เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศชาย โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มักติดหนึ่งในโรคอันดับต้นๆ เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายสูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักของโรคนี้ ปัจจุบันในประเทศไทยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งในเพศชาย และในทุกๆ ปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3,700 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
มะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร สาเหตุคืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน อาการ วิธีการตรวจ และวิธีรักษาเป็นอย่างไร บทความนี้รวบรวมทุกข้อที่คุณควรรู้เอาไว้แล้ว
สารบัญ
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก คืออะไร?
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดบริเวณ ต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นต่อมขนาดเล็กรูปร่างคล้ายลูกเกาลัด อยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนบนของเพศชาย โดยสามารถแบ่งออกได้ 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งยังมีขนาดเล็กและอยู่ในต่อมลูกหมากเพียงกลีบเดียว อาจไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การทำ CT Scan การทำอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมาก แต่อาจพบได้ระหว่างการผ่าตัดรักษาโรคอื่นๆ ที่ต่อมลูกหมากหรือในบริเวณใกล้เคียงกัน และหากตรวจพบในระยะนี้ ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง
- ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งเริ่มมีเจริญเติบโตและแพร่กระจายอยู่ภายในต่อมลูกหมากมากกว่า 1 กลีบ ระยะนี้จะสามารถตรวจพบได้จากการตรวจทางรังสีวิทยา หรือคลำพบก้อนมะเร็งได้จากการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก หรือที่เรียกว่า การตรวจ DRE (Digital Rectal Exam: DRE)
- ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายออกจากต่อมลูกหมากไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicles) และไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ในระยะนี้ผู้ป่วยหลายรายจะมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะมากขึ้น เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด
- ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปถึงเนื้อเยื่อ ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ รวมถึงอวัยวะข้างเคียง เช่น ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หูรูดปัสสาวะ ทวารหนัก ต่อมน้ำเหลือง ตับ ไต ปอด หรืออาจลุกลามเข้าไปถึงกระดูก
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากอะไร?
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณต่อมลูกหมาก และเจริญเติบโตจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เซลล์แบ่งตัวผิดปกตินั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีความเชื่อว่า โรคมะเร็งต่อมลูกหมากอาจเกิดได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้
- อายุที่มากขึ้น โดยผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากกว่า
- เชื้อชาติ โดยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีโอกาสพบในชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย
- พันธุกรรม หากมีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือด เช่น พ่อ พี่ชายที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมาก่อน ก็มีโอกาสที่สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ด้วย
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก การกินเนื้อสัตว์ติดมัน หรือเนื้อแดง อาหารปิ้งย่าง
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อาการเป็นอย่างไร?
ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยหลายรายมักไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งเมื่อก้อนมะเร็งเริ่มเจริญเติบโตมากขึ้น ก็จะเริ่มแสดงอาการผิดปกติออกมา ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะ เช่น
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- ปัสสาวะไม่พุ่ง
- ปัสสาวะไม่ค่อยออก หรือต้องรอจนกว่าปัสสาวะจะไหลออกมา
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- หลั่งน้ำอสุจิมีเลือดปน
- มีอาการปวดระหว่างปัสสาวะ หรือระหว่างหลั่งน้ำอสุจิ
- มีอาการเจ็บเอวค่อนไปทางด้านหลัง
จู่ ๆ ก็ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีเลือดปน… ปัสสาวะไม่เหมือนเดิมแบบนี้ เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อันตรายหรือไม่?
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก จะยังไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ที่ทำให้รู้สึกเจ็บป่วยรุนแรง ทั้งยังมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง
แต่หากเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลาม เชื้อมะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อ อวัยวะโดยรอบ หรือกระดูกได้ ฉะนั้นในผู้ป่วยบางราย อาจถึงขั้นเป็นอัมพาต หรือกระดูกสันหลังหักจากเซลล์มะเร็งที่ลุกลามเข้ากระดูก หรือมีอาการเจ็บปวดกระเพาะปัสสาวะอย่างรุนแรง รวมถึงเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจากเซลล์มะเร็งที่ลุกลามเข้าไปยังเส้นประสาทใกล้ต่อมลูกหมาก
ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่เมื่อตรวจพบสัญญาณเสี่ยงใดๆ จะได้รีบรักษาได้ทัน ก่อนอาการจะรุนแรง
เช็กราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เช็กก่อน รู้เร็ว โอกาสหายขาดสูง ทักหาทีม HDmall ได้เลย พร้อมช่วยคุณหาโปรฯ ดี ราคาโดนใจ ณ โรงพยาบาลชั้นนำหรือคลินิกใกล้บ้านคุณ คลิกเลย!
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ใครคือกลุ่มเสี่ยง?
- กลุ่มผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป
- กลุ่มผู้ชายที่มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปี
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ที่บริโภคเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ติดมันเป็นประจำ
วิธีตรวจโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มักมีกระบวนการตรวจหลายวิธี เพื่อให้สามารถคัดกรองโรคนี้ได้อย่างแม่นยำขึ้น เช่น
- การซักประวัติสุขภาพ ลักษณะการปัสสาวะ และประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว
- การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือการตรวจ PSA (Prostate-Specific Antigen)
- การตรวจหาก้อนมะเร็งต่อมลูกหมากทางทวารหนัก หรือการตรวจ DRE (Digital Rectal Exam: DRE)
- การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมาก
- การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Biopsy) เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถแบ่งออกได้หลายแนวทาง ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่ง ขนาด ระยะของโรคมะเร็ง เงื่อนไขสุขภาพอื่นๆ ของผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีทางเลือกในรักษาดังต่อไปนี้
- การให้รังสีบำบัด
- การใช้ยาเคมีบำบัด
- การผ่าตัด ในปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้อง ซึ่งมีจุดเด่นด้านแผลผ่าตัดที่เล็กกว่า เสียเลือดน้อย ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ และยังมีความแม่นยำในการผ่าตัดมากกว่าด้วย โดยแบ่งเทคนิคการผ่าตัดย่อยลงได้อีก 2 เทคนิค ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมลูกหมาก ด้วยการส่องกล้อง เป็นการใช้กล้องผ่าตัดที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดนำเนื้อเยื่อรอบเซลล์มะเร็ง ต่อมน้ำเหลือง และอาจรวมถึงต่อมลูกหมากบางส่วน หรือทั้งหมดออก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกพร้อมเลาะต่อมน้ำเหลือง ด้วยการส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดผ่านการเจาะรูแผลที่หน้าท้อง 3-5 แผล แล้วสอดกล้องผ่าตัดเข้าไปตัดนำก้อนมะเร็ง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งออก
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยอันดับต้นๆ ในเพศชาย ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มต้นของโรคอีกด้วย
ดังนั้นผู้ชายทุกคนจึงไม่ควรละเลย เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัย 40 ปี ควรเริ่มรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบความผิดปกติใดๆ จะได้รีบวางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
มีอาการปัสสาวะผิดปกติ แถมยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก… ไม่แน่ใจว่าเป็นสัญญาณโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย