รู้ทัน 6 โรคพบบ่อยในผู้สูงอายุ ปล่อยไว้อาจกระทบกับคุณภาพชีวิต scaled

รู้ทัน 6 โรคพบบ่อยในผู้สูงอายุ ปล่อยไว้อาจกระทบกับคุณภาพชีวิต

ผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งสภาพจิตใจ อารมณ์ที่เปราะบาง ความฟิตของร่างกายที่ลดลงสวนทางกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพได้มากมาย ขณะเดียวกันการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับวัยก็มีส่วนช่วยให้อาการจากโรคดีขึ้นหรือลดความเสี่ยงในการเกิดบางโรคลงได้ 

บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของโรคเหล่านี้มากฝากกัน เพื่อช่วยตัวผู้สูงอายุเองรับมือกับโรคที่มาพร้อมกับวัยได้ดีขึ้น และช่วยให้ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกวิธี ว่าแต่จะมีโรคไหนกันบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้เลย

6 โรคพบบ่อยในผู้สูงอายุ

คนสูงวัยเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยมากมาย แต่โรคต่อไปนี้เป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในผู้สูงอายุ

1. โรคความดันโลหิตสูงหรือความดันสูง (Hypertension) 

โรคความดันเลือดสูงเป็นภาวะที่ความดันในหลอดเลือดสูงกว่าปกติตลอดเวลา ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเสื่อมลง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่ดี จนเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือโรคตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เรียกได้ว่าเป็นโรคต้นทางของโรคเรื้อรังหลายโรค

โรคความดันเลือดสูงพบได้เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงอายุ 40-50 ปี ส่วนใหญ่แล้วไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่มักเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคประจำตัว และการกินอาหารเค็ม

ค่าความดันเลือดปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 120/80 แต่ถ้าความดันเลือดสูงกว่า 140/90 จะถือว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง คนที่มีความดันเลือดสูงมักไม่มีอาการ บางคนอาจมีอาการเล็กน้อย เช่น เวียนหัว ปวดหัว มึนงง เลือดกำเดาไหล อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย เลยจะไม่รู้ว่าเป็นโรคนี้ 

เพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันโรคนี้ ควรลดอาหารที่มีโซเดียมสูงและไขมันสูง จำกัดเครื่องดื่มแอกอฮอล์ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด และควรตรวจความดันเลือดเป็นประจำ

2.โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease; IHD)

โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary Artery Disease, CAD) เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนี้อหัวใจตีบหรืออุดตัน เพราะมีไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลงหรือไม่เพียงพอ ถ้าอาการรุนแรงอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเสียชีวิตได้

อาการหลักของโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เจ็บแน่นหน้าอกบริเวณกลางหรือค่อนไปทางซ้าย เหมือนมีอะไรมากดทับหรือรัดไว้ โดยเฉพาะเมื่ออกแรงหรือออกกำลังกาย อาการปวดลามไปยังไหล่ แขน คอ และกราม หน้ามืด เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ และอาเจียน 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ น้ำหนักตัวมาก และสูบบุหรี่ ซึ่งผู้สูงอายุจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มาก เพราะสภาพร่างกายเสื่อมถอยลง และมักจะมีโรคประจำตัวเหล่านี้อยู่แล้ว  

การป้องกันโรคนี้ทำได้โดยลดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดอาหารประเภทไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ออกกำลังกายแบบแอโรบิคหรือเน้นการเคลื่อนไหวเป็นประจำ งดสูบบุหรี่ ถ้ามีโรคประจำตัวควรกินยาอย่างสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์ตามนัด

3.โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)

ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุมักมาจากการกินอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูงมากเกินไป ร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำให้ไขมันชนิดไม่ดีสะสมภายในหลอดเลือด เกิดเป็นคราบแข็งเกาะตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้พิการถาวร และเสียชีวิต 

โรคไขมันในเลือดสูงเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ จะรู้ได้เมื่อเข้ารับการตรวจเลือดเท่านั้น การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคได้ โดยลดอาหารไขมันสูงลง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล กะทิ เพิ่มอาหารที่มีกากใย ผัก ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ ให้มากขึ้น ควรออกกำลังกายเป็นประจำ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงสภาวะที่ทำให้เครียด และไม่ลืมที่จะเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อวัดค่าไขมัน

4.โรคเบาหวาน (Diabetes)

โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรังและกระทบกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ จึงเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น เบาหวานขึ้นตาที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น แผลหายช้าที่อาจนำไปสู่การตัดอวัยวะ ไตเสื่อมหรือไตวาย โรคหัวใจ 

โรคเบาหวานแบ่งย่อยได้เป็นหลายชนิด อาการอาจแตกต่างกันไปตามชนิด โดยเบาหวานชนิดที่ 2 จะพบมากในผู้สูงอายุ อาการเบาหวานแรกเริ่มที่ส่วนใหญ่มักพบได้ เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดโดยไม่รู้สาเหตุ ชาตามมือและเท้า เมื่อเป็นแผล แผลหายช้าหรือเป็นเรื้อรัง แต่บางคนก็อาจไม่มีอาการได้เช่นกัน

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหรือการตรวจเลือด จะช่วยให้ทราบได้ว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่ามีความเสี่ยงที่เป็นเบาหวาน ควรรีบพบแพทย์ ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมการกินและกินยาตามแพทย์แนะนำ เพราะถ้าเป็นเบาหวานแล้ว จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ 

ไม่ติดหวาน ก็เสี่ยงเป็นเบาหวานได้เหมือนกัน! ตรวจก่อน รู้ก่อน รักษาได้ทัน เช็กราคาพร้อมโปรโมชั่นตรวจคัดกรองโรคเบาหวานได้ ที่นี่ จองผ่าน HDmall.co.th วันนี้ ได้ราคาพิเศษ พร้อมส่วนลดทุกครั้งที่ซื้อ  

5.ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)

สมองเป็นอวัยวะที่สะท้อนถึงการเสื่อมตามอายุได้อย่างชัดเจน แม้ว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักประสบปัญหาเกี่ยวกับความจำ หรือความคิดเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ (Alzhrimer’s Disease) ซึ่งเป็นรูปแบบของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะสมองเสื่อม เช่น อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะนี้ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มาก รวมถึงมีโรคประจำตัวเรื้อรัง อย่างเบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง มีภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง และได้รับการทบกระเทือนทางสมอง เป็นต้น

ภาวะสมองเสื่อมส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาด้านความคิด และความจำที่รุนแรง จนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แม้แต่การสวมเสื้อผ้า รับประทานอาหาร หรือการเดินทางกลับบ้าน แต่การตรวจ และรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถชะลอความรุนแรงของโรคเหล่านี้ได้

6.โรคซึมเศร้า

หลายคนอาจไม่ทราบว่าผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน จากการทำงานของสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนไปตามอายุ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างออกไปจากเดิม เช่น อยู่แต่บ้านหลังเกษียณอายุ ไม่ค่อยได้พบเจอหรือพูดคุยกับผู้คน เผชิญกับความเหงาและโดดเดี่ยว 

ยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหรือต้องการการดูแลจากคนอื่น อาจรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังจากความเจ็บปวดที่เป็นผลจากโรค และผลข้างเคียงจากการรักษา ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางจิตใจ ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้มากขึ้น 

โดยอาจสังเกตได้จากอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง ร้องไห้ง่าย เก็บตัวมากขึ้น สมาธิและความจำแย่ลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และไม่ทำกิจวัตรที่เคยทำเป็นปกติ 

ทั้ง 6 โรคนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเท่านั้น ยังมีอีกหลายโรคที่ควรเฝ้าระวัง เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคไต หรือโรคนอนไม่หลับ ถ้าคาดว่าผู้สูงอายุที่บ้านมีปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำหนักตัวมาก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อให้รับมือกับโรคนั้นง่ายขึ้น

รู้ทันโรคและปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัย กับแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เลือกได้ตามความเสี่ยง เพศ และวัย ดูโปรโมชั่นได้ที่ HDmall.co.th หรือไม่แน่ใจจะเลือกแพ็กเกจไหนที่ครอบคลุมตามความต้องการ แชทหาแอดมินเราได้เลย ที่นี่

Scroll to Top