trigger finger treatment comparison

เปรียบเทียบวิธีรักษาโรคนิ้วล็อค ผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัด ต่างกันอย่างไร?

โรคนิ้วล็อคมีสาเหตุมาจากการใช้งานนิ้วอย่างหนักจนเกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น ได้ยินแบบนี้หลายคนก็อาจเข้าใจว่า ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่ๆ ต้องพักนิ้วเป็นเดือน และคงจะมีขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อนมาก

แต่ความจริงแล้วการรักษาโรคนิ้วล็อคไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป และการผ่าตัดนิ้วล็อคในปัจจุบันก็ยังมีขั้นตอนที่เรียบง่าย มีแผลผ่าตัดเล็ก และพักฟื้นเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

นิ้วล็อคคืออะไร? ใช้งานนิ้วหนักไป รู้หรือไม่ว่าเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค อ่านต่อคลิกเลย

การเลือกวิธีรักษาโรคนิ้วล็อคขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรค ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การรักษาโรคนิ้วล็อคแบบไม่ผ่าตัด

การผ่าตัดโรคนิ้วล็อคแบบไม่ผ่าตัด เป็นการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบประคับประคองอาการให้ทุเลาลง มุ่งเน้นไปที่การปรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น

  • งดการใช้มือข้างที่มีอาการ โดยผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการกำ งอ และเหยียดนิ้ว เพื่อให้นิ้วได้พักการใช้งานที่หนักเกินไป
  • การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้พักการใช้งานนิ้วได้มากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องเผลอกำ งอ หรือเหยียดนิ้ว นิยมใส่ร่วมกับการงดใช้งามือเป็นการชั่วคราว
  • การกินยา ส่วนมากมักเป็นการกินยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ และแพทย์มักแนะนำให้งดการใช้งานมือร่วมด้วย เพื่อให้อาการทุเลาลงเร็วขึ้น
  • การฉีดยา เป็นวิธีรักษาที่นิยมใช้ถัดจากวิธีกินยา หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์มักพิจารณาฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบ
  • การประคบเย็นและประคบอุ่น เพื่อลดอาการอักเสบและอาการติดขัดของข้อนิ้ว
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นที่นิ้ว แต่ต้องรักษากับแพทย์และนักกายภาพบำบัดเท่านั้น การทำกายภาพบำบัดนิ้วผิดวิธีอาจทำให้อาการของโรคนิ้วล็อครุนแรงขึ้นได้ หรือยิ่งทำให้เส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บกว่าเดิม

การรักษาโรคนิ้วล็อคแบบไม่ผ่าตัดเหมาะกับใคร

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด นิยมใช้ในผู้ป่วยที่อาการจากโรคนิ้วล็อคอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ยังสามารถกำและเหยียดนิ้วได้ด้วยตนเอง แพทย์จะพิจารณาให้ลองรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดระยะหนึ่งก่อน และจะนัดหมายกลับมาตรวจดูอาการอีกเป็นระยะๆ 

ข้อดีของการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบไม่ผ่าตัด

  • ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีผ่าตัด
  • ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ และไม่มีแผลผ่าตัด

ข้อจำกัดของการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบไม่ผ่าตัด

  • เห็นผลลัพธ์ได้ช้า หรือเห็นผลลัพธ์ไม่ชัดเจน
  • มักเห็นผลลัพธ์ได้เพียงชั่วคราว 
  • ใช้วิธีรักษาเดิมไม่ได้ตลอด เช่น วิธีฉีดยาเสตียรอยด์สามารถฉีดได้ที่นิ้วเดิมประมาณ 2-3 ครั้งเท่านั้น 
  • หากรักษาหายแล้ว มักมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง
  • รักษาได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หากอาการอักเสบรุนแรงหรือกำแบมือเองไม่ได้ จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดแทน

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบไม่ผ่าตัด

ค่ารักษาพยาบาลโดยไม่ใช้วิธีผ่าตัดมีราคาค่อนข้างถูก เช่น ยาแก้ปวดหรือยาอักเสบอาจมีราคาหลักร้อยบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่วิธีรักษาที่แพทย์และผู้ป่วยเลือกใช้

2. การรักษาโรคนิ้วล็อคแบบผ่าตัด

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เป็นการแก้ไขต้นตอที่ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อคโดยทันที โดยการผ่าตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนที่บวมจากการอักเสบออก ทำให้เส้นเอ็นที่อยู่ด้านในปลอกหุ้มคลายตัวออก สามารถกลับมาเคลื่อนไหว งอ และเหยียดได้อย่างคล่องตัวอีกครั้ง

ในปัจจุบันการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคเป็นการผ่าตัดเล็ก สามารถทำหัตถการได้ในห้องตรวจ ไม่จำเป็นทำในห้องผ่าตัด แบ่งออกได้ 2 เทคนิคหลักๆ ได้แก่

  1. เทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด (Open Trigger Finger Release Surgery) เป็นการกรีดเปิดแผลบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนที่อักเสบ จากนั้นแพทย์ตัดและนำปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนที่อักเสบออก และเย็บปิดแผล ขนาดของแผลจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 มิลลิเมตร เป็นวิธีผ่าตัดที่มีความแม่นยำสูง เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดโรคนิ้วล็อคได้ชัดเจนนัก รวมถึงผู้ที่มีอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นอย่างหนัก
  2. เทคนิคการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังหรือแบบสะกิด (Percutaneous Trigger Finger Knife) เป็นการผ่าตัดที่ไม่มีการผ่าเปิดแผลที่ผิวหนังเลย โดยแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดที่มีลักษณะเป็นเข็มขนาดเล็กเจาะลงไปที่โคนนิ้ว เข็มผ่าตัดจะเข้าไปสะกิดและตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นส่วนบวมออก ขนาดรูแผลจะอยู่ที่ 2 มิลลิเมตร เหมาะกับผู้ป่วยที่สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดโรคนิ้วล็อคได้ชัดเจน และมีอาการอักเสบในระดับปานกลาง

การรักษาโรคนิ้วล็อคแบบผ่าตัดเหมาะกับใคร

การรักษาโรคนิ้วล็อคแบบผ่าตัดเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นในระดับปานกลาง-รุนแรง หรือไม่สามารถกำแบนิ้วได้เองอีก รวมถึงนิยมใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดมาก่อน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้วิธีผ่าตัดแทน

ข้อดีของการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบผ่าตัด

  • เห็นผลการรักษาเร็ว
  • เป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาทำหัตถการโดยเฉลี่ยไม่เกิน 45 นาที
  • แทบไม่ต้องเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า และไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  • แผลหายภายในไม่ถึง 1 สัปดาห์
  • แผลมีขนาดเล็กไม่ถึง 1 เซนติเมตร เจ็บแผลน้อย
  • มีตัวเลือกในการผ่าตัด 2 รูปแบบ สามารถรักษาผู้ป่วยได้หลากหลายอาการ

ข้อจำกัดของการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบผ่าตัด

  • มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีไม่ผ่าตัด
  • มีโอกาสเจ็บแผลได้บ้าง แต่มักอยู่ในระดับเพียงเล็กน้อย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบผ่าตัด

  • การบาดเจ็บที่เส้นประสาทรอบปลอกหุ้มเส้นเอ็น แต่มักเป็นอยู่เพียงชั่วคราว และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องกลับมารักษากับแพทย์
  • อาการชารอบๆ นิ้วที่ผ่าตัด มักเป็นอยู่เพียงชั่วคราวเช่นกัน และสามารถหายได้เอง
  • อาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการผ่าตัด เช่น ภาวะแผลติดเชื้อ แผลบวมช้ำ มีเลือดออกจากแผล 

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนิ้วล็อคแบบผ่าตัด

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคจะอยู่ที่ประมาณ 8,000-15,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง

กำแบนิ้วไม่คล่อง อยากผ่าตัดนิ้วล็อคให้หายเร็วๆ แถมได้โปรโมชั่นค่าผ่าตัดสุดคุ้ม ทักหาทีมงาน HDcare ได้ที่นี่เลย

การรักษาโรคนิ้วล็อคสามารถทำได้หลายวิธี และไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยวิธีผ่าตัดเสมอไป หรือหากใครจำเป็นต้องผ่าตัด การผ่าตัดรักษาโรคนี้ก็ไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถทำได้ในห้องตรวจที่ให้บรรยากาศผ่อนคลายกว่าได้เลย

ดังนั้นหากรู้สึกว่าตนเองมีอาการคล้ายกับโรคนิ้วล็อค อย่าลังเลที่จะรีบเดินทางมาปรึกษาแพทย์ เพื่อไม่ให้อาการของโรคนี้สร้างอุปสรรคในการทำงานหรือการใช้ชีวิตของคุณ

มีอาการนิ้วล็อค รักษาด้วยวิธีไหนดี? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดจาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top