difference of osteoporosis and osteopenia disease definition scaled

รู้ชัดความต่าง กระดูกพรุน vs กระดูกบาง พร้อมวิธีลดความเสี่ยงจากโรค

ภาวะกระดูกพรุนและภาวะกระดูกบางเป็นแพ็คคู่ปัญหาการสูญเสียมวลกระดูกที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ แม้จะเป็นปัญหาของกระดูกเหมือนกัน แต่ความรุนแรงของโรคต่างกัน บทความนี้รวมข้อมูลที่ต้องรู้ของกระดูกพรุนและกระดูกบาง มาฝากกัน!    

กระดูกพรุน กับ กระดูกบาง ต่างกันอย่างไร

ร่างกายของเราจะมีกระบวนการสร้างกระดูกใหม่ (Osteoblast) และสลายกระดูกเก่า (Osteoclast) วนไปอย่างเป็นระบบ ช่วงอายุยังน้อย จะมีการสร้างกระดูกใหม่ได้เร็วกว่าสลายกระดูกเก่า ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นและแข็งแรง 

ในทางกลับกัน เมื่ออายุมากขึ้นหรือเลยจุดที่มวลกระดูกหนาแน่นสูงสุดในชีวิต คือ ช่วงหลังอายุ 35 ปี การสร้างกระดูกใหม่จะช้าลง ส่วนการสลายกระดูกจะเร็วขึ้น เลยเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุค่อย ๆ มีมวลกระดูกน้อยลง กระดูกอ่อนแอ เปราะบาง จนเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนตามลำดับ

ภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนจะแตกต่างกัน ดังนี้ 

กระดูกบาง (Osteopenia)
เป็นสัญญาณแรกเริ่มของภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากเป็นภาวะที่มวลกระดูกน้อยกว่าปกติ หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับคนอายุเท่ากัน แต่ยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นอันตราย และไม่ถือว่าเป็นโรค 

กระดูกพรุน (Osteoporosis)
เป็นเหมือนภาวะกระดูกบางขั้นรุนแรง โดยมวลกระดูกลดลงมาก จนโครงสร้างภายในกระดูกมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง มีรูพรุนมากและกว้างขึ้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือ การกระแทกเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน อาจเกิดกระดูกแตกหักได้ 

การแยกความต่างของกระดูกพรุนและกระดูกบาง ทำได้ด้วยการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกหรือ DEXA Scan โดยผลตรวจที่เรียกว่า ค่า T-Score จะช่วยบ่งบอกสุขภาพมวลกระดูกของเรา ว่าอยู่ในระดับกระดูกบางหรือกระดูกพรุนนั่นเอง

ค่า T-Score ที่บ่งบอกถึงภาวะกระดูกบาง คือ อยู่ระหว่าง –1 ถึง –2.5 และค่า T-Score ที่บ่งบอกถึงภาวะกระดูกพรุน คือ ต่ำกว่า –2.5

กระดูกพรุนและกระดูกบาง เกิดจากอะไร

กระดูกบางและกระดูกพรุนเป็นผลจากการสูญเสียความหนาแน่นและมวลกระดูกตามธรรมชาติ โดยมีปัจจัยหลายประการร่วมกันที่เร่งให้เกิดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาสุขภาพ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น

  • อายุเยอะขึ้น ทำให้ค่ามวลกระดูกเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • เพศหญิง โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน  
  • พันธุกรรมจากคนในครอบครัว
  • น้ำหนักตัวน้อย ผอม หรือโครงร่างบาง  
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี เช่น ทานอาหารไม่หลากหลาย ได้รับสารอาหารไม่ครบ โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด
  • โรคประจำตัว เช่น ปัญหาฮอร์โมน โรคต่อมไทรอยด์ โรคข้ออย่างรูมาตอยด์ โรคการกินผิดปกติ โรคไตวาย โรคเบาหวาน และการตัดรังไข่ออก    
  • ยาบางชนิดที่ต้องใช้ติดต่อกันนาน เช่น ยากันชัก ยารักษามะเร็ง ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรือยารักษาไทรอยด์ 
  • การไม่รักษาภาวะกระดูกบางตั้งแต่เนิ่น ๆ

กลุ่มเสี่ยงกระดูกพรุนและกระดูกบางที่ควรตรวจคัดกรอง

อย่างที่อธิบายว่า ภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนเกิดจากหลายปัจจัย หากมีปัจจัยเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจคัดกรองโรค หรือการตรวจมวลกระดูกด้วยเครื่อง DEXA โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่

  • ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอายุ 5064 ปีที่มีความเสี่ยงกระดูกหักสูงจากปัจจัยอื่น 
  • ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีปัจจัยในการสูญเสียมวลกระดูกสูง
  • ผู้ที่กระดูกหักหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น โรคประจำตัว พันธุกรรม ยารักษาโรค และพฤติกรรมการใช้ชีวิต 

การตรวจมวลกระดูกด้วยเครื่อง DEXA นอกจากช่วยคัดกรองภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนตั้งแต่ระยะเริ่มแรกแล้ว ยังใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของกระดูก ทำให้แพทย์วางแผนการรักษา และหาทางป้องกันให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนง่ายขึ้น

ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงกระดูกแตกหักและภาวะแทรกซ้อนจากโรคในอนาคต เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ปัญหากระดูกสันหลังอย่างหลังโก่งหรือหลังค่อม เคลื่อนไหวลำบาก ช้าลง หรือแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียง 

กระดูกพรุนและกระดูกบาง ลดปัจจัยเสี่ยง ก็เลี่ยงโรคได้

ภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติตามอายุที่เพิ่มขึ้น จึงป้องกันไม่ได้เต็มร้อย ทำได้เพียงลดความเสี่ยงหรือชะลอให้เกิดช้าลงด้วยการดูแลและปรับพฤติกรรมตัวเอง

โดยทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี พบมากในผลิตภัณฑ์จากนม และผักใบเขียว อย่างกวางตุ้งหรือคะน้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเสริมสร้างกระดูกและร่างกาย 

เพิ่มการทำกิจกรรมทางกาย หรือออกกำลังกายที่เน้นลงน้ำหนัก (Weight bearing exercise) เป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น เดิน วิ่ง เต้นแอโรบิค โยคะ หรือพิลาทีส ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูก และเสริมให้กระดูกแข็งแรงขึ้น 

เลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพกระดูก โดยเลิกสูบบุหรี่ จำกัดหรืองดดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือน้ำอัดลม และที่สำคัญ หากมีความเสี่ยงสูงหรืออายุถึงเกณฑ์เสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองกระดูกบางและกระดูกพรุน เพื่อชะลอการเกิดโรคให้ได้มากที่สุด 

อย่าเดาให้เสียเวลาว่า กระดูกเราบางอยู่หรือพรุนแล้ว มาทางนี้ดีกว่า HDmall.co.th รวมแพ็กเกจ ตรวจคัดกรองกระดูกบาง กระดูกพรุน ราคาโปรโมชั่นสุดจึ้ง จองด่วน! 

Scroll to Top