หัวใจ (Heart) เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่ มีขนาดเท่ากำปั้น หนักประมาณ 200–425 กรัม ขึ้นอยู่กับเพศและอายุ
ภายในหัวใจแบ่งออกเป็นหลายส่วน ได้แก่ เยื่อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อบุหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดแดง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เยื่อหุ้มหัวใจ
เยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ มีลักษณะเป็นถุง ทำหน้าที่ห่อหุ้ม หล่อลื่น และปกป้องหัวใจ
เยื่อหุ้มหัวใจมี 2 ชั้น ระหว่างชั้นทั้งสองจะมีโพรง หรือช่องที่มีของเหลวหล่อลื่น ป้องกันไม่ให้เยื่อหุ้มเสียดสีกันจนเกิดการอักเสบ
กล้ามเนื้อหัวใจ
กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) เป็นเนื้อเยื่อเกือบทั้งหมดของหัวใจ แบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องบนขวา ห้องล่างขวา ห้องบนซ้าย และห้องล่างซ้าย
กล้ามเนื้อหัวใจมีหน้าที่บีบตัว เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- หัวใจห้องบนขวา รับเลือดดำ ซึ่งเป็นเลือดที่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูง จากหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนทรวงอก และหลอดเลือดดำส่วนช่องท้อง เมื่อหัวใจบีบตัว จะส่งเลือดดำเหล่านี้ผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve) เข้าสู้หัวใจห้องล่างขวา
- หัวใจห้องล่างขวา รับเลือดจากห้องบนขวาผ่านทางลิ้นหัวใจ ซึ่งกั้นระหว่างห้องบนกับล่าง (มีลิ้นหัวใจเพื่อป้องกันเลือดจากห้องล่างขวาไหลย้อนกลับขึ้นไปห้องบนขวา)
หลังจากนั้น ในช่วงที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว เลือดดำจากห้องล่างขวาจะเข้าสู่หลอดเลือดปอด เพื่อฟอกให้เป็นเลือดแดง (เลือดที่มีออกซิเจนสูง ให้เซลล์ต่าง ๆ ใช้เป็นพลังงานในการดำรงชีวิต) - หัวใจห้องบนซ้าย รับเลือดแดงจากหลอดเลือดปอด และส่งเลือดแดงในช่วงที่หัวใจบีบตัวผ่านลิ้นหัวใจไบคัสปิด หรือไมทรัล (Bicuspid or Mitral valve: กั้นระหว่างห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้าย) เข้าสู่ห้องล่างซ้าย
- หัวใจห้องล่างซ้าย รับเลือดแดงจากห้องบนซ้าย และส่งเข้าหลอดเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) ในช่วงที่หัวใจบีบตัว ผ่านทางลิ้นหัวใจ ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงเอออร์ตา
ลิ้นหัวใจ
ลิ้นหัวใจ (Heart valve) มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดที่ไหลออกไปแล้วย้อนกลับเข้ามาในหัวใจห้องเดิมอีก
ลิ้นหัวใจมีทั้งหมด 4 ลิ้น กั้นระหว่างหัวใจห้องต่าง ๆ ได้แก่
- ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างขวา
- ลิ้นหัวใจไบคัสปิด หรือไมทรัล (Bicuspid valve or Mitral valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างซ้าย เป็นลิ้นหัวใจส่วนที่พบความผิดปกติได้มากที่สุด
- ลิ้นหัวใจพัลโมนารี (Pulmonary valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างขวาและหลอดเลือดปอด หรือหลอดเลือดดำ
- ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) เป็นส่วนที่พบความผิดปกติมากเช่นเดียวกับลิ้นหัวใจไบคัสปิด (หรือไมทรัล)
เยื่อบุหัวใจ
เยื่อบุหัวใจ (Endocardium) เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่บุภายในหัวใจ รวมทั้งกล้ามเนื้อและลิ้นหัวใจ มีหน้าที่ปกป้องไม่ให้เลือดซึมผ่านเข้ากล้ามเนื้อหัวใจ และหล่อลื่นลิ้นหัวใจให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีเนื้อเยื่อที่คอยส่งกระแสไฟฟ้า เพื่อปรับและควบคุมการเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจ ถ้าหัวใจขาดเลือด อาจลุกลามจนเยื่อบุหัวใจขาดเลือดได้
ภาวะเยื่อบุหัวใจขาดเลือดอันตรายกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะเมื่อเนื้อเยื่อบุหัวใจตาย จะส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้ทันที
เยื่อบุหัวใจสามารถอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดเมื่อร่างกายมีบาดแผล หรือมีแหล่งเชื้อโรค เช่น ช่องปากไม่สะอาด หรือติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด
หลอดเลือดหัวใจ
หัวใจเป็นอวัยวะที่มีหลอดเลือดหล่อเลี้ยงเฉพาะของตัวเอง ชื่อว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery) แบ่งเป็นหลอดเลือดด้านซ้ายและด้านขวา
นอกจากนี้ ยังมีแขนงหลอดเลือดฝอยเล็ก ๆ ล้อมรอบกล้ามเนื้อหัวใจ โดยแทรกกระจายระหว่างหลอดเลือดหัวใจทั้งสองเส้น ทำหน้าที่เป็นหลอดเลือดเบี่ยง หรือหลอดเลือดสำรอง
ในภาวะปกติ หลอดเลือดฝอยเหล่านี้จะไม่ทำงาน ยกเว้นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน หรืออุดตัน หลอดเลือดฝอยเหล่านี้จึงจะนำเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจแทน
หลอดเลือดแดง
หลอดเลือดแดง (Aorta) เป็นหลอดเลือดแดงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนที่นำเลือดแดงออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยแตกเป็นแขนงต่าง ๆ มีทั้งแขนงขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดฝอย
หลอดเลือดเหล่านี้จะไม่มีชื่อเฉพาะ แต่เรียกรวม ๆ ว่า “หลอดเลือดแดง” และตามด้วยชื่ออวัยวะที่หลอดเลือดแดงหล่อเลี้ยงอยู่ เช่น หลอดเลือดแดงไต หรือหลอดเลือดแดงตับ
หัวใจมีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะหากคนเราไม่มีหัวใจ ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นอวัยวะที่สูบฉีดเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งภายในเลือดจะมีออกซิเจนที่ผ่านจากการฟอกปอดอยู่ด้วย
นอกจากนี้ หัวใจยังทำหน้าที่นำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งของเสียต่าง ๆ กลับมาที่ปอดเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไปอีกด้วย
ดังนั้น อย่าลืมดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนนอนหลับ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล