โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งในปัจจุบัน ความชุกของโรคนี้ได้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน โดยมีจำนวน 2-8% เป็นผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และจากสถิติทั่วโลกพบว่า เด็กแรกเกิดที่มีอายุเพียง 4 ชั่วโมงก็มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้แล้ว
สารบัญ
ความหมายของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ (Allergy) หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคแพ้” หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ร่างกายมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นบางอย่าง หรือที่เรียกได้อีกชื่อว่า “สารก่อภูมิแพ้ (Allergan)” จนร่างกายเกิดปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกัน และหลั่งสารเคมีออกมาเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
โดยธรรมชาติแล้ว สารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวอาจไม่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้กับกลุ่มคนทั่วๆ ไป แต่จะเกิดกับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ เท่านั้น
โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัน แต่ที่สังเกตได้อย่างชัดเจน จะเป็นกลุ่มเด็กช่วงอายุประมาณ 5-15 ปี เนื่องจากช่วงอายุดังกล่าว เป็นช่วงอายุที่โรคจะแสดงอาการแพ้ออกมามากหลังจากได้รับการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้มานานเพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่เพิ่งเริ่มเป็นโรคภูมิแพ้เมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้วเช่นกัน
ความหมายของสารก่อภูมิแพ้
สารก่อภูมิแพ้ หมายถึง สารที่กระตุ้นทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นมา ซึ่งสารดังกล่าวอาจเป็นสารที่ร่างกายได้รับจากการฉีด รับประทาน หายใจ สัมผัส หรืออาจเกิดจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อยก็ได้
สารก่อภูมิแพ้เป็นสารที่สามารถพบเจอได้ทุกที่ แม้แต่ในบ้านของตนเอง เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนหรือรังแคของสัตว์เลี้ยง เชื้อรา ควันบุหรี่ อาหารที่รับประทาน และยังรวมไปถึงสิ่งแสดล้อมรอบๆ บ้านด้วย เช่น เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ควัน หรือฝุ่นต่างๆ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้สามารถแบ่งสาเหตุออกเป็นหลักๆ ได้ 3 สาเหตุ ได้แก่
1. สาเหตุจากลักษณะทางพันธุกรรม
หมายถึงระบบภูมิคุ้มกันที่มีแต่เดิมจากร่างกายผู้ป่วย หรือหมายถึงพันธุกรรมโรคภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยได้รับมาจากคนในครอบครัวนั่นเอง
โรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดหากันได้ทางพันธุกรรมจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ไปสู่รุ่นลูกหลาน คุณอาจสังเกตเห็นจากคนรอบตัวว่า หากใครมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ โอกาสที่คนๆ นั้นจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยจะมีสูงกว่าปกติ
2. สาเหตุโดยตรง
เป็นสาเหตุที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ผู้ป่วยต้องเผชิญในทุกๆ วัน และอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้น เช่น ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ ละอองน้ำฝน เชื้อรา หรือเชื้อโรคในอากาศ สารเคมีจากโรงงาน การอยู่ในที่แออัดร่วมกับผู้อื่น
3. สาเหตุเสริม
เป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยอาจบังเอิญได้รับมา และก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น เช่น
- ได้รับควันท่อไอเสีย หรือควันบุหรี่
- กลิ่นฉุนจากน้ำหอม หรือจากสารเคมี
- อากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน
- ร่างกายที่อ่อนเพลีย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- สารปรุงแต่งจากอาหาร
- โรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยบังเอิญเป็นในขณะนั้น เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ โรคไข้หวัด
ประเภทของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะและระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร โดยจะแบ่งออกได้หลักๆ 5 ระบบ ได้แก่
- โรคภูมิแพ้ตา หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivtis)
- โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ (Asthma) หรือโรคหืด
- โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allgergic Skin Disease) หรือ “โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis)” เช่น โรคลมพิษ
- โรคแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) หรือโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นประเภทของโรคภูมิแพ้ที่มักพบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
- โรคภูมิแพ้ทางเดินอาหาร (Food Allergy) หรือโรคแพ้อาหาร
อาการของโรคภูมิแพ้
อาการของโรคภูมิแพ้มักจะมีความแตกต่างกันไปตามระบบของร่างกายที่เกิดอาการแพ้ เช่น
- โรคภูมิแพ้ตา ผู้ป่วยจะมีอาการคันระคายเคืองตา น้ำตาไหล และตาชื้นมากขึ้น ต้องขยี้ตาตลอดเวลา ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือแดง และอาจมีอาการตาไวต่อการรับแสงมากกว่าปกติ
- โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะช่วงกลางคืน หรือขณะออกกำลังกาย และอาจมีเสียงวี้ดในขณะหายใจ
- โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการคัน มีผื่นหรือผดขึ้นตามตัว มีสะเก็ดน้ำเหลืองๆ ที่แห้งกรังปกคลุมตามผิวหนัง หรือตามผิวหนังอาจมีตุ่มบวม รู้สึกคัน และผิวหนังนูนขึ้นเป็นปื้นนูนสีแดง ในเด็กเล็กมักจะเป็นตามแก้ม ก้น ข้อเข่า ข้อศอก ส่วนเด็กโต มักจะเป็นตามข้อพับในร่างกาย
- โรคภูมิแพ้อากาศ นอกเหนือจากอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หูอื้อ ปวดหัว รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่ายกว่าเดิม มีกลิ่นปากแรงขึ้น และไอเรื้อรัง
- โรคภูมิแพ้ทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปากบวม ท้องอืด อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและผิวหนังเข้ามาร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก หอบหืด มีผื่นขึ้น คอบวม
นอกจากนี้ ยังมีอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ซึ่งเป็นอาการภูมิแพ้ที่จะเกิดขึ้นกะทันหันภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ และอาการของผู้ป่วยจะร้ายแรงกว่าอาการของโรคภูมิแพ้ทั่วไปหลายเท่า โดยผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้หากไม่รีบปฐมพยาบาลให้ทันเวลา
การตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
หลังจากที่แพทย์ได้ซักประวัติสุขภาพ สอบถามว่าคุณมีคนในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ด้วยหรือไม่ รวมถึงตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว แพทย์อาจมีการตรวจ หรือทดสอบอาการของคุณอีกครั้ง เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีต่อไปนี้
1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) เป็นการทดสอบโดยนำน้ำยาที่มีส่วนประกอบของสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นในบ้าน เกสรหญ้า วัชพืช มาทดสอบที่ผิวหนังผู้ป่วย เพื่อให้ทราบว่า แพ้สารชนิดใดบ้าง วิธีทดสอบแบบนี้จะมีข้อดีที่ความรวดเร็ว ทดสอบง่าย ราคาไม่แพง และทราบผลได้ทันที
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังสามารถทำได้ 2 วิธีคือ
- วิธีสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) โดยแพทย์จะหยดน้ำยาลงไปแล้วใช้เข็มสะกิดเปิดผิวหนังชั้นบนบริเวณที่หยดน้ำยาลงไปออก หากผู้ป่วยแพ้สารดังกล่าวก็จะเกิดรอยนูนและเป็นผื่นแดง
- วิธีฉีดเข้าผิวหนัง แพทย์จะฉีดน้ำยาทำให้เกิดรอยนูนเป็นจุดเล็กๆ และจะวัดผลใน 20 นาทีหลังจากฉีด โดยดูจากรอยนูนที่ขยายใหญ่ขึ้น วิธีทดสอบแบบนี้จะมีความยากกว่า เสียเวลานานกว่า เจ็บกว่า ต้องใช้อุปกรณ์มากกว่า และอาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายได้
2. ทดสอบโดยการตรวจเลือด (Blood Test Allergy) เป็นวิธีทดสอบภูมิแพ้ซึ่งสามารถตรวจในผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้โดยวิธีสะกิดผิวหนังได้ และยังเป็นวิธีที่สามารถเห็นค่าการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ได้โดยตรงด้วย แต่ผลตรวจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน และมีราคาค่อนข้างแพง
การรักษาโรคภูมิแพ้
วิธีรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ ทำให้ร่างกายของตนเองแข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก นั่นก็คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ ไม่เครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป
นอกจากนี้หากคุณได้รับยาจากแพทย์หลังจากได้การวินิจฉัยว่า เป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ให้ใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครียด ไม่ว่าจะเป็นยารับประทาน หรือยาพ่นจมูก จุดประสงค์ของการให้ยามีทั้งให้เพื่อป้องกันการเกิด ควบคุมอาการหรือรักษา
หากเป็นรุนแรงแพทย์อาจต้องให้ยาในกลุ่มต้านฮีสตามีนร่วมกับสเตียรอยด์ แต่หากเป็นเรื้อรังแพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธี immunotherapy
อีกสิ่งที่สำคัญมากในการรักษาภูมิแพ้ก็คือ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสารก่อภูมิแพ้เพื่อบรรเทาอาการเกิดโรคไม่ให้เกิดขึ้นบ่อยจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
การป้องกันโรคภูมิแพ้
ถึงแม้คุณจะไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายอ่อนแอลงจนเสียงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในภายหลัง การควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้อยู่ในสภาพที่สะอาด และไม่เป็นแหล่งรวมของสารก่อภูมิแพ้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น
- รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้ให้อบอุ่นอยู่เสมอ อย่าอยู่ในที่เย็นจัด หรือร้อนจัดเกินไป รวมถึงอย่าสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
- หมั่นทำความสะอาดบ้านให้สะอาดเพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ บริเวณที่มักเป็นที่รวมตัวของฝุ่นและสิ่งสกปรก และควรใช้เครื่องดูดฝุ่นแทนไม้กวาด เพราะจะไม่ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศ
- สวมผ้าปิดปากและจมูกเมื่ออยู่ในที่แออัด หรือในที่ที่มีมลพิษทางอากาศ
- ตากเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ไว้ในที่แดดจัดๆ ทุกครั้ง เพราะแสงแดดช่วยฆ่าไรฝุ่นได้
- กำจัดแมลงสาบ มด แมลงที่เสี่ยงจะกัดต่อย และทำให้เกิดแผล หรือโรคภูมิแพ้ได้
- หากมีสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้าน ให้พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดยาป้องกันโรคและให้บำรุงขนเพื่อไม่ให้ขนสัตว์ร่วงจนกลายเป็นสิ่งสกปรกในบ้าน รวมถึงเก็บสิ่งขับถ่ายให้เป็นที่ทางและอย่าหมักหมม เพราะจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค และส่งกลิ่นเหม็น
- เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเมนูแปลกที่มีส่วนประกอบซึ่งอาจเสี่ยงให้เกิดอาการแพ้อาหาร หรือระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ และให้ระมัดระวังอาหารที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้
- หากพบว่า ตนเองมีอาการที่คล้ายกับโรคภูมิแพ้ แต่ได้รับจากสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่เคยแพ้มาก่อน ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันทีเพื่อหาทางรักษา และป้องกันไม่ให้อาการภูมิแพ้ลุกลามมากกว่าเดิม
- ตัดหญ้า หรือวัชพืชเพื่อป้องกันละอองที่อาจทำให้เกิดภูมิแพ้
- ดูดฝุ่นทำความสะอาดรถยนตร์ของคุณอยู่เสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- หมั่นหากิจกรรมคลายเครียดให้กับตนเอง และไม่หักโหมทำงานจนดึกดื่น เพราะร่างกายที่อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า จะเสี่ยงต่อเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้
การป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคภูมิแพ้มีหลักการที่ไม่ซับซ้อน หากคุณรู้ว่า ตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้อะไรก็ให้อยู่ห่างสารก่อภูมิแพ้นั้น
เมื่อรู้สึกว่า ตนเองมีอาการแพ้สารบางอย่างที่ไม่เคยรู้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการให้แน่ใจ เพียงเท่านี้โอกาสที่คุณจะเป็นโรคภูมิแพ้ก็จะมีน้อยลง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย