common ncds disease definition scaled

รวม 5 โรคร้าย NCDs ที่คนไทยมักเป็น!

“ไม่แพร่กระจาย ไม่ติดต่อ ไม่ใช่ว่าไม่อันตราย”  คงจะไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงสำหรับความอันตรายของกลุ่มโรค NCDs 

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าคนไทยกว่า 14 ล้านคน กำลังเผชิญกับกลุ่มโรค NCDs โดยมีอัตราผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ทำให้กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี 

วันนี้ HDmall ได้รวบรวม 5 โรคร้าย NCDs ที่คนไทยมักเป็น พร้อมสาเหตุและการสังเกตอาการมาฝาก มาตามดูกันเลย!

กลุ่มโรค NCDs คืออะไร

กลุ่มโรค NCDs (Non-communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่เกิดจากการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง 

ไม่ว่าจะเป็นกินอาหารที่มีรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ขยับตัวน้อย มีความเครียด อดนอน นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ 

พฤติกรรมเหล่านี้มักไม่ได้ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยใด ๆ ในทันที อาการของกลุ่มโรค NCDs มักจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีอาการชัดเจนมากนัก หรืออาจไม่มีอาการในช่วงแรก ทำให้หลายคนไม่ได้ระมัดระวังเรื่องสุขภาพ 

ถ้าไม่ได้ตรวจสุขภาพหรือตรวจเจอโดยบังเอิญตอนไปพบแพทย์ ก็อาจไม่รู้ว่ากำลังเป็นโรคอยู่ บางคนรู้ตอนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรค หรือมีอาการรุนแรงแล้ว เช่น 

คนที่เป็นเบาหวานแล้วระดับน้ำตาลยังไม่สูงมากอาจมีอาการเล็กน้อย อย่างปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมากขึ้น หรือคนที่เป็นความดันโลหิตสูงแทบจะไม่มีอาการผิดปกติตอนแรก แต่ความดันโลหิตผิดปกติสามารถสร้างความเสียหายให้หลอดเลือดและหัวใจ จนท้ายที่สุดเกิดโรคร้ายอื่นตามมา  

เห็นได้ว่าสาเหตุหลักของกลุ่มโรค NCDs มาจากพฤติกรรมในแต่ละวันของเรา ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค จึงไม่สามารถติดต่อหรือแพร่กระจายโรคได้ แต่ความน่ากลัวกลับมีไม่น้อยไปกว่ากันเลย

กลุ่มโรค NCDs ที่คนไทยมักเจอ มีโรคอะไรบ้าง

1.โรคเบาหวาน

โรคอันดับต้น ๆ ของกลุ่มโรค NCDs ที่พบได้บ่อย คือ โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่เป็นตัวนำพาน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ 

ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ น้ำตาลสะสมในเลือดจนสูงเกินกว่าปกติและเรื้อรัง

โรคเบาหวานแบ่งได้หลายชนิด แต่ชนิดพบบ่อยจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหารประเภทแป้งและอาหารรสหวานมากเกินไป ไม่ออกกำลังกาย มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนลงพุง  

โรคเบาหวานมักไม่แสดงอาการที่รุนแรงหรือชัดเจนในช่วงแรก เช่น เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะปัสสาวะกลางคืนเกิน 3 ครั้งต่อคืน ชาตามมือและเท้า และแผลหายช้ากว่าปกติ 

ถ้าไม่ได้มีการตรวจระดับน้ำตาลหรือตรวจสุขภาพเป็นประจำ จึงมักไม่รู้ว่าตัวเองกำลังป่วยอยู่ เมื่อปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาจะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน เบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานลงไต 

โรคเบาหวาน ไม่ต้องรอมีอาการ ตรวจง่าย รู้ผลไว HDmall.co.th รวมโปรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจาก รพ. และคลินิกใกล้บ้านคุณ ให้คุณเลือกเปรียบเทียบราคาก่อนจองได้ พร้อมรับส่วนลดเพิ่มเติม คลิกเลย 

2.โรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงเกินกว่าเกณฑ์ปกติ โดยปกติร่างกายของคนเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งไขมันในเลือดสูงอาจเกิดจากไขมันชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือทั้ง 2 ชนิดก็ได้

เมื่อร่างกายมีไขมันมากเกิน ไขมันจะไปเกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง 

นอกจากพันธุกรรมแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูงแบ่งตามชนิดของไขมันได้ ดังนี้

  • คอเลสเตอรอลสูง เกิดได้จากการกินอาหารมัน เค็ม เนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารทะเล หรืออาหารที่มีไขมันทรานส์ อย่างขนบกรุบกรอบ 
  • ไตรกลีเซอไรด์สูง เกิดได้จากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การใช้ยา ตลอดจนโรคอ้วน และโรคเบาหวาน 

3.โรคความดันโลหิต

โรคความดันโลหิตสูงเป็น 1 ใน 5 โรคร้ายที่คนไทยเป็นกันมาก เกิดจากความดันเลือดสูงกว่าปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน คือตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป 

คนที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่ได้อาการชัดเจนช่วงแรก ส่วนมากจะมีเพียงอาการปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย วิงเวียนศีรษะ 

สาเหตุของโรคเกิดได้จากพันธุกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เส้นเลือดเสื่อมตามวัย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก กินอาหารโซเดียมสูงและอาหารรสจัด เครียดสะสม พักผ่อนน้อย รวมถึงเป็นโรคบางโรคที่อาจเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น อย่างโรคไตจากเบาหวาน โรคอ้วน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

โรคความดันโลหิตสูงสามารถสร้างความเสียหายให้หลอดเลือดและหัวใจ และเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และไตวาย

4. โรคไตเรื้อรัง

โรคไตเป็นภาวะที่ไตทำงานได้น้อยลงหรือเสื่อมประสิทธิภาพลง เมื่อเป็นต่อเนื่องนาน 3 เดือนขึ้นไปจะเรียกว่าโรคไตเรื้อรัง ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยโรคไตอาจไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปกติ เพราะอาการบ่งบอกถึงโรคไตมักไม่ชัดเจน เช่น ปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ ปัสสาวะมีฟอง ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน ปัสสาวะแสบขัด กะปริบกะปรอย ปวดหลัง และปวดเอว 

คนที่เสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังและควรได้รับการตรวจคัดกรอง ได้แก่

  • มีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรังในครอบครัว
  • มีโรคประจำตัวที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus: SLE) สามารถเกิดได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย รวมถึงไตด้วย
  • เป็นโรคเกาต์หรือกรดยูริกในเลือดสูง ทำให้เกิดการตกตะกอนที่ทางเดินปัสสาวะ นำไปสู่การเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือตกตะกอนที่เนื้อไต
  • เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำในไต
  • โรคไตขาดเลือดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ มักพบในคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด  
  • มีน้ำหนักมากหรือโรคอ้วน 
  • สูบบุหรี่ 
  • รับยาหรือสารบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยาหรือสารนั้นอาจกระทบต่อการทำงานของไต เช่น ยาต้านการอักเสบที่มักใช้เพื่อลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ อาการปวดต่าง ๆ 

5. โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นกลุ่มโรคที่ครอบคลุมโรค 3 กลุ่ม ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ถือเป็นกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย และมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นหลักหมื่นรายในแต่ละปี 

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดโคโรนารี (Coronary) ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ร่วมกับมีไขมันอุดตันในหลอดเลือด โดยระยะแรกหลอดเลือดจะขยายตัวขึ้นเพื่อช่วยให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ 

แต่หากยังมีไขมันสะสมในผนังหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้สะดวก และไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจได้ 

หากไม่เคยมีอาการมาก่อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 

อาการที่บ่งบอกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ อาการปวดเค้นบริเวณหัวใจ (Angina) อาการอาจลามไปที่ขากรรไกร ไหล่ซ้าย ข้อศอก และแขน

ร่วมกับมีอาการอื่น เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม และหมดสติ หากมีอาการเฉียบพลันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

โรคหลอดเลือดหัวใจมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และยังมีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค เช่น

  • พันธุกรรม
  • อายุที่มากขึ้น
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
  • มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน
  • สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • ออกกำลังกายน้อย
  • ไม่ค่อยรับประทานผักผลไม้
  • ความเครียด และสภาพจิตใจเชิงลบ  

วิธีลดความเสี่ยงและป้องกันกลุ่มโรค NCDs

โรคในกลุ่มโรค NCDs มีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุการเกิดส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ดีต่อสุขภาพ 

วิธีลดความเสี่ยงและป้องกัน จึงควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดมากเกินไป และอาหารที่มีไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงและลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด หรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียดให้เหมาะสม
  • ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ จะช่วยให้เรารู้ถึงสุขภาพร่างกายโดยรวม และแนวโน้มในการเจ็บป่วยในอนาคต ทำให้หาทางป้องกันหรือปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมก่อนเกิดโรค

แม้ว่ากลุ่มโรค NCDs จะเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ แต่ทุกคนสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ ยิ่งถ้ารู้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม หรือก่อนที่โรคจะเรื้อรัง ส่วนใหญ่แล้วจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้  

ป้องกันก่อนจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง! มาตรวจเช็กสุขภาพประจำปี กับแพ็กเกจเพื่อสุขภาพสุดคุ้ม จากโรงพยาบาลชั้นนำที่เลือกเองได้ที่ HDmall.co.th คลิกดูโปรเลย! หรือมองหาที่ปรึกษา ขอข้อมูลเพิ่มเติม ทักแอดมินได้เลย

 

Scroll to Top