Do: สิ่งที่คุณควร “ทำ” เมื่อเป็นไมเกรน
สิ่งที่คนเป็นไมเกรนควรทำ คือ การดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ แต่จะมีรายละเอียดบางอย่างที่คุณต้องโฟกัสมากกว่าคนทั่วไป
พักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ
การนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพเป็นหัวใจหลักในการดูแลสุขภาพสำหรับทุกการเจ็บป่วย รวมถึงอาการปวดหัวไมเกรนด้วย แต่ละวันควรนอนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน คุณสามารถเพิ่มคุณภาพการนอนหลับแบบฉบับคนเป็นไมเกรนได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ทำให้ภายในห้องมืดสนิทที่สุด เพื่อลดแสงรบกวน
- ทำให้ภายในห้องเงียบที่สุด เพื่อลดเสียงรบกวน หรืออาจใช้เสียงเพลงคลอเบา ๆ เพิ่มความผ่อนคลาย
- ปรับอุณหภูมิภายในห้องให้ต่ำลง ถ่ายเท อากาศเย็นสบาย เหมาะกับการนอนหลับ
- ฝึกนอนให้เป็นเวลา พยายามนอนให้ได้เวลาเดิมทุกคืน เพื่อสุขภาพการนอนที่ดีในระยะยาว
หากอาการไมเกรนกำเริบระหว่างวันลองงีบหลับช่วงสั้น ๆ สัก 20-30 นาที จะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงได้
กินอาหารที่มีประโยชน์
สารอาหารมีส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพ คนที่เป็นไมเกรน ควรกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย แต่อาจเน้นสารอาหารบางชนิดที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการไมเกรน เช่น
- วิตามินบี 2 ที่มากพบในนม ชีส เนื้อปลา และเนื้อไก่
- แมกนีเซียมที่พบมากในผักใบเขียว ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วเปลือกแข็ง อย่างอัลมอนด์ และแมคคาเดเมีย
- อาหารที่มีส่วนผสมของขิง หรือน้ำขิง
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายสามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไมเกรนได้ โดยมีส่วนช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด และอารมณ์ที่ทำให้เกิดอาการไมเกรน และยังช่วยลดความเสี่ยงโรคอ้วนที่สัมพันธ์กับอาการปวดหัวเรื้อรังอีกด้วย
คุณอาจลองหาเวลาออกกำลังกาย วันละ 20-30 นาที ไม่ว่าจะเป็นเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เล่นโยคะ หรือออกกำลังกายแบบอื่น ๆ ในลักษณะที่เป็นแอโรบิค (Aerobic) และเลี่ยงการออกกำลังกายขณะมีอาการ เพราะจะยิ่งทำให้อาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้น
ใช้ยาแก้ปวดตามคำแนะนำแพทย์
การกินยาแก้ปวดทั่วไป อย่างยาพาราเซตามอล (Paracetamol) จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน หากอาการปวดไมเกรนรุนแรง เป็นบ่อย ดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
โดยแพทย์อาจให้ใช้ยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ หรือยาป้องกันไมเกรน ควบคู่ไปกับการดูแลตัวเอง
DON’T: สิ่งที่คุณควร “เลี่ยง” เมื่อเป็นไมเกรน
ปัจจัยและสภาพแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน การเลี่ยงปัจจัย และพฤติกรรมเหล่านี้ อาจช่วยลดความรุนแรง และความถี่ของอาการไมเกรนได้
นอนดึก นอนไม่เป็นเวลา
พฤติกรรมการนอนดึก นอนไม่เป็นเวลา จะทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ และกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ ทางที่ดีควรปรับเวลาการนอน ให้เข้านอนและตื่นนอนในเวลาใกล้เคียงกันของทุกวัน ไม่ใช่ทำเฉพาะวันทำงาน วันหยุดจะนอนดึกแล้วตื่นสายชดเชยแทน ซึ่งไม่สามารถทดแทนกันได้
อยู่ในสถานที่มีแสงสว่างจ้า เพ่งแต่หน้าจอ
การอยู่ในสถานที่มีแสงจ้ามาก ๆ หรือสายตาต้องเจอกับแสงสว่างทันที ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด แสงไฟที่สว่างมาก ๆ แสงไฟกะพริบ รวมไปถึงแสงจากจอมือถือ โทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ด้วย สามารถกระตุ้นให้อาการไมเกรนกำเริบขึ้นมาได้
เครียดง่าย มีเรื่องกังวลใจตลอดเวลา
ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไมเกรน และอาการของโรคแย่ลง เมื่อเราเครียดจะทำให้นอนไม่หลับ และพักผ่อนไม่เพียงพอตามมา หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เครียดง่าย มีความกังวลใจบ่อย คงไม่ดีกับอาการไมเกรนเป็นแน่
ลองผ่อนคลายสภาพจิตใจด้วยวิธีต่าง ๆ หรือหาทางจัดการกับสถานการณ์ที่ทำให้เครียดสะสม เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น อ่านหนังหรือทำงานอดิเรกที่ชอบ ปรับรูปแบบการทำงานใหม่
กินอาหารบางอย่างมากเกินไป
อาหารบางประเภทมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนขึ้นได้ ถ้าลดการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่รู้ว่าเป็นสาเหตุของอาการไมเกรน ก็จะช่วยลดความถี่ของอาการปวดลงได้ เช่น
- อาหารเค็มจัด
- อาหารที่มีผงชูรส
- ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เนย ชีส
- ช็อกโกแลต
- ไวน์แดง เบียร์
- ชา กาแฟ
- อาหารแปรรูป อย่างไส้กรอก เบคอน แฮม
- อาหารหมักดอง
- น้ำตาลเทียม โดยเฉพาะแอสปาแตม
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกระตุ้นไมเกรนอื่นอีกได้ แต่ละคนอาจไวต่อปัจจัยกระตุ้นอาการต่างกัน ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตตัวเอง ดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นนั้น ๆ ได้ถูก
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าอาการไมเกรนสามารถบรรเทาได้ เพียงแค่ใส่ใจในชีวิตประจำวัน นอกจากการดูแลตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้ และการรักษาจากแพทย์แล้ว ข้อมูลบางส่วนก็พบว่าการแพทย์ทางเลือก อย่างการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีน อาจช่วยป้องกันอาการไมเกรนได้
อาการปวดหัวเรื้อรัง ปล่อยทิ้งไว้มีแต่จะรบกวนจิตใจ รีบหาสาเหตุและวางแผนการรักษา HDmall รวมแพ็กเกจตรวจอาการปวดหัว ราคาสบายกระเป๋า คลิกเลย หรืออยากลองฝังเข็มแก้ปวดไมเกรน เปรียบเทียบหาราคาที่ถูกใจได้ ที่นี่