กินยารักษาไทรอยด์มานาน แต่ค่าเลือดไม่ดีขึ้น คุณหมอแนะนำให้กลืนแร่ แต่ยังกังวลใจ กลัวจะอันตราย ใครกำลังกังวลใจเกี่ยวกับการกลืนแร่รักษาโรคไทรอยด์ บทความนี้รวบรวมข้อมูลเอาไว้ให้คุณแล้ว
การกลืนแร่รักษาโรคไทรอยด์ คืออะไร?
การกลืนแร่ เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกลืนแร่หรือสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 (I-131) ซึ่งอาจเป็นรูปแบบน้ำหรือแคปซูลก็ได้ ซึ่งแร่ชนิดนี้จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ช่วยให้ผู้ป่วยกลืนได้สะดวก
การทำงานของแร่คือ แร่จะไปจับและยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ค่อยๆ ฝ่อลง มีขนาดเล็กลง และสร้างฮอร์โมนน้อยลง
การกลืนแร่นับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม โดยสามารถรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาดได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด
สารบัญ
การกลืนแร่เหมาะกับใคร เมื่อไหร่ถึงจะต้องกลืนแร่
สำหรับผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษที่รับประทานยารักษาโรคไทรอยด์มาต่อเนื่องประมาณ 1-2 ปี แต่ค่าเลือดไม่ดีขึ้น หรือกรณีที่ผู้ป่วยต้องการรักษาโรคไทรอยด์ให้หายขาดโดยไม่ต้องการผ่าตัด แพทย์มักแนะนำให้กลืนแร่
นอกจากนี้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์บางราย หลังจากที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกแล้ว แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาต่อด้วยการกลืนแร่ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกให้หมด โดยส่วนใหญ่มักแนะนำผู้ป่วยที่มีลักษณะโรคดังต่อไปนี้
- ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่เกิน 4 เซนติเมตร
- พบเซลล์มะเร็งในต่อมไทรอยด์หลายจุด
- พบเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบๆ ต่อมไทรอยด์
- เซลล์มะเร็งมีการทำลายชั้นห่อหุ้มไทรอยด์ ทำลายหลอดเลือด หรือทางเดินน้ำเหลือง
- เป็นมะเร็งชนิด Follicular Cell CA
หากพบว่ามะเร็งต่อมไทรอยด์ที่พบมีคุณลักษณะข้างต้น แพทย์มักจะให้กลืนแร่ โดยจะทำหลังจากการผ่าตัดประมาณ 3-4 สัปดาห์
กังวลใจไม่อยากกลืนแร่ กลัวอันตราย แต่อาการไทรอยด์ก็ไม่หาย ต้องทำยังไงดี? ปรึกษาทีม HDcare เลย เราพร้อมช่วยดูแลคุณ นัดคิวปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ออกแบบการรักษาใหม่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด คลิกเลย!
ก่อนกลืนแร่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
การกลืนแร่เป็นวิธีการรักษารูปแบบหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมร่างกายให้พร้อม ก่อนเริ่มการรักษา เพื่อลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด โดยควรเตรียมตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงหรืองดรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง จำพวกอาหารทะเล สาหร่ายทะเล อาหารหมักดอง หรืออาหารที่มีการปรุงรสเค็มจัด เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่แดง อย่างน้อย 7 วันก่อนการกลืนแร่
- หยุดรับประทานยาต้านไทรอยด์ อย่างน้อย 3-7 วัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ยาสำหรับรักษาโรคประจำตัวอื่นๆ สามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- เตรียมสถานที่สำหรับพักรักษาตัวให้พร้อม เพราะหลังกลืนแร่ ต้องแยกตัว ไม่อยู่ใกล้ชิดจากคนรอบข้างอย่างน้อย 7 วัน
การกลืนแร่มีขั้นตอนอย่างไร
การกลืนแร่มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนการรักษาดังนี้
- แพทย์จะให้ผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาล และให้กลืนแร่ไอโอดีนปริมาณน้อยๆ ก่อน
- วันถัดมาแพทย์จะนัดให้มาตรวจด้วยเครื่องวัดรังสีแกมมาขนาดเล็ก ถ้าผลการตรวจพบว่าต่อมไทรอยด์จับรังสีได้ดี แพทย์จะให้กลืนไอโอดีนรังสีเพิ่ม ปริมาณตามที่วางแผนไว้
- เมื่อครบ 7 วันหลังการกลืนแร่ แพทย์อาจให้เริ่มกลับมารับประทานยาต้านไทรอยด์ และตรวจติดตามผลเป็นระยะ
หลังกลืนแร่ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
เนื่องจากรังสีจากแร่ไอโอดีนจะถูกขับออกมาทางสารคัดหลั่งทุกชนิดจากร่างกาย เช่น น้ำลาย เหงื่อ ปัสสาวะอุจจาระ โดยเฉพาะในช่วง 7 วันแรกหลังการกลืนแร่ ดังนั้นใน 7 วันแรก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
- พยายามรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร โดยเฉพาะเด็กและสตรีมีครรภ์
- แนะนำให้หยุดงาน งดเดินทางไปยังที่ชุมชน งดการใช้รถสาธารณะ
- หากอาศัยในบ้านร่วมกับผู้อื่น ต้องแยกห้องนอน แยกการซักเสื้อผ้า งดการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หากเป็นไปได้ควรแยกห้องน้ำ
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อช่วยขับรังสีออกจากร่างกาย
- หลีกเลี่ยงหรืองดรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูงต่ออีก 7 วัน
- ควรคุมกำเนิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อความปลอดภัย
การกลืนแร่มีผลข้างเคียงไหม
เนื่องจากการกลืนแร่ เป็นการนำสารกัมตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนกังวลว่าอาจจะเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาในอนาคต แต่จริงๆ แล้ว วิธีการรักษานี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับในวงการแพทย์มาอย่างยาวนาน โดยในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500
ทั้งนี้กระบวนการทำงานของแร่ไอโอดีนนั้นนับว่าปลอดภัย โดยรังสีที่แผ่ออกมาจากไอโอดีนจะเป็นรังสีเบต้า ซึ่งมีระยะการเดินทางสั้นมาก ประมาณ 2 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้ออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณต่อมไทรอยด์ โดยไม่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงใดๆ
นอกจากนี้แร่จะถูกขับออกจากร่างกายทั้งหมด ภายในประมาณ 1 สัปดาห์หลังการกลืนแร่ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องแร่ตกค้างในร่างกาย
ป่วยเป็นไทรอยด์มานาน แต่ไม่รู้จะเลือกรักษาวิธีไหนให้หายขาด ผลข้างเคียงต่ำ คลิกอ่านทางเลือกการรักษารูปแบบอื่นๆ ได้จากบทความนี้เลย โรคไทรอยด์ รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
ผลข้างเคียงจากการกลืนแร่
แม้ว่าการกลืนแร่จะเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับวิธีการรักษารูปแบบอื่นๆ เช่น
- อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- มีอาการบวมหรือเจ็บที่บริเวณคอ ซึ่งเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ได้รับรังสีแล้วเกิดการอักเสบ
- ต่อมน้ำลายอักเสบ
- การรับรู้รสชาติผิดปกติชั่วคราว
- เกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งอาจต้องรับประทานยาฮอร์โมนเสริม
- ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังรักษา อาจมีอาการไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงขึ้น แต่มีโอกาสเกิดน้อย
ถ้าไม่กลืนแร่ รักษาด้วยวิธีอื่นได้ไหม?
หากผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีการรับประทานยาแล้ว แต่ค่าเลือดไม่ดีขึ้น หรืออยากรักษาอาการไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาด แต่ไม่ต้องการกลืนแร่ อีกหนึ่งวิธีที่ทำได้คือการ ผ่าตัดต่อมไทรอยด์
การผ่าตัดต่อมไทรอยด์นับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย เพราะมีประสิทธิภาพการรักษาสูง ซึ่งมีการผ่าตัด 2 รูปแบบ ได้แก่
- การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิดบริเวณลำคอ (Open Thyroid Surgery) เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานที่ใช้รักษาความผิดปกติได้แทบทุกรูปแบบ แต่ข้อเสียคือผู้ป่วยจะมีแผลเป็นขนาดใหญ่
- การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางปาก (Transoral Endoscopic Thyroid Surgery) เป็นเทคนิคการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณด้านในริมฝีปากล่างและเหงือก 3 จุดเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร ข้อดีคือ ไม่มีแผลเป็นเลย แต่ข้อจำกัดคือหากก้อนมีขนาดใหญ่ อาจจะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
การกลืนแร่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาด ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ค่าใช้จ่ายไม่สูง ไม่ต้องเจ็บตัวผ่าตัด แต่ถ้าใครยังไม่มั่นใจเรื่องผลข้างเคียงในอนาคต อีกทางเลือกที่ทำได้เช่นกันคือการผ่าตัดต่อมไทรอย์ออก ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน โดยผู้ป่วยควรตัดสินใจร่วมกับแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ถ้าอยากหยุดอาการป่วยให้หายขาด รักษาด้วยวิธีไหนดี ผลข้างเคียงน้อยที่สุด อยากปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ประสบการณ์สูง ในราคาที่ถูกกว่า ทักหาทีม HDcare เราพร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง รวดเร็ว ทันใจ ไม่ต้องรอคิวนาน คลิกที่นี่เลย