lower abdominal pain scaled

ปวดท้องน้อยด้านขวา แบบเจ็บจี๊ด เสี่ยงกับโรคใดบ้าง

อาการปวดท้องในแต่ละตำแหน่งนั้นบ่งบอกถึงโรคหรือความผิดปกติที่แตกต่างกันไป อย่างอาการ เจ็บท้องน้อยด้านขวา ที่เรามักเป็นกันบ่อยๆ ก็เป็นตำแหน่งของอวัยวะในช่องท้องหลายส่วน ได้แก่ ไส้ติ่ง ลำไส้เล็กบางส่วน ปีกมดลูกด้านขวา และท่อไต ซึ่งการจะวินิจฉัยแยกโรคได้ ว่าอาการ เจ็บท้องน้อยด้านขวา เกิดจากสาเหตุใด ก็จำเป็นต้องซักประวัติ ดูอาการอื่นๆ และมีการตรวจเพิ่มเติมร่วมด้วย

สาเหตุของอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา

อาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา มักเกิดจากความผิดปกติของไส้ติ่ง ลำไส้เล็ก ปีกมดลูก และไต ซึ่งเป็นอวัยวะในช่องท้องตำแหน่งดังกล่าว โดยความผิดปกติที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ได้แก่

  • ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อเกิดไส้ติ่งอักเสบขึ้น จึงทำให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันที่กลางสะดือ และต่อลงมายังท้องน้อยด้านขวา โดยอาการปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย และมีไข้ต่ำ ไส้ติ่งอักเสบถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้ติ่งแตกจนเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด
  • ลำไส้อักเสบ โดยทั่วไปเกิดจากการทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน อาการของลำไส้อักเสบ ได้แก่ รู้สึกปวดบีบที่หน้าท้อง หากส่วนที่อักเสบเป็นลำไส้ที่อยู่ฝั่งขวา ก็จะทำให้เจ็บที่ท้องน้อยด้านขวาด้วย นอกจากนี้ ยังมีอาการท้องร่วง ถ่ายเหลวหลายครั้ง ถ่ายมีมูกเลือดปน อ่อนเพลีย และมีไข้ ซึ่งต้องระวังภาวะร่างกายขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้
  • มะเร็งลำไส้ เป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยอาการที่พบในช่วงแรก คือรู้สึกปวดเกร็งในท้อง อุจจาระมีลักษณะผิดปกติ เช่น เป็นเส้นเล็กๆ ในระยะต่อมาจะพบอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน รู้สึกปวดถ่ายแต่ไม่มีอุจจาระออกมา และมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้
  • ปีกมดลูกอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ท่อนำไข่ ซึ่งหากเกิดการอักเสบที่ปีกมดลูกด้านขวา ก็จะทำให้มีอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด และมีตกขาวผิดปกติ
  • มีซีสต์หรือเนื้องอกในมดลูก เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเนื้องอกแม้จะไม่เป็นอันตราย แต่จะทำให้เกิดอาการปวดแน่นท้องน้อย ประจำเดือนมาบ่อยหรือนานกว่าปกติ ปัสสาวะลำบาก รวมถึงอาจทำให้มีบุตรยากและมีปัญหาในการคลอดด้วย
  • ท้องนอกมดลูก เกิดจากตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่นอกผนังมดลูก เช่น ที่ปีกมดลูก หรือท่อนำไข่ ทำให้มีอาการและสัญญาณเหมือนการตั้งครรภ์ปกติ แต่ตัวอ่อนจะไม่เจริญเป็นทารก ร่วมกับมีอาการปวดท้องน้อยบริเวณอุ้งเชิงกราน มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด รวมถึงหน้ามืดวิงเวียน
  • มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไต กรวยไต ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ไปจนถึงปวดเอวและหลัง ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น มีเลือดปนและมีกลิ่นเหม็น รวมถึงอาจมีไข้หนาวสั่นด้วย
  • นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เกิดจากสารในปัสสาวะตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งโดยส่วนมากเกิดขึ้นที่ไต บริเวณท่อไตหรือกรวยไต ทำให้มีการปวดท้องน้อยด้านขวา ร้าวถึงสีข้าง ปัสสาวะขัด หรือปัสสาวะไม่ออก และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย

การรักษาอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา

  • การทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน ใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บท้อง และลดไข้ แต่ไม่สามารถรักษาสาเหตุของโรคได้
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปีกมดลูกอักเสบ ลำไส้อักเสบ ซึ่งประเภทของยาที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียก่อโรค การทานยาปฏิชีวนะต้องทานติดต่อกันประมาณ 10 – 14 วัน
  • การผ่าตัด ใช้รักษาความผิดปกติบางอย่าง ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ซีสต์หรือเนื้องอกในมดลูก และนิ่วไตที่มีขนาดใหญ่
  • การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฉายรังสี และการใช้ยาเคมีบำบัด สำหรับรักษามะเร็งลำไส้ เป็นต้น

การป้องกันอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา

  • ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและปีกมดลูก โดยหลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ รักษาสุขอนามัยของอวัยวะเพศ ไม่ให้เกิดการอับชื้น และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยสวมถุงยางอนามัย
  • ป้องกันลำไส้อักเสบ โดยการทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก รวมถึงล้างมือก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับปวดท้องน้อยข้างขวา

ปวดท้องน้อยด้านขวา หน่วงๆ จี๊ดๆ

ก่อนหน้านี้ปวดแถวๆ ท้องน้อยค่ะ ตอนนี้ปวดท้องน้อยด้านขวา ปวดแบบหน่วงๆ ร้าวมาที่ขาหนีบ บางครั้งปวดหน่วงๆบางครั้งปวดแบบจี๊ดๆ ค่ะ อยากทราบว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรคะ

อาการปวดท้องบริเวณท้องน้อยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตามแต่ละอวัยวะที่มีอยู่บริเวณนั้นสามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยได้หมดเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น ระบบสืบพันธุ์ มีมดลูก ก็สามารถปวดได้ในกรณีที่มีมดลูกโต ไปกดเบียดอวัยวะบริเวณนั้น กรณีที่เป็นท่อนำไข่ อาจเป็นจากการที่มีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน กรณีของรังไข่ ที่พบได้บ่อยคือโรคช็อคโกแลตซีส หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคนี้ก็ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรังจากการมีพังผืดในช่องท้องได้ครับ ส่วนทางระบบปัสสาวะ ก็มีท่อไตด้านขวา หากติดเชื้ออักเสบก็มีผลได้ทำให้ปวดท้องน้อยครับ หรือกรณีที่มีนิ่วในท่อไต สามารถทำให้เกิดปวดท้องน้อยได้เช่นกันแต่มักจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งครับ ทางระบบลำไส้ ก็มีได้ไส้ติ่งอักเสบ หรือแม้แต่กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเองก็มักเป็นสาเหตุของการปวดท้องน้อยได้บ่อยครับ จะเห็นว่าสาเหตุของการปวดท้องน้อยมีเยอะมากเลยนะครับ เพราะฉะนั้นเพื่อความจำเพาะเจาะจงกับสิ่งที่เราเป็นอยู่หมอแนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายตรวจภายในนะครับ

ตอบโดย นพ. รัตน์พล อ่ำอำไพ

ปวดท้องน้อยด้านขวาบ่อย

ปวดท้องน้อยด้านขวาบ่อยเป็นโรคอะไรค่ะ

อาการปวดท้องน้อยด้านขวาแบบเร่งด่วน / เฉียบพลัน ที่พบในสตรี ต้องแยกว่าเป็นอาการปวดทวงสูติ-นารีเวช หรือ เป็นอาการปวดทางศัลยกรรมค่ะ โดยสาเหตุที่ต้องแยกออกจากกันเพราะ การรักษาแตกต่างกัน และพบแพทย์เฉพาะทางคนละแผนกกัน
ดังนั้นในผู้หญิง ประวัติเกี่ยวกับ สูติ นารีเวช สำคัญมากค่ะ อาทิเช่น ประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไร สม่ำเสมอหรือไม่ (วันแรกของการมีประจำเดือน) , มีเลือดออกทางช่องคลอด , มีตกขาวกลิ่นเหม็น สีผิดปกติ หรือไม่ เป็นต้นค่ะ นอกจากนี้ หากประวัติประจำเดือนมาสม่ำเสมอดี ,ไม่มีเลือด /ตกขาวผิดปกติ แพทย์จะเพ่งเล็งไปที่โรคทางศัยกรรมหรืออายุรกรรม ซึ่งก็จะแยกตามตำแหน่งอวัยวะและสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น

  1. ระบบทางเดินอาหาร หากปวดท้องมาก ขยับไม่ได้ กดท้องบริเวณสะดือย้ายตำแหน่งมาด้านล่างขวา คลื่นไส้อาจียน อาจมีถ่ายเหลวและไข้ร่วมด้วย อาจสงสัยภาวะ ไส้ติ่งอักเสบ , กระเปาะลำไส้อักเสบ-ติดเชื้อ (diverticulitis) ส่วนในคนสูงอายุ อาจจะนึกถึงโรคเกี่ยวกะ ก้อนในลำไส้ มักมีประวัติ น้ำหนักลดลง ซีดอ่อนเพลีย อุจจาระมีมูกเลือดปน ท้องผูกสลับท้องเสีย หรือคลำพบก้อนในท้องเจอมาก่อนหน้านี้ค่ะ
  2. ระบบทางเดินปัสสาวะ อาจมีประวัติ ปวดบริเวณท้องน้อยร้าวไปหลัง /หน้าขา ปัสสาวะ มีก้อนกรวดปน อาจสงสัยโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ , ปัสาวะแสบขัด ปวดปัสสาะตอนเริ่ม -กลาง -สุด ก็อาจสงสัยการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ ร่วมกับ อั้นปัสสาวะและไข้ หากมารพ. จะได้รับการตรวจปัสสาวะ เบื้องต้นค่ะ
  3. กล้ามเนื้อบริเวณท้อง หากออกกำลังกายหนักๆ ยกของหนัก หรือ กระแทกบริเวณท้องน้อยด้านขวา อาจเกิดจาก กล้ามเนื้อบริเวณท้องบาดเจ็บและอักเสบได้ มักสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว แล้วเจ็บมากขึ้น รักษาโดยการกินยาแก้ปวด และพักออกแรงหนักๆ
  4. ระบบสืบพันธุ์ หากปวดท้องน้อยมาก มีขาดประจำเดือน (ทราบว่าตั้งครรภ์) ร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด (อาจมีหรือไม่ก็ได้) จะนึกถึง ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น

ทั้งนี้หากมีอาการปวดมาก ควรมาพบแพทย์ที่รพ. เพราะอาการปวดท้องมากเฉียบพลัน อาจมีอันตรายต่อชีวิตได้ค่ะ

ตอบโดย พญ. ศิริวรรณ นพคุณ

ปวดท้องน้อยจี๊ดๆ ท้องหรือไม่

ผู้หญิงมีอาการขมคอ ปวดท้องน้อยข้างซ้าย และขวาจี๊ดๆ นี่คืออาการของคนท้องรึป่าวครับ

อาการข้างต้นนั้นไม่ใช่อาการที่มีความจำเพาะต่อการตั้งครรภ์ครับ

อาการที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกในกรณีที่มีการตั้งครรภ์นั้นควรจะเป็นการขาดประจำเดือน และในระยะต่อมาเมื่อตั้งครรภ์ได้นาน 2-3 เดือนแล้วก็อาจจะมีอาการอื่นๆตามมา เช่น คัดตึงเต้านม ตกขาวมากขึ้น คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

ในกรณีที่ต้องการทราบว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ หมอแนะนำให้ลองตรวจการตั้งครรภ์ดูจะเป็นวิธีการยืนยันที่ดีที่สุดครับ โดยให้ตรวจห่างจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 14 วันและใช้ปัสสาวะหลังตื่นนอนตอนเช้าในการตรวจ ก็จะให้ผลตรวจที่เชื่อถือได้ 97-99% ครับ

ส่วนอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นถ้าหากปวดรุนแรงมากหรือปวดติดต่อกันหลายวันก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top