ไฮออสซีน (Hyoscine หรือ Hyoscine butylbromide) หรือที่รู้จักในชื่อ สโคโพลามีน (Scopolamine) เป็นยากลุ่มต้านอาการหดเกร็งที่ใช้ลดอาการปวดเกร็งในช่องท้องและลำไส้ รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ภาวะและโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจแพทย์
สารบัญ
- Hyoscine ใช้รักษาโรคอะไร
- กลไกการออกฤทธิ์ของ Hyoscine
- ปริมาณการใช้ยา Hyoscine
- ข้อควรระวังในการใช้ยา Hyoscine
- การใช้ยา Hyoscine ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
- ถ้าลืมรับประทานยา Hyoscine ต้องทำอย่างไร
- ผลข้างเคียงจากยา Hyoscine
- ประเภทของยา Hyoscine ตามองค์การอาหารและยาประเทศไทย
- สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลก่อนใช้ยา Hydroscine
Hyoscine ใช้รักษาโรคอะไร
- ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการปวดท้อง
- ขยายรูม่านตา
- รักษาโรคม่านตาอักเสบ (Iridocyclitis)
- ป้องกันภาวะเมาจากการเคลื่อนไหว (Motion sickness)
- ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- รักษาภาวะหดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์
- ใช้เป็นยาสลบก่อนการผ่าตัด เพื่อลดการหลั่งน้ำลาย
กลไกการออกฤทธิ์ของ Hyoscine
ยาไฮออสซีนเป็นสารกลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ที่ยับยั้งตัวรับมัสคารินิก (Muscarinic receptor) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย
ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ กลไกการคลายตัวของกล้ามเนื้อทำให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณของยา
ปริมาณการใช้ยา Hyoscine
รูปแบบยาหยอดตา
ช่วยขยายรูม่านตา
- ผู้ใหญ่ ยาในรูป Hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1–2 หยด ก่อนทำหัตถการ 1 ชั่วโมง
- เด็ก ยาในรูป Hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1 หยด ก่อนทำหัตถการ 1 ชั่วโมง
รักษาโรคม่านตาอักเสบ Iridocyclitis
- ผู้ใหญ่ ยาในรูป Hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1–2 หยด วันละ 4 ครั้ง
- เด็ก ยาในรูป Hydrobromide ความเข้มข้น 0.25% หยอด 1 หยด วันละ 3 ครั้ง
รูปแบบยารับประทาน
ป้องกันภาวะเมารถ ป่วยจากการเคลื่อนไหว
- ผู้ใหญ่ ขนาด 300 ไมโครกรัม 30 นาทีก่อนเดินทาง จากนั้นรับประทานขนาด 300 ไมโครกรัม ทุก ๆ 6 ชั่วโมง รับประทานได้สูงสุด 3 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
- เด็ก
-
- อายุ 3–4 ปี ขนาด 75 ไมโครกรัม 20 นาทีก่อนการเดินทาง รับประทานได้สูงสุด 150 ไมโครกรัมต่อวัน
- อายุ 4–10 ปี ขนาด 75–150 ไมโครกรัม
- อายุมากกว่า 10 ปี ขนาด 150–300 ไมโครกรัม
-
รักษาภาวะหดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์
- ผู้ใหญ่ ยาในรูป Butylbromide ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง
- เด็ก ยาในรูป Butylbromide อายุ 6–12 ปี ขนาด 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
รูปแบบยาฉีด
รักษาภาวะหดเกร็งของระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์
- ผู้ใหญ่ ยาในรูป Butylbromide ขนาด 20 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ ขนาดยาสูงสุด 100 มิลลิกรัมต่อวัน
ใช้เป็นยาสลบก่อนการผ่าตัด
- ผู้ใหญ่ ยาในรูป Hydrobromide ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.6 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง
ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ผู้ใหญ่ ยาในรูป Hydrobromide ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.3–0.6 มิลลิกรัม
- เด็ก ยาในรูป Hydrobromide ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.006 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ข้อควรระวังในการใช้ยา Hyoscine
ห้ามใช้ยา Hyoscine ในผู้ป่วยเหล่านี้
- ผู้ป่วยโรคต้อหินมุมแคบ
- ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อืด
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ
- ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis)
และควรระวังการใช้ยา Hyoscine กับผู้ป่วยเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ผู้ป่วยกระเพาะอาหารตีบตัน ลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล
- ผู้ป่วยที่มีภาวะ ปัสสาวะคั่ง
- ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
- ผู้ป่วยโรคจิตเภท
- ผู้ป่วยโรคลมชัก
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ หัวใจวาย หรือความดันโลหิตสูง
- ผู้ป่วยเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยสูงอายุ
การใช้ยา Hyoscine ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ตัวยา Hyoscine จัดอยู่ในกลุ่ม Category C หมายความว่า ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์และผู้ให้นมบุตร
ถ้าลืมรับประทานยา Hyoscine ต้องทำอย่างไร
ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด)
กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
ผลข้างเคียงจากยา Hyoscine
การใช้ยา Hyoscine อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ เช่น
- ผิวหนังแดง
- ความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่าทาง
- หัวใจเต้นเร็ว
- ใจสั่น
- มึนงง
- ง่วงซึม
- อ่อนแรง
- ปวดศีรษะ
- สูญเสียความทรงจำ
- ผิวหนังแห้ง
- ผิวหนังแดง
- ผิวไวต่อแสง
- แน่นท้อง
- ท้องผูก
- คอแห้ง
- กลืนลำบาก
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีการหลั่งน้ำลายน้อยกว่าปกติ
- ปัสสาวะขัด
- ปัสสาวะคั่ง
- อาการสั่น
- มองเห็นภาพไม่ชัด
- ต้อหินมุมปิด
- ปวดในลูกตา
- อาการคัน
- กลัวแสง
- ม่านตาขยาย
- จมูกแห้ง
- ทนความร้อนไม่ได้
- เพิ่มความดันในลูกตา ระคายเคืองตา
กรณีที่ใช้ในรูปแบบยาหยอดตา อาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ได้แก่ การกดระบบประสาทส่วนกลาง โคม่า และระบบหายใจล้มเหลว
ประเภทของยา Hyoscine ตามองค์การอาหารและยาประเทศไทย
ยา Hyoscine จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลก่อนใช้ยา Hydroscine
ยา Hyoscine เป็นยาอันตราย ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลก่อนเสมอ โดยต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพให้ละเอียด เพื่อใช้ยาได้อย่างปลอดภัยและได้ผลดี
- แจ้งข้อมูลการใช้ยาทั้งหมด เช่น ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานไปก่อนหน้านี้ อาหารเสริมที่รับประทาน อย่างวิตามิน หรือสมุนไพร กรณีที่มียาประจำตัวหลายตัว ให้พกยามา แพทย์หรือเภสัชกรจะได้ตรวจสอบให้ก่อนจ่ายยาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายระหว่างยาใหม่และยาที่ใช้อยู่
- แจ้งอาการแพ้ต่าง ๆ ทั้งประวัติการแพ้ยา อาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออาหาร (ยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม หรือยีสต์) เช่น บวม ผื่นขึ้น หายใจลำบาก หรือควรนำบัตรแพ้ยาพกติดตัวไปด้วย และแสดงบัตรนี้ให้แพทย์หรือเภสัชกรตรวจสอบก่อนเสมอ
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่ตั้งครรภ์ มีแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้ยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง