลย