เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงเคยมีอาการมึนหัว พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน หรือเมารถจากการเดินทางกันทั้งนั้น ซึ่งอาการเมารถ (Motion sickness) ในทางการแพทย์นั้นเรียกว่า ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว
ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว หรืออาการเมารถ เมาเรือ ไม่ใช่อาการป่วย แต่เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยา ยาแก้เมารถ-เมาเรือ มีให้เลือกใช้หลายชนิด แต่ที่มีการใช้กันแพร่หลาย คือ “Dimenhydrinate (ไดเมนไฮดริเนท)”
สารบัญ
ยา Dimenhydrinate แก้เมารถ เมาเรือ
Dimenhydrinate เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ เรียกว่า แอนตีฮิสตามีน (Antihistamine) จะออกฤทธิ์โดยตรงที่อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเมารถ–เมาเรือ
ยาแก้เมารถเป็นยาสามัญประจำบ้าน จัดว่าค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ จึงหาซื้อได้ง่าย ทั้งตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไป
รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Dimenhydrinate
Dimenhydrinate อยู่ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดยา 50 มิลลิกรัม
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป รับประทานครั้งละ 1–2 เม็ด ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน
- เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานครั้งละ ½ –1 เม็ด ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 3 เม็ดต่อวัน
- เด็กอายุ 2–6 ปี รับประทานครั้งละ ¼–½ เม็ด ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 1 ½ เม็ดต่อวัน
วิธีรับประทานยา Dimenhydrinate
- ควรรับประทานยาก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที
- ไม่ควรรับประทานยานี้เมื่อมีอาการแล้ว เพราะยาจะปนออกมากับอาเจียน โดยไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย
- สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ห้ามเกินปริมาณสูงสุด (ตามเนื้อหาด้านบน)
ผลข้างเคียงจากยา Dimenhydrinate
ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม เมื่อรับประทานไปแล้ว ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะใด ๆ เอง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
ทางเลือกอื่น ๆ ที่ช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือ
พลาสเตอร์ยา ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop)
พลาสเตอร์ยา ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop) คืออีกทางเลือกสำหรับแก้อาการเมารถ เมาเรือ เป็นพลาสเตอร์ที่บรรจุตัวยาสโคโปลามีน (Scopolamine) ใช้แปะติดกับผิวหนังหลังใบหู เพื่อให้ตัวยาดูดซึมผ่านผิวหนัง และเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณน้อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ
พลาสเตอร์นี้จะใช้งานได้ประมาณ 3 วัน และหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปในเมืองใหญ่ ๆ
ข้อควรปฏิบัติในการใช้พลาสเตอร์ยา ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop)
- ควรแปะพลาสเตอร์ก่อนออกเดินทาง 4 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ไว้ก่อน
- ติดบริเวณหลังใบหู ตรงที่ไม่มีผม หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแผลหรือเป็นผื่น เพราะอาจเกิดการระคายเคือง หรือทำให้ยาดูดซึมมากเกินไป และต้องเช็ดบริเวณดังกล่าวให้สะอาดด้วยกระดาษเช็ดหน้า
- ทำความสะอาดมือทั้งก่อนและหลังปิดแผ่นยาแก้เมารถ เพื่อไม่ให้ตัวยาติดมือแล้วเข้าตา ซึ่งอาจทำให้ตาพร่ามัวอยู่พักหนึ่ง เพราะสโคโปลามีนทำให้ม่านตาขยาย
- ถ้าจำเป็นต้องใช้เกิน 3 วัน ให้แกะพลาสเตอร์แผ่นใหม่ แล้วปิดที่หลังใบหูอีกข้างหนึ่งแทน เพราะแผ่นหนึ่งไม่ควรใช้เกิน 3 วัน
ข้อดีของพลาสเตอร์ยาแก้เมานี้ คือ จะดูดซึมยาได้ทีละเล็กละน้อย จึงช่วยลดอาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปากแห้ง ตามัว ม่านตาขยายกว้าง หรือง่วงนอน แต่บางรายก็อาจพบอาการเหล่านี้ได้บ้าง
ขิง
นอกจากพลาสเตอร์ยา สมุนไพรก็ช่วยแก้เมารถ เมาเรือได้เหมือนกัน ซึ่งสมุนไพรที่ว่า ก็คือ “ขิง” นั่นเอง
วิธีรับประทานขิง เพื่อเป็นยาแก้เมารถเมาเรือ
- ในกรณีที่เป็นรูปแบบแคปซูล ให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล ก่อนเดินทาง
- ดื่มน้ำขิง หรือรับประทานอาหารที่มีขิงเป็นส่วนผสมหลัก
- ฝานขิงเป็นแว่น ๆ แล้วนำมาอมก่อนออกเดินทาง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาแก้เมารถ เมาเรือ
Q: หญิงตั้งครรภ์กินยาแก้เมารถได้หรือไม่
A: หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยา Dimenhydrinate หรือที่คุ้นเคยกันว่าเป็นยาแก้เมารถ เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ง่วง มึนงง จมูกแห้ง ลำคอแห้ง ปวดศีรษะ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแก้เมารถ
ปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยา Pyridoxine (Vitamin B6) เป็นทางเลือกแรกในการลดอาการคลื่นไส้ที่ไม่รุนแรงขณะตั้งครรภ์ ขนาดที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 10–25 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง (ขนาดการใช้สูงสุด ไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม)
Q: คุณหมอคะ พอดีให้นมลูก แล้วแล้วเผลอกินยาแก้เมารถไปโดยไม่ได้เช็กก่อน ยาจะขับออกทางร่างกายภายในกี่ชั่วโมงคะ ลูกถึงจะกินนมแม่ได้ (เมื่อคืนทานยาไปตอนสองทุ่มครึ่งค่ะ) ขอบคุณมากนะคะ
A: ไม่แนะนำให้ใช้ Dimenhydrinate ระหว่างที่ให้นมบุตรค่ะ เนื่องจากยานี้ขับออกทางน้ำนมได้ และมีรายงานว่า ยาอาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ในทารก เช่น ปวดท้อง หรือไม่สบายตัว ประมาณ 10% และมีง่วงซึม ประมาณ 1.6% ของมารดาที่ใช้ยานี้
ยาแก้เมารถจะค่อย ๆ ลดประสิทธิภาพลง และถูกกำจัดออกทีละครึ่งหนึ่ง ทุก 8–9 ชั่วโมง และจะถูกกำจัดออกเกือบหมด ใช้เวลาประมาณ 25–40 ชั่วโมงหลังรับประทานยาค่ะ
แต่ยาบางชนิดก็สามารถใช้ในขณะให้นมบุตรได้ค่ะ หากเจ็บป่วยหรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาอีกในครั้งหน้า สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้านเพื่อพิจารณายาที่เหมาะสมให้ได้นะคะ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD