uterine fibroids disease definition 02 scaled

เนื้องอกมดลูก เป็นแล้วมีอาการยังไง รักษายังไงได้บ้าง?

เนื้องอกมดลูก เป็นปัญหาทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื้องอกมดลูกมีหลายชนิด เกิดได้หลายตำแหน่งในมดลูก ทั้งยังเกิดได้พร้อมกันหลายก้อน ซึ่งอาจแสดงอาการ หรือไม่แสดงอาการก็ได้ 

บทความนี้จะชวนคุณมาทำความรู้จักเนื้องอกมดลูกว่ามีกี่ชนิด เกิดจากอะไร ถ้ามีแล้วอาการเป็นอย่างไร และรักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ไปติดตามกันได้เลย

เนื้องอกมดลูกคืออะไร?

เนื้องอกมดลูก  (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) คือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูก ถือเป็นโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ช่วงอายุประมาณ 30-50 ปี และมีโอกาสฝ่อเล็กลงได้ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรืออายุ 50 ปีขึ้นไป 

สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูกคืออะไร?

เนื้องอกมดลูก เกิดจากการเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เซลล์เติบโตผิดปกตินั้นปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามมีบางทฤษฎีเชื่อว่า การเกิดเนื้องอกมดลูกอาจสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่และทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยผู้ที่มีญาติใกล้ชิด เป็นเนื้องอกมดลูกก็มีโอกาสที่จะพบเนื้องอกมดลูกได้เช่นกัน

เนื้องอกมดลูก มีกี่ชนิด?

หากแบ่งตามชนิดของเนื้องอกมดลูก จะแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • เนื้องอกชนิดธรรมดา เป็นชนิดเนื้องอกมดลูกที่พบได้บ่อยที่สุด
  • เนื้องอกชนิดมะเร็ง เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่ามาก โดยพบประมาณ 1% ของผู้ป่วยโรคเนื้องอกมดลูกเท่านั้น แต่นับว่าอันตรายและต้องรีบรักษาโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้เนื้องอกมดลูกยังแบ่งได้ตามตำแหน่งที่พบ สามารถจำแนก 3 ชนิด ได้แก่

  • เนื้องอกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก (Submucosal Fibroid) 
  • เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก (Intramural Fibroid)
  • เนื้องอกด้านนอกผนังมดลูก (Subserosal Fibroid)

อาการของเนื้องอกมดลูกเป็นอย่างไร?

อาการของเนื้องอกมดลูก จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดเนื้องอก ตำแหน่งที่เกิด ความรุนแรงของโรค ซึ่งบางกรณีก็อาจไม่มีอาการใดๆ เลย หรือบางกรณีก็อาจมีอาการชัดเจน โดยอาการบ่งชี้ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปวดท้องน้อย คล้ายกับปวดประจำเดือนอยู่บ่อยๆ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีประจำเดือนก็ตาม
  • ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ และอาจมีลิ่มเลือดปน
  • มีตกขาวเป็นมูก หรือมูกปนหนอง หรือตกขาวสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็น
  • ปัสสาวะบ่อย มักพบในผู้ป่วยที่เนื้องอกไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
  • ท้องผูก มักพบในผู้ป่วยที่เนื้องอกไปกดทับลำไส้
  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่ายขึ้น
  • ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกท้องโตขึ้น หรือคลำเจอก้อนที่ท้องน้อย
  • สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงพยายามมีบุตร อาจเกิดภาวะมีบุตรยากหรือแท้งบุตรได้

ปวดท้องน้อยบ่อย ประจำเดือนมามาก เจอก้อนที่ท้องน้อย หรือมีอาการอื่นๆ ที่ชักไม่สบายใจ อยากปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ ทักหาแอดมิน HDcare ได้เลย

เนื้องอกมดลูก รักษาด้วยวิธีไหนบ้าง?

แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งขนาด ชนิดของเนื้องอก รวมถึงความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย เนื่องจากในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องตัดมดลูกทิ้งและทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป แนวทางการรักษาแบ่งได้ดังต่อไปนี้

  1. การเฝ้าสังเกตอาการ กรณีพบก้อนเนื้อขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 เซนติเมตร แพทย์อาจแนะนำให้สังเกตอาการไปก่อน หากเนื้องอกไม่โตขึ้น หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิต ก็ยังไม่ต้องรักษา แต่แพทย์จะนัดให้มาตรวจอัลตราซาวด์อยู่เป็นระยะ ประมาณทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี
  2. การใช้ยา เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่จำเป็นต้องผ่าตัด หรือไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ด้วยสาเหตุด้านสุขภาพ โดยตัวยาจะช่วยกดการทำงานของฮอร์โมนเพศ รวมทั้งยับยั้งไม่ให้เลือดไปหล่อเลี้ยงก้อนเนื้องอก ทำให้เนื้องอกฝ่อตัวและมีขนาดเล็กลง และยังช่วยรักษาอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดจากก้อนเนื้องอกได้ด้วย 
  3. การผ่าตัด เพื่อนำก้อนเนื้องอกออกจากมดลูก นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่หรือใช้วิธีรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล สามารถแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้หลายรูปแบบ เช่น
    • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบเปิด เป็นการผ่าตัดนำเนื้องอกออกจากมดลูกด้วยเทคนิคมาตรฐาน โดยแพทย์จะกรีดเปิดแผลทางหน้าท้อง แล้วนำก้อนเนื้องอกมดลูกออกมา ซึ่งขนาดแผลจะค่อนข้างใหญ่ ระยะฟื้นตัวนาน แต่สามารถรักษาความผิดปกติได้ทุกกรณี
    • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องทางหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดแบบเปิด โดยแพทย์จะเปิดแผลเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตรที่หน้าท้อง จำนวน 3-4 แผล แล้วใส่อุปกรณ์เข้าไปผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้แผลจะมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวไวกว่า นอกจากนี้หากแพทย์วินิจฉัยว่าต้องผ่าตัดปากมดลูกด้วย ก็สามารถ ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกและปากมดลูก ไปพร้อมกันได้เลยแต่ก็มีข้อจำกัดคือถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือโรคมีความซับซ้อน จะไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้
    • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกแบบส่องกล้องที่โพรงมดลูก แพทย์จะสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าทางโพรงมดลูก แล้วใช้ขดลวดไฟฟ้าตัดเลาะเนื้องอกออกมา เป็นการผ่าตัดที่ไม่มีแผลผ่าตัดที่ภายนอกเลย ฟื้นตัวไว แต่ข้อจำกัดคือ เหมาะกับเนื้องอกที่มีขนาดเล็กหรือเป็นติ่งเนื้อ ขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตรเท่านั้น และต้องเป็นในโพรงมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเท่านั้น

แต่ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่า ไม่สามารถตัดเลาะเนื้องอกออกจากมดลูกได้ และจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออกทั้งหมด ก็จะมีเทคนิคการผ่าตัดที่แตกต่างกันไป ทั้งการผ่าตัดมดลูกแบบเปิด การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกแบบเปิด รวมไปถึง การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด 

การป้องกันเนื้องอกมดลูก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดเนื้องอกมดลูกที่ชัดเจน แต่ก็มีวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง เช่น

  • รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 
  • อย่าเครียดจนเกินไป เพราะความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่และฮอร์โมนเพศที่อาจทำงานผิดปกติจนเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเนื้องอกได้
  • หลีกเลี่ยงการกินยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง หรือหากจำเป็นต้องกิน ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยาอย่างละเอียด
  • หมั่นตรวจสุขภาพทุกปี โดยอาจตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องหรือมดลูกเป็นระยะ เพราะหากตรวจพบเนื้องอกตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็มีแนวโน้มที่จะรักษาได้ง่ายกว่า

เนื้องอกมดลูกแม้ไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากปล่อยไว้ ก็อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง จนถึงขั้นต้องตัดมดลูก ซึ่งทำให้ผู้หญิงหลายคนสูญเสียโอกาสมีบุตรในอนาคต ดังนั้นควรหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองเป็นประจำ ร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติจะได้รักษาอย่างทันท่วงที

ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นเนื้องอกมดลูกรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองเนื้องอกมดลูก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top