Default fallback image

ภาวะม้ามโต อันตรายกว่าที่คิด รู้จักสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

ม้ามโตเป็นอาการหรือภาวะหนึ่ง ไม่ใช่โรค เป็นภาวะที่พบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนมากไม่มีอาการชัดเจน บางคนอาจตรวจเจอตอนไปตรวจสุขภาพ วันนี้ HDmall จะพาทุกคนไปรู้จักกับภาวะม้ามโตในหลายแง่มุมกัน ม้ามโตเกิดจากอะไร ไม่มีอาการแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าม้ามโต สังเกตเองได้ไหม และมีวิธีป้องกันไหม รวมทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะม้ามโตไว้ในบทความนี้แล้ว 

ภาวะม้ามโต (Splenomegaly) คืออะไร

ม้ามเป็นเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบน้ำเหลืองและระบบภูมิคุ้มกัน อยู่บริเวณช่องท้องด้านซ้ายใกล้กระเพาะอาหาร มีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในกระแสเลือด ช่วยกรองเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าหรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติออกจากเลือด 

ม้ามโตเป็นภาวะที่ม้ามขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งแสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพราะปกติแล้วม้ามจะมีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70-200 กรัม โดยขนาดและน้ำหนักของม้ามอาจแตกต่างกันไปตามน้ำหนัก ส่วนสูง และเพศ เมื่อเกิดภาวะม้ามโตขึ้น ม้ามอาจขยายใหญ่จนยาวได้มากถึง 20 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น และน้ำหนักของม้ามอาจมากถึง 1-2 กิโลกรัม  

อาการม้ามโตเป็นแบบไหน มีสัญญาณเตือนไหม

คนส่วนมากจะตรวจเจอภาวะม้ามโตโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพหรือไปพบแพทย์ด้วยสาเหตุอื่น เพราะม้ามโตไม่ได้มีอาการแสดงชัดเจน แต่คนที่มีอาการอาจพบความผิดปกติต่อไปนี้

  • รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง หรือปวดท้องด้านซ้ายที่เป็นที่ตั้งของม้าม และลามไปยังหัวไหล่ด้านซ้าย หรือมีอาการเจ็บปวดบริเวณท้องด้านซ้ายอย่างรุนแรงเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ
  • รู้สึกอิ่มโดยที่ไม่ได้รับประทาน หรืออิ่มเร็วกว่าปกติแม้รับประทานอาหารไปในปริมาณน้อย เพราะกระเพาะอาหารโดนม้ามที่ขยายตัวกดทับ 
  • มีอาการของโลหิตจาง อย่างอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย เพราะเมื่อเกิดภาวะม้ามโตรุนแรงอาจทำให้เม็ดเลือดต่าง ๆ ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น จนเซลล์เม็ดเลือดแดงลดต่ำ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง 
  • ร่างกายติดเชื้อบ่อย 
  • มีรอยฟกช้ำหรือเลือดออกง่าย 

เมื่อมีอาการผิดปกติในข้างต้น หรืออาการไม่ดึขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ

รู้สึกกังวลใจ อยากเช็กสุขภาพช่องท้อง ดูความผิดปกติของม้าม HDmall.co.th รวมมาให้แล้ว หาแพ็กเกจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ราคาโปรโมชั่น พร้อมเปรียบเทียบราคาจากรพ. และ คลินิกใกล้บ้านคุณได้ คลิกเลย หรือทักแอดมินสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่  

ม้ามโตเกิดจากอะไร มีสาเหตุอะไรบ้าง

ภาวะม้ามโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุพบบ่อยที่ทำให้ม้ามโตมีดังนี้

  • โรคของตับเป็นสาเหตุที่พบบ่อยสุด เช่น โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบ 
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epsterin Barr Virus: EBV) หรือโรคโมโนนิวคลิโอซิส การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus)
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น วัณโรคปอด โรคซิฟิลิส และการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ
  • การติดเชื้อปรสิต เช่น โรคมาลาเลีย โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไขข้ออักเสบ โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus: SLE
  • มะเร็งของต่อมน้ำเหลืองและระบบเซลล์ของเม็ดเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโรคเลือดชนิดหายาก MPN (Myeloproliferative Neoplasms: MPNs)
  • ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic Anemia) เป็นภาวะที่เกิดการทําลายเม็ดเลือดแดงก่อนอายุขัย เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคธาลัสซีเมีย   
  • โรคเมแทบอลิกที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม ซึ่งกระทบต่อการทำงานของตับและม้าม เช่น โรคโกเชร์ (Gaucher Disease) โรคนีแมนน์พิก (Niemann-Pick Disease)
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น มีการกดทับหรือเกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดดำบริเวณตับหรือม้าม  

ภาวะม้ามโตสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงเกิดภาวะม้ามโตได้มากกว่าปกติ ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ คนที่ป่วยด้วยโรคเมแทบอลิกจากพันธุกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและม้าม อย่างโรคโกเชร์ และโรคนีแมนน์พิก และคนที่อาศัยหรือไปเที่ยวในบริเวณที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย 

การวินิจฉัยภาวะม้ามโต แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

เริ่มแรกแพทย์จะต้องซักประวัติและอาการผิดปกติ ร่วมกับการตรวจร่างกายด้วยการคลำบริเวณท้องด้านซ้ายส่วนบน โดยแพทย์อาจคลำเจอม้ามโตได้ในขั้นตอนนี้ นอกจากนี้ อาจมีการตรวจด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เพื่อช่วยยืนยันผล เช่น  

  • การตรวจเลือด เพื่อวัดปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดในร่างกาย และค่าเอนไซม์การทำงานของตับ 
  • การถ่ายภาพรังสี เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อติดตามการไหลเวียนของเลือดที่เข้าและออกจากม้าม การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องหรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) จะช่วยให้เห็นภาพของม้ามและบริเวณโดยรอบ ทำให้รู้ว่าม้ามขยายใหญ่ขึ้นและเบียดอวัยวะอื่นหรือไม่
  • การตรวจเพิ่มเติม บางกรณีที่ต้องหาสาเหตุให้แน่ชัดอาจจะมีการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากตับ และการตรวจไขกระดูก 

ภาวะม้ามโตรักษาได้ไหม หายเองได้หรือเปล่า

ภาวะม้ามโตไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ แพทย์จะเน้นไปที่การรักษาต้นเหตุที่ทำให้ม้ามโต และการดูแลตามอาการ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง การให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาอาการม้ามโตจากโรคธาลัสซีเมียและภาวะเม็ดเลือดแดงแตก หรือบางคนที่หาสาเหตุไม่ได้และไม่ได้มีอาการผิดปกติ แพทย์อาจเฝ้าระวังอาการในช่วง 6-12 เดือน 

กรณีที่ม้ามโตมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เม็ดเลือดแดงอื่น ๆ ถูกทำลาย หรือต้นเหตุที่ทำให้ม้ามโตไม่มีวิธีรักษา แพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการตัดม้าม ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบางส่วนลดลง และเสี่ยงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น      

ภาวะม้ามโตเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

ม้ามเป็นอวัยวะที่มีความนิ่ม เมื่อมีขยายใหญ่กว่าปกติและได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง จากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือการเล่นกีฬา อาจทำให้ม้ามแตกได่ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเลือดออกในช่องท้องจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ ม้ามโตจะทำให้ปริมาณของเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาวที่ดีในเลือดมีน้อยลง ทำให้ร่างกายติดเชื้อและเลือดออกได้ง่ายขึ้น และเกิดภาวะโลหิตจาง   

ภาวะม้ามโตป้องกันได้ไหม 

ภาวะม้ามโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุไม่สามารถป้องกันได้ อย่างโรคมะเร็งหรือโรคทางพันธุกรรมบางโรค แต่บางสาเหตุ อย่างการติดเชื้อต่าง ๆ อาจลดความเสี่ยงลงได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น

  • คนที่มีโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงจะเกิดภาวะม้ามโต ควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง และดูแลตนเองตามคำแนะนำแพทย์ 
  • หากต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย ควรดูแลและป้องกันตนเองจากยุงกัดเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ 
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดภาวะม้ามโตได้

ม้ามโตมักไม่มีอาการ ลดความเสี่ยงได้ก่อนด้วยการตรวจสุขภาพ และอัลตราซาวด์ช่องท้อง หาโปรอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือแพ็กเกจสุขภาพอื่น ๆ ในราคาประหยัด ผ่าน HDmall.co.th คลิกเลย

Scroll to Top