วิธีเลิกยาเสพติดให้สำเร็จ

วิธีเลิกยาเสพติดให้สำเร็จ

หากคนใกล้ชิดของคุณกำลังติดยาเสพติดอย่างหนัก และคุณมีความคิดที่จะหยุดยั้งการเสพติดของคนเหล่านั้น คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในการเลิกเสพยาเสพติดได้

เรามาดูข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้เสพยา และวิธีการเลิกยาเสพติดกันว่ามีอะไรบ้าง

สารบัญ

ความแตกต่างระหว่างการติดยาเสพติด และการเสพยาเสพติด

การติดยา หมายถึง การใช้ยาเสพติดที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายอย่างรุนแรง และทำให้ผู้เสพมีอาการติดยา หรือต้องการเสพยาตลอดเวลา

การเสพยา หมายถึง การใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาที่ถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายก็ตาม

การเสพยาเสพติดเป็นอย่างไร?

การเสพยา หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้หมายความว่า ผู้เสพจะมีอาการเสพติดเสมอไป เช่น ผู้ชายคนหนึ่งสูบกัญชา 3-4 ครั้ง นั่นไม่ได้หมายความว่า เขามีอาการเสพติดกัญชา แต่หากในอนาคต เขายังคงสูบกัญชาอย่างต่อเนื่องก็มีโอกาสที่จะทำให้เขากลายเป็นคนติดกัญชาได้

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วคนเราสามารถเสพติดสารใดๆ ก็ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ยาเสพติดที่มักได้ยินติดหูกัน แต่คนส่วนมากจะเข้าใจผิดว่า อาการเสพติดมักเกิดกับการเสพยาที่ผิดกฎหมาย หรือการดื่มสุรา และเครื่องแอลกอฮอล์เท่านั้น

ยาต่างๆ บุหรี่ หรือกาว ก็สามารถทำให้เกิดพฤติกรรมการเสพติดได้เช่นกัน ซึ่งสารบางประเภทนั้น สามารถทำให้ผู้เสพเกิดอาการติดยาอย่างรุนแรงได้ เช่น โคเคน เฮโรอีน แม้จะเป็นการลอง หรือเสพเพียงครั้งเดียวก็ตาม

อาการในระหว่างติดยาเสพติด

อาการติดยา คือ การที่ผู้เสพยาไม่สามารถควบคุม หรือบังคับตนเองให้ห่างจากอาการอยากยาได้ เช่น ผู้ที่เสพติดโคเคน คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถหยุดการใช้ยาได้และจะต้องใช้ยามากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้การติดยายังส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางด้านร่างกาย และสภาพทางจิตได้ดังนี้

  • เกิดความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ ฤทธิ์ของยาเสพติดหลายชนิดก่อให้เกิดความผิดปกติภายในสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ติดยาเห็นภาพหลอน รู้สึกว่า ตนมีพละกำลังมากมายมหาศาล ตื่นตัวตลอดเวลา และอาจกลายเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตได้
  • อาการลงแดง เป็นอาการทางร่างกายที่แสดงออกมาเมื่อผู้ติดยาเสพติดขาดยา หรือต้องการเลิก และหยุดใช้ยา เนื่องจากร่างกายได้เสพติดการใช้สารดังกล่าวไปแล้ว อาการที่แสดงออกมาจะได้แก่ ท้องร่วงอย่างรุนแรง ตัวสั่น รู้สึกหวาดกลัว หรือเห็นภาพหลอน
  • อาการดื้อยา เป็นอาการที่ทำให้ผู้ติดยาต้องการยาในปริมาณที่มากขึ้น และมีจำนวนครั้งในการเสพถี่ขึ้นด้วย
  • ก่ออาชญากรรม การซื้อยาเสพติดมักต้องใช้เงินจำนวนมาก ผู้ที่ติดยาเสพติดส่วนมากเมื่อไม่มีเงินพอที่จะซื้อยามาเสพได้จึงมักก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้เงินมาซื้อยา บางครั้งอาจรุนแรงถึงการฆ่าชิงทรัพย์ได้
  • ระบบการทำงานภายในร่างกายเกิดความผิดปกติ ยาเสพติดจะเข้าไปก่อกวน และทำลายระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายหลายด้าน เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูง มีไข้ เลือดออกในสมอง ตาลาย ง่วงซึม ท้องผูก การมองเห็น และการได้ยินผิดเพี้ยนไป

สัญญาณของการติดยาเสพติด

สัญญาณที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า คุณกำลังติดยาเสพติด คือ การที่คุณต้องเสพยานั้นอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบ่งบอกอื่นๆ ได้อีก ได้แก่

สัญญาณที่สังเกตได้จากพฤติกรรมทางจิต

  • ไม่สุงสิงกับใคร แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว
  • ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งยาเสพติด
  • มีอารมณ์ก้าวร้าว แปรปรวน รวมทั้งวิตกกังวล และมีอาการซึมเศร้า
  • เลิกทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำอยู่เป็นประจำ เช่น กีฬา ดนตรี หรืองานอดิเรกต่างๆ
  • มีปัญหาที่โรงเรียน หรือเกี่ยวกับการเรียน เช่น ผลการเรียนตก ขาดเรียน
  • เมื่อมีปัญหา หรือเกิดความเครียด คุณมักจะหาทางออกด้วยการเสพยา
  • มีพฤติกรรมการลักขโมย เพื่อนำเงินไปซื้อยาเสพติด
  • ไม่สามารถเลิกยา หรือเลิกดื่มสุราได้ แม้จะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม
  • หันไปคบเพื่อนกลุ่มที่เสพยาด้วยกัน หรือมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะเสพยา

สัญญาณที่สังเกตได้จากการกระทำ และพฤติกรรมภายนอก

  • มีอาการตัวสั่น และป่วยเมื่อพยายามหยุดใช้ยาเสพติด
  • พฤติกรรมการรับประทานอาการเปลี่ยนไป ทำให้น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ
  • ต้องเสพยาในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา และรู้สึกดีขึ้น
  • พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลงไป

จะทำอย่างไร เมื่ออยากเลิกเสพยา?

ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ ที่จะเลิกเสพยาได้ เพราะการติดยาเสพติดมีความเกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะภายในร่างกาย ถึงแม้ผู้เสพจะอยากเลิกแค่ไหน แต่หากร่างกายยังไม่สามารถหยุดเสพยาดังกล่าวได้ ก็ยังมีโอกาสที่การเลิกเสพยาจะไม่ประสบความสำเร็จ

ผู้ติดยาหลายคนเชื่อว่า พวกเขาสามารถเลิกยาได้ด้วยตนเองแต่น้อยคนนักที่จะทำได้จริงๆ ดังนั้นคุณควรมองหาใครสักคนที่คุณไว้ใจ อาจเป็นเพื่อนสนิท คนรัก คนในครอบครัว หรือแพทย์ประจำตัวที่คุณไว้ใจ

หากคุณไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ แนะนำให้คุยกับครูที่ปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่คุณไว้ใจ หรือนักบำบัดยาเสพติด เพื่อช่วยหาแนวทางในการเลิกยาเสพติดให้กับคุณ

อีกสิ่งสำคัญที่ผู้ติดยารวมทั้งผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดยาจะต้องเข้าใจ คือ การที่ผู้ติดยาไม่สามารถหยุดพฤติกรรมการเสพยาได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอแต่อย่างใด คุณสามารถเริ่มต้นการเลิกเสพยาได้ใหม่อีกครั้ง

เคล็ดลับสำหรับการเลิกยาเสพติด

เมื่อคุณตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบำบัด หรือตัดสินใจจะเลิกยาเสพติดแล้ว ลองใช้เคล็ดลับเหล่านี้เพื่อช่วยให้แผนการเลิกยาของคุณมีอุปสรรคน้อยลง

1. บอกเพื่อนๆ ว่า คุณกำลังพยายามเลิกเสพยา

เพื่อนที่หวังดีกับคุณจริงๆ จะเข้าใจ และเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำ รวมทั้งจะสนับสนุนให้คุณเลิกยาเสพติดให้ได้ แต่นั่นหมายความว่า คุณจะคงต้องเลิกคบกลุ่มเพื่อนที่เสพยา และเข้ากลุ่มเพื่อนใหม่ที่สนับสนุนช่วยเหลือ และเห็นอกเห็นใจคุณอย่างแท้จริง

2. ปรึกษาเพื่อน หรือคนในครอบครัวเมื่อคุณต้องการพวกเขา

คุณไม่ควรพยายามแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการติดยาเพียงลำพัง เพราะคนเหล่านี้พร้อมเสมอที่จะช่วยคุณให้พ้นจากการติดยา บางครั้งคุณอาจต้องการโทรศัพท์หาเพื่อน หรือคุยกับใครสักคนกลางดึกในขณะที่รู้สึกต้องการเสพยาขึ้นมา

ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการเลิกยาเสพติด คุณอาจบอกคนที่คุณไว้ใจ หรือคนใกล้ชิด เพื่อให้เขาเตรียมรับมือกับอาการลงแดง อาการทางประสาท หรือผลกระทบเกี่ยวกับจิตใจที่จะเกิดขึ้นระหว่างพยายามเลิกยา

3. คุณควรระลึกไว้อยู่เสมอว่า การติดยาไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนไม่ดี

หากคุณกำลังนั่งคิดถึงวันที่ตกเป็นทาสของยาเสพติดจนทำให้คุณรู้สึกแย่ แนะนำให้รีบพูดคุย หรือปรึกษาใครสักคน คุณอาจระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรน่าอาย

การบอกให้คนอื่นรู้ถึงความรู้สึกจะช่วยให้คุณยืนหยัดกับความพยายาม และท้ายสุดคุณก็จะสามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างถาวร นอกจากนี้ คนรอบตัวอาจเข้าใจในตัวคุณมากขึ้นด้วยว่า คุณรู้สึกอย่างไร แล้วมีปัญหาอะไรที่ทำให้คุณต้องหันไปพึ่งการเสพยา

4. หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเสพยา

การนัดดื่มสังสรรค์ หรือการจัดงานปาร์ตี้ช่วงกลางคืนมักเป็นสถานการณ์ที่มีการเสพยาเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น หากคุณอยู่ระหว่างการเลิกยาเสพติด ให้หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้

เนื่องจากมันเสี่ยงที่คุณจะถูกชักชวน หรืออาจถูกบังคับให้เสพยาอีกครั้ง หากจำเป็นต้องไปร่วมงานจริงๆ ให้แจ้งพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิดให้รับทราบไว้ เพื่อที่เมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือจะได้มีคนพาคุณออกไปจากสถานการณ์ดังกล่าวทันที

ขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

หากต้องการหายขาดการอาการติดยาเสพติด คุณสามารถเข้าร่วมโครงการบำบัดยาเสพติดได้ตามสถานพยาบาลต่างๆ

ขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดจะแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นเตรียมการ (Pre-admission)

เป็นขั้นตอนการสัมภาษณ์ตัวผู้ติดยา และครอบครัว ถึงภูมิหลังของผู้ติดยาว่าเป็นใคร และมีชีวิตเป็นอย่างไร การกระตุ้นให้ผู้ติดยามีความตั้งใจในการรักษา ขั้นตอนนี้ยังรวมไปถึงการตรวจร่างกายเบื้องต้น การเอกซเรย์ และตรวจปัสสาวะ

2. ขั้นถอนพิษยา (Detoxification)

เป็นขั้นตอนการบำบัดทางร่างกายซึ่งยังตกอยู่ภายใต้สภาวะการติดยาเสพติด ขั้นตอนนี้อาจมีการใช้ยาประกอบการรักษาด้วย เช่น ยาเมทาโดน (Methadone) ยาสมุนไพร

ขั้นตอนนี้จะแบ่งได้ออกเป็น 2 แบบดังนี้ 

  • การถอนพิษแบบผู้ป่วยใน เป็นการบำบัดแบบที่ผู้ติดยาจะนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล เพื่อบำบัดอาการติดยาเสพติดและรักษาอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย
  • การถอนพิษแบบผู้ป่วยนอก เป็นการบำบัดแบบที่ผู้ติดยาไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล แต่จะให้ยากลับไปรับประทานที่บ้านตามกำหนด เมื่อถึงเวลานัดก็ให้เดินทางมารับการบำบัดที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

3. ขั้นการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabillitation)

หลังจากการบำบัดอาการทางร่างกายแล้วก็มาถึงขั้นตอนการปรับสภาพจิตใจของผู้ติดยาให้เข้มแข็ง มีการปรับบุกคลิกภาพให้ดีขึ้น รวมทั้งมีการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นบำบัดจิตใจ

จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ติดยารู้จักการรับผิดชอบตนเอง รู้จักการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างถูกต้อง และการควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้

นอกจากนี้ การบำบัดยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ติดยาจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ที่มีประสบการณ์ติดยาเสพติดมาก่อน ซึ่งความรู้ และสิ่งที่จะได้จากการบำบัดในขั้นตอนนี้ ไม่สามารถหาได้จากในหนังสือ หรือบทเรียนในห้องเรียนแน่นอน

4. ขั้นตอนการติดตามดูแล (After-Care)

เป็นขั้นตอนการติดตามอาการผู้ติดยาหลังจากการบำบัด เพื่อไม่ให้มีการกลับไปติดยาเสพติดซ้ำอีกครั้ง ทั้งยังเป็นการให้กำลังใจ การโทรให้คำปรึกษา และแนะนำ อาจมีการไปเยี่ยมเยียนผู้ติดยา หรือนัดพบเพื่อตรวจดูอาการซักถาม ใช้แบบสอบถาม รวมถึงการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดด้วย

บทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอยากยา

การช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดให้สามารถเลิกยาได้เป็นสิ่งที่น่ายกย่องและควรทำ แต่ก่อนอื่นผู้ช่วยเหลือจะต้องมีความเข้าใจเสียก่อนว่า “การเลิกยานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย” เพราะความเข้าใจในตัวผู้ติดยาจะทำให้คุณสามารถช่วยเหลือ และสนับสนุนพวกเขาให้เลิกยาได้จริงๆ

  • ครอบครัวต้องเข้าใจผู้ติดยา
  • ช่วยหลีกเลี่ยง หรือไม่ให้พบตัวกระตุ้น
  • สังเกตอาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการที่รู้สึกอยากยา
  • ไม่ตำหนิผู้ป่วยเมื่อมีอาการอยากยา
  • อาจหากิจกรรมให้ทำ หรือทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
  • ให้กำลังใจผู้ป่วย และอยู่เป็นเพื่อนในขณะที่เกิดอาการ
  • ชื่นชมผู้ป่วยเมื่อสามารถผ่านพ้น หรือต่อสู้กับอาการอยากยาได้
  • อาจต้องพาผู้ป่วยไปรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทรมานจากอาการและป้องกันการเสพยาเสพติดซ้ำต่อไป

ส่วนทางฝั่งผู้ที่เคยติดยาเสพติด หากคุณมีความคิดที่จะกลับไปใช้ยาอีกครั้ง แนะนำให้ทบทวนตรึกตรองให้ดีว่า “ทำไมคุณถึงต้องกลับไปใช้ยาอีกครั้ง” และให้รีบหาคนปรึกษา และช่วยเหลือทันที

คนคนนั้นอาจเป็นคนที่เคยอยู่ข้างๆ คุณในขณะที่เลิกยาเมื่อครั้งก่อนก็ได้ และให้ตระหนักถึงช่วงเวลาที่คุณเลิกยาว่า “มันยากเย็นและทรมานเพียงใด”

อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพราะการติดยาเสพติดมีอันตรายจนถึงชีวิต และการกลับไปเสพติดยาครั้งต่อไปก็อาจแลกด้วยชีวิตของคุณที่ไม่อาจคืนกลับมาก็ได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ภกญ. สุภาดา ฟองอาภา


ที่มาของข้อมูล

  • KidsHealth Behavioral Health Experts, Dealing With Addiction (https://kidshealth.org/en/teens/addictions.html), 18 November 2019.
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา, ระบบการบำบัดรักษายาเสพติดในประเทศไทย (https://www.sdtc.go.th/paper/14), 18 พฤศจิกายน 2562.
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา, การจัดการกับอาการอยากยา (https://www.sdtc.go.th/paper/443), 18 พฤศจิกายน 2562.
Scroll to Top