Default fallback image

นอนกรน คืออะไร สาเหตุ อาการ อันตรายแค่ไหน วิธีรักษา

นอนกรน เป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไป มักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ถ้ามีอาการนอนกรน แต่เสียงไม่ได้ดังรบกวนการนอนของบุคคลใกล้ชิด หรือตื่นมาแล้วยังสดชื่นดี ไม่รู้สึกง่วงมากจนกระทบกับการเรียนหรือการทำงานในระหว่างวัน อาจไม่ต้องแก้ไขอะไร

แต่ถ้ากรนเสียงดังมาก บางครั้งมีอาการสำลักตอนนอน หรือตื่นนอนแล้วยังรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ระหว่างวันรู้สึกง่วงอยู่ตลอดเวลา จนมีปัญหาเรื่องสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา เนื่องจากอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อาการนอนกรน คืออะไร ทำไมเราจึงควรใส่ใจเรื่องนอนกรน?

นอนกรน คืออาการที่มีเสียงดังออกจากทางเดินหายใจขณะนอนหลับ พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

อาการกรนโดยทั่วไปแล้วไม่เป็นอันตรายร้ายแรง บางคนอาจมีอาการกรนเป็นครั้งคราว และเมื่อเปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นตะแคง อาการกรนก็จะหายไป ในขณะที่บางคนอาจกรนเป็นประจำ (กรนมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์) และไม่ว่าจะเปลี่ยนท่านอนเป็นท่าไหน ก็ยังกรนอยู่

อาการนอนกรนบ่งบอกถึงการตีบแคบของทางเดินหายใจ และเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุดในชนิดของภาวะหยุดหายในขณะนอนหลับทั้งหมด ผู้มีภาวะนี้ สมองจะได้รับออกซิเจนน้อยลง จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา

นอกจากนี้ เสียงกรนยังรบกวนสุขภาพการนอนของบุคคลใกล้ชิดได้อีกด้วย

สาเหตุของอาการนอนกรนคืออะไร?

อาการนอนกรน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

    • ลักษณะกายวิภาคของช่องปากที่ทำให้ทางเดินหายใจส่วนนี้แคบลง เช่น ผู้ที่มีเพดานอ่อนอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าคนทั่วไป เพดานอ่อนมีลักษณะหนา หรือเนื้อเยื่อด้านหลังโคนลิ้นมีขนาดใหญ่ขึ้น (กรณีนี้มักเกิดจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น)
    • ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อลิ้นหย่อน และลดความสามารถของร่างกายในการขืนให้ทางเดินหายใจเปิดโล่งตามปกติ
    • ปัญหาเกี่ยวกับโพรงจมูก เช่น อาการคัดจมูกเรื้อรัง จมูกคด อาจทำให้เกิดอาการนอนกรนได้
    • มีปัญหาการนอน การนอนไม่พอสามารถ นำไปสู่ปัญหากล้ามเนื้อด้านในลำคอหย่อนยาน หรือถ้าเป็นอยู่แล้วก็อาจเป็นมากขึ้น ทำให้เกิดอาการนอนกรน หรือกรนหนักขึ้น
    • ท่านอน การกรนมักเกิดมาก หรือมีเสียงดังที่สุด เมื่อนอนหงาย ซึ่งท่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อในทางเดินหายใจหย่อนเนื่องจากแรงโน้มถ่วง ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบกว่าท่านอนอื่นๆ

นอนกรน แบบไหนอันตราย อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ไม่ใช่ทุกคนที่นอนกรนจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักมีอาการนอนกรนเป็นหนึ่งในอาการแสดงที่สำคัญ โดยมักกรนเสียงดังมากจนรบกวนการนอนของบุคคลใกล้ชิด

อาการอื่นๆ ที่สังเกตได้ของผู้มีภาวะดังกล่าวนี้ เช่น

  • สังเกตลมหายใจขาดช่วงไปขณะนอนหลับ โดยอาจพบด้วยการใส่อุปกรณ์ติดตามการนอน หรือสังเกตเห็นโดยบุคคลใกล้ชิด หรือผู้มีภาวะนี้รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเอง
  • เมื่อรู้สึกตัวกลางดึกพบว่าตัวเองนอนอ้าปาก หรืออาจตื่นด้วยอาการสำลัก
  • เจ็บบริเวณหน้าอกในตอนกลางคืน
  • เมื่อตื่นมาตอนเช้ามีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ
  • รู้สึกง่วงมากผิดปกติในระหว่างวัน
  • รู้สึกไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่จดจ่อ จนอาจรบกวนประสิทธิภาพการเรียนหรือการทำงาน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อันตรายตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ กระทั่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ดังนั้นถ้าสังเกตว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือสงสัยว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการกรน ที่คุณเป็นอยู่ แค่กรนธรรมดาหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

วิธีรักษาอาการนอนกรน มีวิธีไหนบ้าง

ปัญหานอนกรน สามารถบรรเทาอาการได้เบื้องต้น ด้วยการลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน ปรับท่านอนเป็นนอนตะแคง หรือใช้หมอนสูงๆ หนุนศีรษะเมื่อเข้านอน

นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์สำหรับใส่เวลานอน เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น เช่น

  • แผ่นแปะจมูกแก้นอนกรน (Nasal stripes)
  • เครื่องอัดอากาศ (CPAP)
  • ฟันยางแก้นอนกรน

อย่างไรก็ตาม บางอุปกรณ์อาจทำให้ผู้มีปัญหานอนกรนรู้สึกไม่สบายตัวไปจนนอนไม่หลับได้

ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ แล้ว หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วปัญหานอนกรนยังไม่ดีขึ้น อาจพิจารณารักษานอนกรนด้วยวิธีทางการแพทย์ เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (RF) จี้บริเวณโคนลิ้น หรือการใช้คลื่นความถี่วิทยุ (RF) จี้บริเวณเพดานอ่อน 

ทั้งนี้คลื่นความถี่วิทยุสามารถสร้างพลังงานความร้อน เมื่อจี้ไปยังเนื้อเยื่อ จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นหดตัวลง ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น หายใจสะดวกขึ้น ปัญหานอนกรนจึงลดลง

อย่างไรก็ตาม วิธีใช้คลื่นความถี่วิทยุ (RF) จี้บริเวณโคนลิ้นหรือเพดานอ่อนเพื่อรักษานอนกรนนี้มักต้องทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้งจึงจะเห็นผล

สำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายในขณะหลับ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยมีตัวอย่างเทคนิคการผ่าตัดดังนี้

รักษานอนกรนด้วยการผ่าตัดใส่พิลลาร์ในเพดานอ่อน (Palatal implant)

แพทย์จะผ่าตัดเอาแท่งที่เรียกว่า พิลลาร์ ความยาวประมาณ 1.8 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 มิลลิเมตร เข้าไปสอดในเพด่านอ่อนของผู้ป่วย

วิธีนี้ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ พิลลาร์หดตึงขึ้น การอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับจึงลดลง

รักษานอนกรนด้วยการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP)

แพทย์จะผ่าตัดเอาต่อมทอนซิล ลิ้นไก่ และเนื้อเยื่อที่หย่อนยานบริเวณผนังคอหอยออก ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณนี้กว้างขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น

การผ่าตัดรักษานอนกรนด้วยวิธี UPPP เป็นการผ่าตัดในช่องปาก เมื่อผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยจะไม่มีแผลภายนอก

รักษานอนกรนด้วยการผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนและล่างมาทางด้านหน้า (Maxillo-Mandibular Advancement: MMA)

เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายทางเดินหายใจส่วนหลังเพดานอ่อน คอหอย และหลังโคนลิ้น ถือเป็นวิธีผ่าตัดรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ได้ผลดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การเลื่อนขากรรไกรอาจส่งผลให้โครงหน้าของผู้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไปได้

จะเห็นว่าการรักษาภาวะนอนกรนมีหลายรูปแบบ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าแต่ละคนควรได้รับการรักษาด้วยวิธีใด โดยอาจดูจากความรุนแรงของอาการกรน ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงงบประมาณในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

การป้องกันอาการนอนกรน ทำได้อย่างไรบ้าง?

วิธีป้องกันการนอนกรน ทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่

  • ลดน้ำหนัก
  • นอนตะแคง
  • ถ้ามีอาการคัดจมูก ให้รีบรักษา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
  • เลิกบุหรี่
  • จัดเวลาให้สามารถนอนหลับได้ต่อเนื่องและมีคุณภาพ โดยวัยผู้ใหญ่ควรได้นอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง

นอนกรน อาการที่ใครๆ ก็เป็นได้ อาจเป็นแค่อาการชั่วคราวที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือเป็นสัญญาณบอกภาวะหยุดหายใจขณะหลับซึ่งนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ที่เป็นอันตรายได้ถึงชีวิต

ตื่นมาไม่สดชื่น รู้สึกง่วงตลอดเวลา แต่อยู่คนเดียว เลยไม่รู้ว่านอนกรนหรือเปล่า กรนหนักแค่ไหน เสี่ยงมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับไหม ลองปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top