โรคไตในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ทำให้เราไม่รู้ถึงสัญญาณเตือน และพลาดการรักษาในระยะเริ่มต้น “การตรวจค่าไต” หรือ “การคัดกรองโรคไตด้วยการตรวจเลือด” เป็นอีกวิธีที่บอกถึงความเสี่ยงของโรคไตได้
กรณีพบความผิดปกติจะได้ตรวจและรักษาก่อนโรคลุกลาม และมีโอกาสช่วยให้ไตกลับมาทำงานได้อย่างปกติ วันนี้ HDmall มีข้อมูลของการตรวจค่าไต และรายละเอียดที่ควรรู้มาฝาก จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!
สารบัญ
การทำงานของไต รู้ได้ด้วยการตรวจเลือด
การตรวจเลือดสามารถบ่งบอกความผิดปกติในการทำงานของไตได้ โดยการตรวจคัดกรองโรคไตจากเลือดที่นิยมทำ จะเป็นการตรวจค่า BUN การตรวจค่า Creatine และการตรวจค่า eGFR ค่าเหล่านี้คืออะไร และเกี่ยวข้องกับการทำงานของไตอย่างไร
1.การตรวจค่าเลือด BUN (Blood urea nitrogen)
การตรวจค่า BUN เป็นการวัดค่าไนโตรเจนจากสารยูเรีย ซึ่งสารยูเรียเป็นของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย และถูกกำจัดผ่านทางไตออกมาเป็นปัสสาวะ และส่วนประกอบสำคัญของยูเรียคือไนโตรเจน เมื่อไตเสื่อมหรือทำงานได้น้อยลงก็จะมีการคั่งของไนโตรเจน
เกณฑ์ปกติของค่า BUN
- ค่า BUN ปกติในผู้ใหญ่ จะประมาณ 10-20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ค่า BUN ปกติในเด็ก จะประมาณ 5-18 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ค่า BUN ที่ต่ำกว่าปกติไม่ได้หมายถึงว่าไตเราสุขภาพดี แต่บ่งบอกได้ว่าเราอาจได้รับโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ส่วนค่า BUN สูงกว่าปกติแสดงว่าการทำงานของไตมีปัญหา และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน โดยเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีเลือดออกในกระเพาะ รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ และภาวะขาดน้ำ
2.การตรวจค่า Creatinine (ครีเอตินิน)
การตรวจค่า Cr หรือ Creatinnine เป็นการตรวจวัดระดับของเสียที่เกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อ ทั้งการเดิน การวิ่ง หรือการขยับร่างกาย ซึ่งสาร Creatinine จะเกิดขึ้นทุกวัน และมีปริมาณเท่ากันทุกวันในแต่ละคน
ปกติแล้วสารนี้จะถูกไตกรองออกจากเลือดและขับออกทางปัสสาวะ แต่หากตรวจเลือดแล้วค่า Creatinine สูงกว่าปกติจะบ่งบอกได้ว่าการทำงานของไตลดลง หรือไตทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
เกณฑ์ปกติของค่า Creatinine
- เพศชายจะมีค่าปกติของ Cretinine 0.6-1.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- เพศหญิงจะมีค่าปกติของ Cretinine 0.5-1.1 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
โดยค่า Creatinine ที่ต่ำกว่าปกติอาจเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อน้อย หรือขาดสารอาหาร ส่วนค่า Creatinine สูงกว่าปกติอาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ หรือมีสิ่งอุดตันในทางเดินปัสสาวะ
การตรวจ Creatinine ส่วนใหญ่มักใช้ตรวจคัดกรอง วินิจฉัย ประเมินและติดตามการรักษาโรคไต โดยเฉพาะคนที่มีอาการเตือนโรคไต หรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดไตเสื่อมจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือได้รับยาบางชนิด เป็นต้น
3.การตรวจค่า eGFR (Estimated glomerular filtration rate)
การตรวจค่า eGFR เป็นการวัดค่าประมาณอัตราการกรองของไต เพื่อดูว่าความสามารถของไตในการกรองเลือดภายใน 1 นาที ปกติแล้วไตจะกรองของเสียได้มากกว่า 90 มล./นาที
เกณฑ์ปกติของค่า eGFR
การวัดอัตราการกรองของไตจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 ค่า eGFR มากกว่า 90 มล./นาที/ตร.ม. = การทำงานของไตปกติ
- ระยะที่ 2 ค่า eGFR 60-89 มล./นาที/ตร.ม. = การทำงานของไตผิดปกติเล็กน้อย
- ระยะที่ 3 ค่า eGFR 30-59 มล./นาที/ตร.ม. = การทำงานของไตผิดปกติปานกลาง
- ระยะที่ 4 ค่า eGFR 15-29 มล./นาที/ตร.ม. = การทำงานของไตผิดปกติมาก
- ระยะที่ 5 ค่า eGFR ต่ำกว่า 15 มล./นาที/ตร.ม. = การทำงานของไตอยู่ภาวะไตวาย ถือเป็นขั้นที่ร้ายแรงที่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ อาจต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไตหรือฟอกไต
ใครบ้างควรตรวจการทำงานของไต ตรวจค่าไต?
โรคไตเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตปีละ 1 ครั้ง
- คนอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะการทำงานในร่างกายของผู้สูงอายุมักมีการเสื่อมสภาพตามวัย รวมถึงการทำงานของไตด้วยเช่นกัน
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเก๊าท์ หรือโรคอ้วน
- คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง
- คนที่ได้รับยาสมุนไพรหรือสารพิษที่มีผลต่อไตเป็นประจำ
- คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ทำให้ร่างกายควบคุมความดันโลหิตยากส่งผลให้ไตเสื่อมเร็ว
- คนที่มีอาการเตือนโรคไต เช่น หน้าบวม ตัวบวม ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด อ่อนเพลีย ปัสสาวะมีฟองผิดปกติ เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจค่าไต
เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ ควรเตรียมตัวก่อนเข้าตรวจตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจควรงดน้ำและอาหาร 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจ เพราะสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายจะทำให้ค่าเลือดคลาดเคลื่อน
- งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิต สามารถรับประทานยาได้ตามปกติ
ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะรู้ผลตรวจค่าไต
โดยปกติผลตรวจจะออกวันเดียวกันกับวันที่ตรวจ แต่บางสถานพยาบาลอาจมีขั้นตอนการตรวจที่ซับซ้อนกว่าปกติ จึงจะใช้เวลาประมาน 2-3 วัน ถึงจะได้ผลตรวจ
คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคไต มีอาการบ่งบอกโรคไต หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไต ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต หากชะล่าใจและปล่อยผ่านเวลาไปจากความผิดปกติของไตทั่วไปอาจลุกลามกลายเป็นโรคไตเรื้อรังได้
ตอบแทนร่างกายด้วยการมอบสุขภาพที่ดีกับ โปรแกรมตรวจเลือดและคัดกรองโรคไต ที่ HDmall.co.th ถูกใจไต สบายกระเป๋า มาที่นี่ที่เดียวมีให้เลือกครบ ครอบคลุมทุกเรื่องสุขภาพ