8 อาหารเสริมเพิ่มความแข็งแรงให้ฮอร์โมนเพศชาย

8 อาหารเสริมเพิ่มความแข็งแรงให้ฮอร์โมนเพศชาย

รู้จักกับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน

ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีบทบาทมากกว่าเรื่องอารมณ์ทางเพศ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของกระดูกและกล้ามเนื้อ การสร้างอสุจิ และการเจริญของขน เส้นผม และความแข็งแรงของร่างกาย ฮอร์โมนชนิดนี้จะลดลงเมื่อร่างกายมีอายุมากขึ้น มีภาวะโรคเรื้อรัง หรือได้รับผลกระทบมาจากการรักษาโรคบางอย่าง เช่น การฉายรังสี การทำเคมีบำบัด ทำหมัน โรคตับ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ

การมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำ เรียกได้อีกชื่อว่า “ภาวะไฮโพโกนาดิซึม” (Hypogonadism) ซึ่งแปลได้ง่ายๆ ว่า “ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ” นั่นเอง โดยภาวะนี้จะต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพในระยะยาว โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการตรวจขนาดหน้าอก ขนาดของอัณฑะ การกระจายของขนตามร่างกาย และอาจมีการตรวจเลือดด้วย เพื่อดูว่าค่าฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนอยู่ในระดับปกติหรือไม่

คุณอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนชนิดนี้ ซึ่งสารอาหารที่ควรมีในอาหารเหล่านั้นก็คือ วิตามินดีและสังกะสี (Zinc)

ปลาทูน่า

ปลาทูน่า (Tuna) อุดมไปด้วยวิตามินดี ซึ่งพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมความแข็งแรงต่อสุขภาพหัวใจ และอุดมไปด้วยโปรตีนที่มีพลังงานต่ำ คุณสามารถเลือกรับประทานปลาทูน่าได้ทั้งแบบกระป๋อง หรือปลาทูน่าสด เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน

หรือหากคุณไม่ชื่นชอบปลาทูน่า คุณอาจจะเลือกรับประทานปลาชนิดอื่นแทน เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน แต่ควรรับประทานในระดับปานกลาง ไม่ควรรับประทานเกิน 2-3 ครั้งต่อวันเพื่อลดการได้รับสารปรอทซึ่งพบในอาหารทะเล

นมไขมันต่ำ

นมไขมันต่ำ (Low fat milk) เป็นแหล่งของโปรตีนและแคลเซียมชั้นดี ทั้งยังมีปริมาณไขมันอิ่มตัวน้อย เหมาะสำหรับผู้ที่อยากควบคุมน้ำหนักด้วย การดื่มนมไม่ได้จำกัดแค่ในผู้ชายเท่านั้น แต่รวมไปถึงเด็กและผู้หญิงซึ่งควรดื่มนมเพื่อให้มีสุขภาพของกระดูกที่แข็งแรง ส่วนประโยชน์ของนมที่มีต่อฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนนั้น ปริมาณวิตามินดีที่พบในนมสามารถมีส่วนช่วยทำให้ระดับเทสโทสเทอโรนเป็นปกติได้

ไข่แดง

ไข่แดง (Egg yolk) นั้นเป็นอาหารอีกชนิดที่อุดมไปด้วยวิตามินดี และให้สารอาหารมากกว่าไข่ขาว ถึงแม้ว่าไข่แดงจะมีปริมาณคอเลสเตอรอล (cholesterol) ค่อนข้างสูงก็ตาม แต่คอเลสเตอรอลในไข่แดงนั้นสามารถรักษาผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำได้

ซีเรียล

ซีเรียล (Cereal) นั้นไม่ได้เป็นแค่อาหารเช้ายอดนิยมเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ต่ำอยู่สูงขึ้นจนอยู่ในระดับปกติได้ นอกจากนี้มีซีเรียลบางยี่ห้อยังมีการผสมกันของวิตามินดี และอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจด้วย

หอยนางรม

ในหอยนางรมมีธาตุอาหารสังกะสีสูง ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในช่วงวัยผู้ใหญ่อยู่ในระดับที่เหมาะสมไปตลอดวัยด้วย ส่วนผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำ หากรับประทานหอยนางรมก็จะช่วยปรับระดับฮอร์โมนให้สูงขึ้นได้

สัตว์ทะเลมีเปลือก

การรับประทานปู หรือกุ้งล็อบสเตอร์ (Lobster) สามารถช่วยในการปรับระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนได้ เนื่องจากอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยธาตุอาหารสังกะสี หรือจะเป็นการรับประทานปูอลาสกา ก็สามารถช่วยเติมสังกะสีให้กับร่างกายได้ถึง 43% ของปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน

เนื้อวัว

เพราะเนื้อวัวบางส่วนนั้น มีสารอาหารที่ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนได้ ส่วนตับวัวก็เป็นแหล่งรวมของวิตามินดี ในขณะที่เนื้อส่วนสันคอ (Beef chuck) กับเนื้อบด (Ground beef) นั้นก็มีธาตุอาหารสังกะสีประกอบอยู่ แต่ควรเลือกรับประทานเฉพาะเนื้อส่วนที่ไม่ติดมันและหลีกเลี่ยงการรับประทานทุกวัน เพราะถึงแม้ว่าการรับประทานเนื้อแดงและเนื้อติดไขมันนั้นอาจจะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่หากรับประทานมากเกินไป ก็อาจนำพาไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่

ถั่ว

ถั่วขาว (White kidneys bean) และถั่วดำ (Vigna mungo) นั้นเป็นแหล่งของวิตามินดีและสังกะสี นอกจากนี้ อาหารประเภทถั่วยังอุดมไปด้วยโปรตีนจากพืช ที่จะช่วยบำรุงสุขภาพของหัวใจให้แข็งแรงขึ้น

อาหารที่กล่าวมาข้างต้นอาจช่วยเรื่องการปรับระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ต่ำอยู่ให้สูงขึ้นได้บ้าง แต่มักจะไม่สามารถรักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำให้หายขาดได้ หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะนี้ คุณอาจต้องได้รับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเสริมจากแพทย์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบดังต่อไปนี้

  • ในรูปแบบเม็ด
  • แบบแผ่นแปะ
  • แบบเจลทาผิว
  • แบบยาฉีด

อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนเสริมเหล่านี้อาจมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา และควรปรับอาหารที่รับประทาน เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพโดยรวมที่แข็งแรงขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเท่านั้น

นอกจากอาหารดังกล่าวแล้ว ยังต้องพักผ่อนให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ บริหารอารมณ์ให้ดี และหลีกเลี่ยงสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ศักดิ์สิทธิ์ พรรัตนศรีกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top