adrenaline scaled

Adrenaline (อะดรีนาลีน) / Epinephrine (อีพิเนฟรีน)

ยา Adrenaline หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งในรูปแบบยา คือ อีพิเนฟรีน (Epinephrine) เป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาท ในทางยาจัดเป็นยาในกลุ่มยาสำหรับโรคหัวใจ โรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด

Adrenaline จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามการจำแนกโดยคณะกรรมการอาหารและยา มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยา ต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย สำหรับบุคคลทั่วไป เภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ

สรรพคุณของยา Adrenaline

  • รักษาภาวะแพ้รุนแรง: ใช้รักษาภาวะแพ้รุนแรงซึ่งอาจเกิดจากการแพ้อาหาร ยา แมลง หรือสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ โดยยานี้ช่วยลดอาการบวม หลอดลมตีบ และเพิ่มความดันโลหิต
  • รักษาภาวะหัวใจหยุดเต้น: ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อหัวใจหยุดเต้น เพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจและฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือด
  • รักษาภาวะหายใจลำบากจากหลอดลมหดเกร็ง: ใช้ในกรณีของโรคหืดหอบรุนแรงหรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่ทำให้หลอดลมหดเกร็ง
  • เพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำมาก: ใช้เพื่อเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือความดันโลหิตต่ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น การเสียเลือดมาก

รูปแบบยาที่วางจำหน่าย

รูปแบบยาที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่

  • รูปแบบยาฉีด ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • รูปแบบปากกา ขนาด 0.3 และ 0.15 มิลลิกรัม (ยี่ห้อ EpiPen) ใช้สำหรับภาวะช็อก

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Adrenaline

กลไกการออกฤทธิ์ของยา Adrenaline คือ ทำให้หลอดเลือดหดตัว

Adrenaline ออกฤทธิ์ที่บริเวณสมองส่วนอะดรีนัลเมดัลลา (Adrenal Medulla) โดยตรง มีฤทธิ์กระตุ้นระบบซิมพาเทติกของร่างกายผ่านการกระตุ้นตัวรับอะดรีเนอร์จิกชนิดอัลฟ่า (Alpha) และเบต้า (Beta) ทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมเกิดการคลายตัว

ซึ่งทำให้ Adrenaline มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยามีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ และทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงใช้เพื่อกระตุ้นหัวใจ

ข้อบ่งใช้ของยา Adrenaline

โรคหรือภาวะที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่

  • ภาวะช็อก ชนิดอะนาไฟแลกซิส (anaphylactic shock)
  • โรคหืดเฉียบพลัน (Acute asthma) ทั้งในรูปแบบยาฉีด และยาสูดพ่น โดยกรณียาสูดพ่นเป็นยาเตรียมพิเศษ ไม่มีวางจำหน่าย
  • เพิ่มการเต้นของหัวใจในการช่วยชีวิต
  • ความดันในลูกตาสูง หรือโรคต้อหินมุมเปิด (Closed-angle glaucoma) เป็นยาเตรียมพิเศษ ยังไม่มี Adrenaline ในรูปยาหยอดตาวางจำหน่ายในประเทศไทย

ขนาดและวิธีการใช้ยา Adrenaline

Adrenaline มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

ภาวะช็อก ชนิดอะนาไฟแลกซิส

เป็นปฏิกิริยาของร่างกายจากการแพ้อย่างรุนแรงต่อสารกระตุ้น เช่น แพ้ยา แพ้สารในอาหาร อาการที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นในหลายระบบของร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ ระบบหายใจ ระบบหลอดเลือด ระบบผิวหนัง และมักมีอาการที่รุนแรง หาไม่ได้รับการรักษามีแนวโน้มที่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

ยาในรูปแบบยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในอัตราส่วนความเข้มข้น 1 ต่อ 1000 ขนาด 500 ไมโครกรัม (0.5 มิลลิลิตร) ให้ยาซ้ำทุก 5 นาทีจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาดยาขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนัก โดยขนาดยาปกติในเด็ก คือ 10 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม

ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 0.5 มิลลิกรัม (0.5 มิลลิลิตรของยาที่มีอัตราส่วนความเข้มข้น 1 ต่อ 10000) ให้ยาในอัตรา 100 ไมโครกรัมต่อนาที หยุดให้ยาเมื่อมีการตอบสนอง
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาด 10 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม

โรคหืดเฉียบพลัน 

ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ อัตราส่วนความเข้มข้น 1 ต่อ 1000 ใช้ยา 0.3-0.5 มิลลิลิตร (ซึ่งเทียบเท่ากับยา 300 ถึง 500 ไมโครกรัม) อาจให้ยาผ่านการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก อัตราส่วนความเข้มข้น 1 ต่อ 1000 ใช้ยา 0.01 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม (ซึ่งเทียบเท่ากับยา 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม) อาจให้ยาผ่านการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

เพิ่มการเต้นของหัวใจในการช่วยชีวิต 

ยาในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดเริ่มต้น 1 มิลลิกรัม อาจให้ยาซ้ำทุก 2 ถึง 3 นาทีระหว่างการช่วยชีวิต
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาดเริ่มต้น 10 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม อาจให้ยาซ้ำทุก 2 ถึง 3 นาทีระหว่างการช่วยชีวิต

ข้อควรระวังและผลข้างเคียงของการใช้ Adrenaline

ข้อควรระวังในการใช้ Adrenaline ได้แก่

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ Adrenaline
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตัน
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หรือหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia)
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส์ (Parkinson’s disease)
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุ สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ผลข้างเคียงของการใช้ Adrenaline

Adrenaline อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบทางเดินอาหาร ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด เช่น

  • ทำให้ผู้ใช้ยากลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • หายใจลำบาก
  • ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง
  • เหงื่อออกมาก
  • หลั่งน้ำลายมากกว่าปกติ
  • อ่อนแรง
  • อาการสั่น
  • เย็นปลายมือปลายเท้า
  • ภาวะระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดต่ำ
  • เกิดเนื้อตาย (gangrene)

ข้อควรทราบอื่นๆของยา Adrenaline

  • ยา Adrenaline ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category C ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อแพทย์มีความเห็นว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
  • ยามีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว แพทย์จึงมักใช้ยานี้ร่วมกับยาชาเฉพาะที่ เพื่อลดการแพร่กระจายของยาในบริเวณกว้าง จำกัดการดูดซึมของยาชาเฉพาะที่ และลดการเกิดพิษของยาชาเฉพาะที่
  • ยานี้จัดเป็นยาช่วยชีวิต (life-saving drug) การใช้ยาส่วนใหญ่เป็นยาในรูปแบบยาฉีด มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายและผลข้างเคียงสูง การใช้ยาในทุกข้อบ่งใช้จึงควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส

Adrenaline เป็นยาที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหลายอย่าง ไม่ควรซื้อมาใช้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

Scroll to Top