7 สิ่งที่ควรทำ ถ้าอยากหายจากริดสีดวงทวาร

7 สิ่งที่ควรทำ ถ้าอยากหายจากริดสีดวงทวาร

โรคริดสีดวงทวารเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้ทั่วไปและพบได้ในทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้หญิงขณะตั้งครรภ์ก็พบว่า มีความเสี่ยงเป็นริดสีดวงทวารมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางภาพและฮอร์โมนอย่างมากมายนั่นเอง

สาเหตุการเกิดริดสีดวงทวาร

สาเหตุสำคัญของการเกิดริดสีดวงทวารมาจากพันธุกรรมและพฤติกรรมของทุกคนนั่นเอง ข้อแรก แม้ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้มากนัก แต่สำหรับข้อสองแล้ว เรียกได้ว่า “ทุกคนสามารถกำหนดได้ว่า ตนเองจะมีโอกาส หรือมีความเสี่ยงเป็นริดสีดวงทวาร หรือไม่”

เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การขับถ่าย ฯลฯ หลายๆ อย่างนั้นมีผลต่อการก่อให้เกิดโรคนั่นเอง ได้แก่

  • การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารต่ำ
  • การดื่มน้ำน้อย
  • การดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมาก
  • มีอาการท้องผูกบ่อยๆ
  • มีอาการท้องเสียเรื้อรัง
  • การใช้แรงเบ่งอุจจาระมากเกินไป
  • การนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • การมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
  • การตั้งครรภ์
  • การไม่ออกกำลังกาย
  • การนั่งนานๆ หรือยืนนานๆ ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งภายในได้

ทั้งนี้อาการของผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารจะมีหลอดเลือดโป่งพอง อักเสบที่บริเวณผนังรูทวารหนัก ผู้ป่วยอาจรู้สึกคัน เจ็บ และไม่สบายตัว มีการอักเสบรอบๆ รูทวาร มีก้อนใกล้รูทวาร และมีเลือดปนมากับอุจจาระเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี โรคริดสีดวงทวารสามารถรักษาให้หายได้ด้วยหลายวิธีทั้งการใช้ยารับประทาน ยาทา ยาเหน็บ การทำหัตถการ เช่น การใช้ยางรัด การผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

แต่รู้ไหมว่า มีอีกหลายวิธีที่สามารถทำควบคู่ไปกับการใช้ยา หรือการทำหัตถการ เพื่อช่วยให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีมากยิ่งขึ้น

7 วิธีดูแลตนเองให้หายจากริดสีดวงทวาร

1. รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ให้มากขึ้น

ไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหาร เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่จะช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น การรับประทานไฟเบอร์เป็นประจำทุกวันจะช่วยให้อุจจาระนุ่มลงและเพิ่มปริมาณให้อุจจาระ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการเสียดสีมากเกินไปเวลาถ่ายอุจจาระ

สำหรับอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผลไม้สด ผักสีเขียว ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่วชนิดต่างๆ

ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไปเพราะมีกากใยน้อย ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ช้า จึงทำให้เกิดการหมักหมม และมีโอกาสก่อให้เกิดเชื้อโรคในลำไส้ได้

2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น

ภาวะขาดน้ำคือ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เราท้องผูก หรือเป็นโรคริดสีดวงทวารได้ เราสามารถแก้ปัญหาโดยดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น ทั้งนี้ปริมาณของน้ำที่ควรดื่มให้ได้ต่อวันคือ อย่างน้อย 6-8 แก้ว

หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม เพราะคาเฟอีนส่งผลให้ท้องผูกได้

3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร

มีอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่สามารถทำให้อาการของโรคริดสีดวงทวารแย่ลงเพราะส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้การระคายเคืองบริเวณรอบไส้ตรงแย่ลง รวมทั้งอาจทำให้ท้องเดิน ท้องเสียบ่อยๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดริดสีดวงทวารได้

สำหรับอาหารที่อยากให้หลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน อาหารที่ทำให้เกิดก๊าซในร่างกายเป็นจำนวนมาก อาหารหวาน อาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป เช่น เนื้อแปรรูป ไส้กรอก ชีส ฯลฯ

4. อย่าเบ่งอุจจาระแรงเกินไป

ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงมักมีปัญหาในการขับถ่ายอุจจาระ เนื่องจากอุจจาระแข็งไม่อ่อนนุ่ม  ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการถ่ายอุจจาระในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้คุณควรหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง หรือกลั้นหายใจในขณะที่กำลังทำธุระส่วนตัว เพราะการกระทำเช่นนี้จะยิ่งเพิ่มแรงกดบริเวณเส้นเลือดดำที่มีปัญหาและทำให้เส้นเลือดพองมากขึ้น

หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายอย่างรุนแรง หรือการสวนทวาร เพราะอาจทำให้รูทวารเกิดการระคายเคืองได้ ทั้งจากการขับถ่ายบ่อยเกินไป การสัมผัสกับยาสวนทวาร

5. ปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิต และอิริยาบถระหว่างวัน

การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย นอนดึก และความเครียด เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้ ดังนั้นควรเข้านอนให้ตรงเวลา และตื่นนอนให้ตรงเวลาเพื่อฝึกระบบขับถ่ายไปในตัว ขับถ่ายให้เป็นเวลา ควรถ่ายเมื่อรู้สึกปวดถ่ายแล้วจริงๆ ไม่ควรกลั้นอุจจาระ

หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ การเล่นโทรศัพท์มือถือขณะขับถ่าย เพราะอาจทำให้ต้องนั่งนานเกินไป หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ หรือนั่งนานๆ เพราะจะทำให้เกิดคั่งของเลือดในร่างกายส่วนล่างได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการยกของหนัก

นอกจากนี้ควรรู้จักการผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ บางคนอาจปฏิเสธว่า ตนเองไม่มีความเครียด ทั้งที่ความจริงแล้วมีภาวะเครียดอยู่โดยไม่รู้ตัว

ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งนอกจากมีบริการปรึกษาจิตแพทย์เกี่ยวกับเครียดแล้ว ยังมีบริการตรวจวิเคราะห์ความเครียดอีกด้วย ซึ่งบริการนี้จะทำให้คุณรู้ว่า ความเครียดของคุณอยู่ในระดับไหน เสี่ยงต่อการก่อโรคใดๆ หรือไม่ เพื่อที่จะได้แก้ไข ปรับปรุงต่อไปนั่นเอง

6. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นโรคริดสีดวงทวารซ้ำอีกครั้งได้ เนื่องจากการหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และลดแรงกดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดดำบริเวณรูทวาร หลังจากที่นั่ง หรือยืน เป็นเวลานานๆ

หากไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย อาจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้เป็นการออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น การเดินขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ การเดินแทนการนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง การรับ-ส่งเอกสารระหว่างแผนกเอง

7. ดูแลสุขอนามัยของทวารหนัก

การที่ร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดนั้น การดูแลสุขอนามัยของทวารหนักถือเป็นเรื่องจำเป็น ควรทำความสะอาดทวารหนักนี้ด้วยน้ำอุ่นและสบู่ที่มีฤทธิ์เป็นกลางโดยเฉพาะหลังจากขับถ่ายอุจจาระ

จากนั้นควรใช้ผ้าสะอาด หรือกระดาษทิชชู่เนื้อนุ่ม ซับบริเวณทวารหนักเบาๆ เนื่องจากหากทวารหนักมีความชื้นมากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้

ไม่ควรเช็ดทวารหนักแรงๆ หรือใช้กระดาษเนื้อหยาบเช็ดเพราะจะทำให้ทวารหนักอักเสบ มีเลือดออก หรือริดสีดวงทวารแตกได้

หากสงสัยว่า อาจเป็นโรคริดสีดวงทวารเข้าแล้ว แนะนำให้หากไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป หรือหากยังไม่กล้าไปพบแพทย์แนะนำให้ลองใช้ 7 วิธีที่เราแนะนำดูก่อน

แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ขอให้อย่ากลัว หรืออายที่จะไปพบแพทย์ อย่าพยายามบีบริดสีดวงทวารให้แตก เพราะยิ่งรักษาช้าเท่าไหร่ โอกาสที่ีหายเป็นปกติก็ยิ่งช้าลงมากขึ้นเท่านั้น


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา

Scroll to Top