hepatosplenomegaly scaled

ตับม้ามโต (Hepatosplenomegaly)

ตับ (Liver) และม้าม (Spleen) เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในช่องท้อง โดยตับจะมีขนาดใหญ่ อยู่ในช่องท้องด้านบนขวา ส่วนม้ามจะมีขนาดเล็กกว่า และอยู่ในช่องท้องด้านบนซ้าย

ตามปกติแล้ว ตับ และม้ามนั้นมีหน้าที่แตกต่างกัน โดยตับจะสร้างโปรตีน และฮอร์โมนหลายชนิด รวมถึงมีหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ในขณะที่ม้ามมีบทบาทในระบบภูมิคุ้มกัน โดยช่วยกำจัดเชื้อโรค และเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ

บางครั้งอาจเกิดโรคหรือความผิดปกติที่ทำให้ตับ และม้ามโตขึ้นพร้อมกันได้ ซึ่งเรียกว่า “ภาวะตับม้ามโต (Hepatosplenomegaly)” ทำให้เราสามารถคลำพบตับ และม้ามมีขนาดใหญ่ขึ้นได้

สาเหตุที่ทำให้ตับม้ามโต

ความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะตับม้ามโต ได้แก่

  • โรคตับ เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากตับมีระบบไหลเวียนเลือดระบบเดียวกับม้าม เมื่อตับมีความผิดปกติจึงส่งผลเกิดความผิดปกติที่ม้ามด้วย
  • โรคเลือด เช่น โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย ภาวะที่มีเม็ดเลือดแตก เนื่องจากตับ และม้ามเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดเม็ดเลือดแดง และฮีโมโกลบิน เมื่อเม็ดเลือดถูกทำลายมาก จึงส่งผลให้ตับม้ามมีขนาดโตขึ้นด้วย
  • การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งม้ามก็มีบทบาทในการกำจัดเชื้อโรคด้วยเช่นกัน
  • เป็นโรคออโตอิมมูน หรือโรคแพ้ภูมิต้านทานตัวเอง ทำให้เซลล์ในร่างกายถูกกำจัดจำนวนมาก
  • เส้นเลือดดำในตับอุดตัน ทำให้การไหลเวียนเลือดของตับ และม้ามผิดปกติ
  • เป็นโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการที่พบร่วมกับตับม้ามโต

ผู้ป่วยที่มีตับม้ามโต มักพบอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาจมีไข้ ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุ
  • ติดเชื้อได้ง่าย
  • มีรอยฟกช้ำ หรือจ้ำเลือดขึ้นตามตัว
  • หายใจลำบาก เนื่องจากตับ และม้ามโตจนกดเบียดอวัยวะในช่องท้อง และกะบังลม
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน อาจพบได้หากสาเหตุมาจากโรคตับหรือตับอักเสบ
  • ซีด อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ พบได้ในผู้ป่วยโรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย หรือเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมาก

การรักษาภาวะตับม้ามโต

การรักษาภาวะตับม้ามโต จะเน้นรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น

  • หากมีการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ จะรักษาด้วยยาต้านไวรัส
  • หากเป็นโรคตับแข็ง ตับอักเสบ จะให้ยาลดการอักเสบของตับ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หากสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง จะทำการรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัด ฉายรังสี หรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิด และระยะของมะเร็ง
  • หากผู้ป่วยเป็นโรคเลือด จะรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ถ้ามีเม็ดเลือดแดงต่ำมากอาจต้องให้เลือดทดแทน หรือถ้าโลหิตจางเล็กน้อย อาจให้ทานธาตุเหล็กเสริม
  • หากตับม้ามโตมากจนทำให้หายใจลำบาก และไม่สามารถรักษาได้ เช่น เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทำให้ตับม้ามโตมาตั้งแต่เด็ก อาจจำเป็นต้องตัดม้ามออก เพื่อให้หายใจสะดวก อาการซีดดีขึ้น และรับเลือดน้อยลง
  • หากตับเกิดความเสียหายมาก อาจต้องทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ

การดูแลตัวเองเมื่อมีตับม้ามโต

หากพบว่าตัวเองมีตับม้ามโต ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาโดยด่วน ซึ่งนอกเหนือจากการรักษาแล้ว เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อประคับประคองอาการได้ ดังนี้

  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ทานผักผลไม้มากๆ และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารเสริม และสมุนไพรทุกชนิด ยกเว้นยาตามคำสั่งแพทย์
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

การป้องกันตับม้ามโต

ตับม้ามโตนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุเราไม่สามารถป้องกันได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่เป็นตั้งแต่กำเนิด แต่สำหรับโรคที่เป็นสาเหตุอื่นๆ เราสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี

นอกจากนี้ คุณควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโรคตับแข็ง ปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกรับประทานทานอาหารเสริมสมุนไพรที่อาจมีผลต่อตับ และยังควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพโดยรวมที่ดีด้วย

Scroll to Top