7 อาหารเสี่ยงเกิดอาการแพ้

7 อาหารเสี่ยงเกิดอาการแพ้พร้อมวิธีป้องกัน

ภูมิแพ้อาหาร เป็นโรคภูมิแพ้ประเภทหนึ่งที่หลายคนเผชิญ โดยอาการแพ้อาหารมีสาเหตุมาจากกลไกของระบบภูมิต้านทาน ที่ถูกกระตุ้นโดยอาหารที่ผู้ป่วยแพ้จนมีการสร้างภูมิต้านทานชนิดอี (Immunoglobin E: IgE) ขึ้นมา ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้เกิดการหลั่งสารฮิสทามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการแพ้ออกมาด้วย

อาการของโรคภูมิแพ้อาหารที่มักเกิดขึ้น 

  • จมูก ตา ปาก ลิ้น หรือทั้งใบหน้ามีอาการบวม
  • หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออกเลย
  • ความดันโลหิตต่ำลง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสียอย่างรุนแรง
  • ท้องร่วง
  • มีอาการลมพิษ หรือผิวหนังเป็นตุ่มบวม เกิดผื่นคัน หรือเป็นรอยปื้นแดงทั่วร่างกาย
  • ช็อกจนหมดสติ

ตัวอย่างอาหารที่แพ้บ่อยๆ

  • ทารกและเด็กเล็ก: มักแพ้ในช่วงอายุ 0-2 ปี จะพบได้ประมาณ 6%-8% ของประชากร อาหารที่แพ้บ่อยได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่งลิสง ถั่วเหลือง
  • ผู้ใหญ่: จะพบได้ประมาณ 2%-5% ของประชากร มักจะพบมากในช่วงอายุประมาณ 30 ปี บางครั้งอาจเป็นแค่เพียงการสัมผัสที่ริมฝีปาก ก็ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ (Oral Allergy Syndrome; OAS) อาหารที่แพ้บ่อยได้แก่ ปลา อาหารทะเลที่มีเปลือก ถั่วลิสง ถั่วเหลือง
  • การแพ้อาหารที่พบไม่บ่อยได้แก่ การแพ้อาหารในผู้ประกอบอาหาร ซึ่งมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการหอบหืด หรือภูมิแพ้จมูก หรือผื่นลมพิษ การแพ้ถุงมือยาง

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารแต่ละรายจะมีอาการแพ้ต่อประเภทของอาหารที่แตกต่างกันไป

อาหารที่ผู้ป่วยมักเกิดอาการแพ้และควรระมัดระวังเป็นพิเศษ 

นมวัว

นมวัวเป็นอาหารที่ทารกและเด็กเล็กมักเกิดอาการแพ้บ่อยที่สุด ประมาณ 2.5% ของเด็กในรุ่นนี้ โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็กที่เคยดื่มนมวัวมาก่อนที่พวกเขาจะอายุ 6 เดือน

นอกจากนี้ อาการแพ้นมวัวยังเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่มารดาได้รับโปรตีนนมวัวปานกลางในเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์จึงทำให้ทารกมีอาการแพ้นมวัวเมื่อคลอดออกมา

อย่างไรก็ตาม 90% ของทารกและเด็กเล็กที่เคยแพ้นมวัวอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุครบ 3 ขวบ บางรายอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุครบ 5-10 ขวบ และอาการแพ้จะน้อยลงไปอีก หรืออาจหายไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว

สำหรับอาการของผู้ที่แพ้นมวัวจะได้แก่ เป็นผื่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง อาเจียน ในบางรายอาจพบภูมิแพ้จมูก หอบหืดในช่วงเดือนแรกๆได้อีกด้วย

วิธีป้องกันอาการแพ้นมวัวให้หลีกเลี่ยงการดื่มนมวัว นอกจากนี้การรับประทานนมมารดาจะช่วยป้องกันอาการแพ้อาหารในทารกและเด็กเล็กได้ด้วย

เนื่องจากนมมารดาจะไปกระตุ้นระบบทางทางเดินอาหารของทารกและเด็กเล็กให้มีภูมิคุ้มกัน และตัวทารกจะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์จนความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้น้อยลง

ส่วนกรณีทารกและเด็กเล็กที่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูง คุณควรให้ทารกและเด็กเล็กรับประทานนมมารดาเพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด โดยมารดาไม่จำเป็นต้องงดนมวัว หรืออาหารที่รับประทานเป็นปกติก็ได้

อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีมารดาควรงดรับประทานอาหารเสริมบางประเภทไปก่อนในระหว่างต้องให้นมบุตร เช่น ไข่แดง อาหารทะเล และรีบปรึกษาแพทย์ว่า ควรดูแลสุขภาพของทารก หรือเด็กเล็กอย่างไรให้ถูกวิธี

ผู้ที่แพ้นมวัวนอกจากจะต้องหลีกเลี่ยงไม่รับประทานนมวัวแล้ว ยังต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนมวัวด้วย เช่น นมผง ชีส เนย โยเกิร์ต วิปครีม ไอศกรีม

2. ไข่

ไข่เป็นอาหารอีกประเภทที่มีคนแพ้ไม่น้อยไปกว่านมวัว โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มักเกิดอาการแพ้ไข่ก็คือ กลุ่มเด็กเล็กอีกเช่นกัน โดยอาการแสดงมักจะเป็นปวดท้อง เป็นผื่น หายใจลำบาก หรืออาจเป็นอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงซึ่งมีความอันตรายสูง

สำหรับส่วนประกอบของไข่ที่มักจะทำให้เกิดอาการแพ้มากที่สุดคือ ส่วนของไข่ขาว เพราะในไข่ขาวมีโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ได้มากกว่าไข่แดง

วิธีการป้องกันอาการแพ้ก็คือ คุณต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่ให้ได้มากที่สุด แต่อาจไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของไข่เสมอไป

เพราะอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ หากมีการปรุงสุกแล้ว ความร้อนจะเข้าไปเปลี่ยนโปรตีนของไข่ที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ก็จะน้อยลงหรือไม่มีอาการเลย

แต่เพื่อความปลอดภัย หากคุณมีอาการแพ้ไข่ก็ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่า สามารถรับประทานไข่ได้อย่างไรบ้าง

3. ถั่วลิสง

อาหารตระกูลถั่วเป็นอีกหนึ่งประเภทของอาหารที่มีคนแพ้เป็นจำนวนมาก ถั่วลิสงก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

สำหรับกลุ่มผู้ที่เสี่ยงแพ้ถั่วลิสงมากที่สุดคือ กลุ่มผู้ที่เคยมีประวัติคนในครอบครัวแพ้ถั่วมาก่อน หรืออาการแพ้อาจมีจุดเริ่มต้นมาจากในช่วงที่ยังให้นมบุตร หรือกำลังหย่านม ซึ่งมารดาของผู้ป่วยมักจะรับประทานถั่วอยู่เป็นประจำ

เด็กๆ ที่เป็นโรคภูมิแพ้ถั่วลิสงประมาณ 15-22% จะสามารถหายจากอาการแพ้ถั่วได้เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยเด็กส่วนอื่นอีกจำนวนมากที่อาการแพ้ยังคงเป็นอยู่จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ และมักจะแพ้ถั่วชนิดอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ถั่วลิสงเท่านั้น เช่น

  • วอลนัท
  • เฮเซลนัท
  • อัลมอนด์
  • ถั่วพีแคน
  • ถั่วแมคคาเดเมีย
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • ถั่วเหลือง

วิธีป้องกันอาการแพ้ถั่วลิสง:  ผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วไปตลอดชีวิตหากอาการป่วยยังคงมีอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ได้มีการคิดค้นวิธีรักษาอาการแพ้ถั่วอีกรูปแบบหนึ่ง

นั่นคือ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานถั่วที่แพ้ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดมาให้ เพื่อให้อาการตอบสนองต่อโรคภูมิแพ้ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง

อาการแพ้ถั่วสามารถรุนแรงถึงขั้นเป็นอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงได้ และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้อย่างกะทันหันหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ส่วนอาการภูมิแพ้จากถั่วลิสงและถั่วอื่นๆ จะมีดังต่อไปนี้

  • ผิวหนังเป็นตุ่มบวม และคันตามผิวหนัง
  • ใบหน้าและลำคอบวมขึ้น
  • อาเจียน
  • หายใจไม่ออก
  • ปวดท้อง
  • ท้องร่วง
  • คลื่นไส้อาเจียน

4. ถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองเป็นอีกสารก่อภูมิแพ้ยอดฮิตที่เด็กๆ หลายคนต้องระวังเพราะผู้ที่มักเกิดอาการแพ้ถั่วเหลืองจะเป็นเด็กเสียส่วนมาก โดยค่าเฉลี่ยอายุจะอยู่ที่ทารกและเด็กอายุต่ำว่า 3 ขวบ

กลุ่มเด็กไทยและเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ประเทศแถบเอเชียอาจต้องระวังอาการแพ้ถั่วเหลืองเป็นพิเศษ เพราะอาหารในภูมิภาคเอเชียส่วนมาก มักจะมีส่วนผสมของถั่วเหลืองอยู่เกือบทั้งหมด รวมถึงนมวัวด้วย

อาการแพ้ที่แสดงออกมักจะมีดังต่อไปนี้

  • หอบหืด
  • หายใจลำบาก
  • คันตามผิวหนัง
  • เป็นผื่นขึ้น
  • หายใจมีเสียงวี้ด

ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วเหลืองอย่างรุนแรงอาจช็อกและหมดสติได้ ดังนั้นหากคุณมีอาการแพ้ถั่วเหลือง ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง คุณจึงควรอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ เสียก่อน

นอกจากนี้คุณยังต้องสอบถามกับทางร้านอาหารที่ไปรับประทานทุกครั้งว่า ในอาหารมีส่วนผสมของถั่วเหลืองหรือไม่ และให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการรับประทานอาหารที่เหมาะสม

5. อาหารทะเลที่มีเปลือก

อาหารทะเลจัดเป็นอาหารอันดับต้นๆ ที่มักทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง โดยอาหารทะเลที่มีเปลือกซึ่งผู้เป็นโรคภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงจะได้แก่

  • กุ้ง
  • กุ้งล็อบสเตอร์
  • ปู
  • กุ้งก้ามแดง
  • หอยนางรม
  • หอยแครง
  • หอยแมลงภู่
  • หอยกาบ
  • หอยตลับ

ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารทะเลที่มีเปลือกต่อไปนี้ส่วนมากมักจะมีอาการแพ้ต่ออาหารทะเลที่มีเปลือกชนิดอื่นๆ ด้วย

ทางที่ดีหากคุณมีอาการแพ้อาหารที่กล่าวมาข้างต้นชนิดใดชนิดหนึ่ง ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลทุกชนิดเพื่อความปลอดภัย

สำหรับกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่ออาการแพ้อาหารทะเลที่มีเปลือกมักจะเป็นผู้ที่เคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน อาการแพ้อาหารทะเลที่มีเปลือกก็สามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ไม่จำเป็นต้องเกิดอาการตั้งแต่เด็กเท่านั้น

อาการแพ้อาหารทะเลมักจะแสดงออกค่อนข้างรุนแรงและไวต่อสารก่อภูมิแพ้มาก ผู้ป่วยบางรายจะมีการตอบสนองถึงแม้จะสัมผัสแค่ไอน้ำ หรือควันจากอาหารทะเลที่ปรุงแล้ว เช่น

  • รู้สึกคันปาก ลิ้น คอ จมูก หรือตา
  • หนังตาบวม ปากบวม หรือมีอาการบวมทั่วทั้งใบหน้า
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องร่วง
  • แน่นหน้าอก
  • ปวดหัว
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ชีพจรเต้นเร็วขึ้น
  • หายใจลำบาก
  • ช็อกจนหมดสติ เนื่องจากความดันโลหิตต่ำลงมาก

6. ปลา

นอกจากอาหารทะเลที่มีเปลือกจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้แล้ว สัตว์ทะเลอย่างปลาก็สามารถก่ออาการแพ้ได้เช่นกัน และยังร้ายแรงถึงขั้นเป็นอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงด้วย

กลุ่มผู้ที่เสี่ยงแพ้ปลาจะเป็นผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่มากกว่าวัยเด็ก โดยสาเหตุอาจมาจากคนวัยผู้ใหญ่มักจะรับประทานอาหารทะเลบ่อยกว่าเด็กนั่เอง

นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการแพ้ในปลาชนิดหนึ่งก็มักจะมีอาการแพ้ในปลาชนิดอื่นๆ ด้วย ผู้ป่วยที่แพ้ปลาจึงไม่ควรรับประทานอาหารประเภทปลาทุกรูปแบบ ถึงแม้จะมีการปรุงสุกแล้วก็ตาม

7. ธัญพืช

สารก่อภูมิแพ้หลักที่อยู่ในอาหารประเภทธัญพืชจะเป็นโปรตีนที่มีชื่อว่า “ไกลอะดิน (Gliadin)” ซึ่งอยู่ในโปรตีนในแป้งชื่อ “กลูเตน (Gluten)” โดยผู้ที่มักมีอาการแพ้ธัญพืชจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มเด็กเล็กเป็นส่วนมาก และอาการแพ้ธัญพืชมักจะเกี่ยวกับระบบระบบย่อยอาหาร เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เป็นผื่นแดง
  • ผิวหนังบวมนูน

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่เกิดอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงได้หลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ประเภทธัญพืชเข้าไป

ดังนั้นผู้ที่อาการแพ้ธัญพืชจึงต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของธัญพืชทุกชนิด รวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนกลูเตนด้วย

นอกจากอาหารทั้ง 7 ประเภทที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอาหารประเภทอื่นๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้อีก เช่น

  • ธัญพืชซีเรียล ส่วนมากมักจะอยู่ในข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ข้าว ข้าวไรย์ ข้าว ข้าวบาร์เล่ย์
  • มะพร้าว ซึ่งอาการของผู้ที่แพ้จะคล้ายกับผู้ป่วยที่แพ้อาหารประเภทถั่ว
  • ผักและผลไม้ แต่ส่วนมากจะไม่เกิดอาการภูมิแพ้หากรับประทานผักปรุงสุก หรือได้ผ่านความร้อนมาก่อน
  • เนื้อ เช่น เนื้อวัว เนื้อสัตว์ เนื้อไก่ การปรุงอาหารด้วยความร้อนจะช่วยลดความเสี่ยงของอาการแพ้ได้ส่วนหนึ่ง แต่ในผู้ป่วยภูมิแพ้บางราย อาการก็จะยังปรากฏอยู่
  • ข้าว อาการแพ้ไม่ได้เกิดแค่จากการรับประทานเท่านั้น แค่ผู้ป่วยบางรายที่สูดเอาละอองฝุ่น หรือละอองเล็กๆ ที่มีส่วนประกอบของข้าวเข้าไปก็สามารถเกิดอาการแพ้ได้
  • งา ปัจจุบันมีปริมาณผู้ป่วยที่มีอาการแพ้งามากขึ้นเรื่อยๆ หากแพ้งาต้องหลีกเลี่ยงทุกผลิตภัณฑ์ที่มีงาเป็นส่วนผสม เช่น เมล็ดงา น้ำมันงา
  • เครื่องเทศ เป็นประเภทของอาหารที่มีอาการแพ้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่เกิดอาการแพ้ได้ในอาหารที่มีเครื่องเทศเป็นส่วนผสม เช่น มัสตาร์ด ผักชี เมล็ดยี่หร่า หัวเฟนเนล ปาปริก้า หญ้าฝรั่น

ถึงแม้จะต้องจำกัดประเภทของอาหารที่รับประทาน แต่ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารก็ยังต้องดูแลตนเองให้ได้รับสารอาหารเพียงพอครบ 5 หมู่ เพื่อให้ภูมิต้านทานของร่างกายยังสมดุล ไม่เกิดภาวะขาดสารอาหาร และได้รับสารอาหารที่หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. รุจิรา เทียบเทียม


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top