โรคหัด (Measles) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะเด่นคือ มีจุดเทาขาวในปาก และมีผื่นสีน้ำตาลแดงไล่จากบริเวณศีรษะ คอ แล้วลงมาที่ตัวจนก่อเกิดความรู้สึกไม่สบายตัวขึ้น แต่อาการก็มักจะหายไปเองภายใน 7-10 วันโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม แต่ในบางครั้ง โรคหัดก็อาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงกว่าซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคหัดเป็นโรคที่พบเห็นได้มากในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเล็ก และเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายเชื้อได้ทางอากาศ ทำให้ในหลายๆ ประเทศได้จัดตั้งนโยบายการจ่ายวัคซีนป้องกันโรคหัดให้กับเด็กทุกคน แต่อย่านิ่งนอนใจไป เพราะโรคหัดไม่ได้เกิดได้แค่กับผู้ป่วยเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังพบได้ในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่เช่นกัน ซึ่งหากผู้ป่วยคนใดเคยเป็นโรคหัดมาแล้ว ร่างกายก็จะผลิตภูมิต้านทานไวรัสชนิดนี้ขึ้นมา และช่วยลดโอกาสที่จะทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหัดอีกเป็นครั้งที่ 2
สารบัญ
โรคหัดแพร่กระจายได้อย่างไร
ไวรัสโรคหัดจะอยู่ในละอองสารคัดหลั่งจากจมูกและปากของผู้ติดเชื้อ ทำให้ผู้อยู่ใกล้ชิดสามารถรับไวรัสเหล่านั้นได้จากการสูดอากาศที่มีละอองเหล่านี้เข้าไป หรือสัมผัสกับละอองบนพื้นผิวสิ่งของต่างๆ ก่อนที่จะนำมือซึ่งเปื้อนเชื้อไปเข้าใกล้จมูก หรือปากของตนเอง โดยเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถมีชีวิตอยู่บนสิ่งของได้นานหลายชั่วโมง ผู้ป่วยโรคหัดจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีอาการไปจนถึง 4 วันหลังจากเป็นผื่นขึ้นครั้งแรก
อาการของโรคหัด
1. อาการแรกเริ่มของโรคหัด
โรคหัดจะเริ่มด้วยอาการคล้ายกับโรคหวัด โดยอาการแรกเริ่มของโรคหัดที่จะเริ่มขึ้นประมาณ 10 วันหลังติดเชื้อ ซึ่งอาการในผู้ป่วยเด็กกับผู้ใหญ่จะไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก
อาการหลักๆ ของผู้ป่วยโรคหัดที่พบได้ จะมีดังต่อไปนี้
- อาการคล้ายหวัด เช่น คัดจมูก จาม และไอ
- ปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล อาจมีความไวต่อแสงเพิ่มขึ้น
- มีไข้สูง อาจพุ่งถึง 40 องศาเซลเซียสได้
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ไม่อยากอาหาร
- เหน็ดเหนื่อย รู้สึกระคายเคืองตัว และอ่อนเพลียอย่างหนัก
- เกิดจุดสีเทาขาวภายในกระพุ้งแก้ม
หลังจากมีอาการเหล่านี้ไม่กี่วัน ผู้ป่วยจะเกิดผื่นสีน้ำตาลแดงขึ้น ซึ่งมักจะเริ่มจากบนศีรษะหรือบนคอ ก่อนที่จะลามลงไปทั่วร่างกาย
2. ผื่นจากโรคหัด
ผื่นที่เกิดขึ้นจากโรคหัดจะเริ่มขึ้นประมาณ 2-4 วันหลังจากมีอาการแรกเริ่ม และจะค่อยๆ หายไปภายใน 1 สัปดาห์ และในระหว่างที่ผื่นปรากฏออกมา ผู้ป่วยมักจะรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมากในช่วง 1-2 วันแรก โดยผื่นที่เกิดขึ้นนั้นจะมีลักษณะดังนี้
- จะมีลักษณะแบนหรือเห่อขึ้นเล็กน้อย มีขนาดเล็ก เป็นสีน้ำตาลแดง และอาจเกิดขึ้นติดกันหลายจุดจนกลายเป็นปื้นขนาดใหญ่
- มักจะปรากฏบนศีรษะหรือคอ ก่อนจะลามลงไปทั่วร่างกาย
- มีอาการคันเล็กน้อยสำหรับผู้ป่วยบางราย
- ลักษณะผื่นดูคล้ายกับผื่นจากภาวะสุขภาพในเด็กอย่าง “โรคหัดกุหลาบ” (Slapped cheek syndrome)
3. จุดในปากจากโรคหัด
หลังจากมีผื่นขึ้นไปแล้ว 1-2 วัน ผู้ป่วยหลายรายจะมีจุดสีเทาขาวเกิดขึ้นในช่องปาก (Koplik’s spot) ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่จะประสบกับภาวะเช่นนี้ ซึ่งจุดสีเทาที่เกิดขึ้นมักจะกินระยะเวลาอยู่ไม่กี่วันเท่านั้น
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
คุณควรไปพบแพทย์ทันทีที่รู้สึกว่าตนเอง หรือลูกของคุณเป็นโรคหัด และควรแจ้งทางโรงพยาบาลด้วยว่าอาจเป็นโรคหัด เพื่อให้ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมแนวทางป้องกันการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น และเนื่องจากโรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อหากันได้ ถึงแม้คุณจะไม่ได้มีอาการเป็นโรคหัด แต่มีคนใกล้ตัวที่เป็นโรคนี้และคุณยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อน คุณก็ควรเข้ารับการตรวจเพื่อป้องกันการติดเชื้อไว้ก่อน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหัดยังสามารถเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ ซึ่งหากตัวคุณหรือลูกน้อยมีอาการต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะมันอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อไวรัสที่รุนแรงมากกว่าการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป
- อาการหายใจสั้น
- อาการเจ็บแปลบที่หน้าอกขณะหายใจ
- ไอเป็นเลือด
- ง่วงนอน
- สับสน
- ชัก
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด
ผู้ป่วยโรคหัดส่วนมากจะหายจากโรคได้เองหลังจากติดเชื้อ 7-10 วัน แต่บางกรณี โรคหัดก็ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่นๆ ขึ้นมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนของโรคหัดที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ท้องร่วง ท้องเสีย และอาเจียนจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
- การติดเชื้อของหูชั้นกลางจนทำให้เกิดอาการปวดหู
- เยื่อบุตาอักเสบ
- การอักเสบของกล่องเสียง
- ปอดบวม ปอดอักเสบและเป็นโรคครูป (Croup) ซึ่งเป็นการติดเชื้อของหลอดลมและปอด
- ชักจากไข้ที่ขึ้นสูง
เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัดประมาณ 1 จากทุกๆ 15 คนจะมีภาวะแทรกซ้อนข้างต้น ดังนั้น ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตลูกน้อยที่เป็นโรคหัดว่ามีอาการแทรกซ้อนดังกล่าวหรือไม่ และนอกเหนือจากภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็ควรมีการเฝ้าสังเกตอาการและระมัดระวังไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย เช่น
- การติดเชื้อที่ตับ
- การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มรองสมองและไขมันสันหลัง
- เป็นไข้สมองอักเสบ
- ตาเข ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง
- การติดเชื้อที่เส้นประสาทตา ซึ่งคอยทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากตาไปสมอง และอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้
- เกิดปัญหาที่ระบบหัวใจและประสาท
- ภาวะสมองอักเสบแบบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Sclerosing Panencephalitis: SSPE) สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัดมาหลายปี แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆ
การรักษาโรคหัด
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคหัดโดยเฉพาะ แต่โรคนี้ก็สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน และแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านไปจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น และนอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจะสามารถบรรเทาอาการ และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปหาผู้อื่นได้ เช่น
- รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดไข้และอาการปวดกล้ามเนื้อ แต่ควรระมัดระวังไม่ใช้ยาแอสไพรินกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ปิดม่านเพื่อลดภาวะไวต่อแสงอาทิตย์
- ใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบน้ำเพื่อทำความสะอาดรอบตา
- ลาเรียนหรือลางานเป็นเวลาอย่างน้อย 4 วันหลังจากที่เริ่มมีผื่นขึ้น หรือในกรณีที่อาการป่วยรุนแรงมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย ผู้ป่วยควรนอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์เฝ้าดูอาการ และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้อื่นรับเชื้อไปด้วย
การบรรเทาอาการโรคหัด
ถ้าอาการของโรคหัดสร้างความไม่สบายตัวให้กับคุณหรือลูกของคุณมากเกินไป ยังมีหลายวิธีที่คุณสามารถบรรเทาอาการได้ในระหว่างที่รอร่างกายฟื้นตัว เช่น
- การควบคุมไข้และบรรเทาปวด: สามารถใช้ยาพาราเซตตามอล หรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดได้ ส่วนผู้ป่วยเด็กนั้น ผู้ปกครองสามารถใช้ยาน้ำพาราเซตามอลป้อนได้ แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี หรือทางที่ดีที่สุด ผู้ปกครองควรสอบถามเภสัชกรหรือแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาให้มั่นใจเสียก่อนว่า ลูกของคุณเหมาะกับยาชนิดไหนมากที่สุด
- ดื่มน้ำให้มากๆ: หากผู้ป่วยมีไข้สูง ให้พยายามดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ และลดอาการไอจากความระคายเคืองภายในลำคอ นอกจากนี้ การดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาวจะช่วยคลายหลอดลม กำจัดเสมหะ และบรรเทาอาการไอได้ แต่ไม่ควรผสมน้ำผึ้งให้ผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน
- รักษาอาการเจ็บตา: ใช้ผ้าขนหนูหรือสำลีชุบน้ำแล้วเช็ดที่ตาเบาๆ เพื่อทำความสะอาดสะเก็ดจากเปลือกตาและขนตา และให้ปิดม่านเพื่อกันแสง รวมทั้งเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟที่ไม่สว่างมาก เพื่อไม่ให้แสงทำร้ายดวงตาของผู้ป่วยได้
- รักษาอาการคล้ายไข้หวัด: หากผู้ป่วยมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น คัดจมูก หรือไอ การนั่งในห้องน้ำที่เต็มไปด้วยไอน้ำอุ่นๆ จะทำให้อากาศชุ่มชื้นขึ้น และอาจช่วยบรรเทาอาการไอได้
วิธีป้องกันโรคหัด
คุณสามารถเลี่ยงการป่วยเป็นโรคหัดได้จากการรับวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (Measles Mumps and Rubella vaccine: MMR) หรือหากคุณรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะกับการรับวัคซีน หรือไม่สะดวกในการฉีดวัคซีน ยังมีอีกวิธีป้องกันที่เรียกว่า กระบวนการเอชเอ็นไอจี (Human normal immunoglobulin Human normal immunoglobulin: HNIG)
การฉีดวัคซีน MMR
- การฉีดวัคซีนมาตรฐาน วัคซีน MMR จัดเป็นวัคซีนมาตรฐานที่ต้องทำการฉีดให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 12-13 เดือน และจะมีการฉีดซ้ำครั้งที่ 2 ในช่วงอายุ 3 ปี 4 เดือนเป็นครั้งสุดท้าย คุณและลูกของคุณสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเมื่อใดก็ได้หากยังไม่ครบ 2 ครั้ง หรือหากคุณไม่มั่นใจว่าเคยได้รับวัคซีนแล้วหรือยัง ก็สามารถรับการฉีดวัคซีนซ้ำอีกครั้งได้
- การฉีดวัคซีนในสถานการณ์พิเศษ วัคซีน MMR สามารถให้ได้ครั้งแรกกับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนทันที หากว่าพวกเขาอยู่ในความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคหัดกะทันหัน ยกตัวอย่างเช่น
- มีการระบาดของโรคหัดตามพื้นที่อยู่อาศัย
- มีการเข้าใกล้กับผู้ป่วยโรคหัด
- มีแผนที่จะต้องต้องเดินทางไปในประเทศหรือพื้นที่ที่โรคหัดระบาด
กระบวนการเอชเอ็นไอจี
กระบวนการป้องกันเอชเอ็นไอจีจะเป็นการให้สารภูมิต้านทานชนิดพิเศษที่จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดในระยะสั้น ซึ่งกระบวนการนี้จะแนะนำกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
- เด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน และเด็กทารกบางรายที่มีอายุระหว่าง 6-8 เดือน
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือไม่เคยป่วยเป็นโรคหัดมาก่อน
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV)
โรคหัดเป็นโรคติดต่อที่พบได้มากในเด็กเล็ก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอย่านิ่งนอนใจ และควรพาลูกน้อยไปเข้ารับการฉีดวัคซีนทันทีที่อายุถึงเกณฑ์ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการติดโรคหัดที่อาจเกิดขึ้นได้จากอากาศรอบตัวลูกน้อยของคุณ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย