ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาไม่ปกติ คลำพบก้อน ท้องขยายขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ คุณอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับท่อนำไข่
ท่อนำไข่คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร มีโรคอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับท่อนำไข่ อันตรายแค่ไหน วิธีการรักษาเป็นแบบใด มาหาคำตอบในบทความนี้กันได้เลย
สารบัญ
ปีกมดลูกและท่อนำไข่ มีหน้าที่ทำอะไร
ท่อนำไข่ (Oviduct) เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง มีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันทั่วไปคือ ปีกมดลูก (Fallopian Tube) มีลักษณะเป็นท่อกลวง มี 2 ข้าง ยาวข้างละประมาณ 10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมระหว่างรังไข่สองข้างกับมดลูก
ท่อนำไข่ มีหน้าที่เป็นทางเดินให้ไข่ หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตกไข่ อสุจิจะเดินทางจากช่องคลอด ผ่านเข้าโพรงมดลูก เข้าสู่ท่อนำไข่ และมักจะผสมกับไข่บริเวณตอนกลางของท่อนำไข่ จากนั้นไข่ที่ผสมแล้วจะเคลื่อนตัวจากท่อนำไข่กลับสู่โพรงมดลูก เพื่อฝังตัวในเยื่อบุมดลูกต่อไป
อาการผิดปกติของท่อนำไข่ เมื่อไหร่ต้องผ่าตัดออก?
ท่อนำไข่เกิดความผิดปกติได้หลายประการ ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์โดยตรง เช่น ภาวะท่อนำไข่บวม ท่อนำไข่ตีบตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถผสมกับอสุจิได้
หากเกิดความผิดปกติทั้งสองรูปแบบที่กล่าวมา ในเบื้องต้นแพทย์จะพยายามหาทางรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ยารักษา การเจาะดูดน้ำออก หรือการผ่าตัดเพื่อเลาะเฉพาะจุดที่ตีบตันออก เพื่อรักษาท่อนำไข่เอาไว้ ให้ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์น้อยที่สุด
แต่ก็มีความผิดปกติหลายประการ ที่มักนำไปสู่การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออก เช่น
- การท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติคือ เมื่อสเปิร์มผสมกับไข่จนกลายเป็นตัวอ่อนแล้วแทนที่จะฝังตัวในมดลูก กลับฝังตัวในท่อนำไข่แทน ซึ่งตัวอ่อนที่ฝังตัวผิดที่ จะไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และอาจก่อให้เกิดภาวะท่อนำไข่ฉีกขาด ทะลุ มีเลือดออก ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในบรรดามะเร็งนรีเวช ปัจจุบันพบว่าท่อนำไข่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเซลล์มะเร็งรังไข่ได้ และยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ กว่าจะพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ก็มักอยู่ในระยะที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูง จึงอาจเลือกการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกเพื่อลดความเสี่ยงของโรคนี้
- โรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งท่อนำไข่ เป็นโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์บริเวณรังไข่ หรือท่อนําไข่ อาจเกิดความผิดปกติเพียงข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ โดยมากมักไม่แสดงอาการในเบื้องต้น แต่จะมีอาการเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม หรือแพร่กระจายไปตามอวัยวะข้างเคียงแล้ว โดยมากแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อนำรังไข่ ท่อนำไข่ และอาจตัดมดลูกออกด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
นอกจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับท่อนำไข่แล้ว บางครั้งการตัดท่อนำไข่ออก อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการคุมกำเนิดถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่เคลื่อนตัวไปผสมกับอสุจิได้อีก
อาการของโรคที่เกี่ยวกับท่อนำไข่ มีอะไรบ้าง?
โรคที่เกี่ยวกับท่อนำไข่มีทั้งช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกรังไข่ หรือเนื้องอกในมดลูก ซึ่งมีทั้งแบบไม่แสดงอาการ และแสดงอาการ ถ้าหากคุณมีอาการที่อยู่ในกลุ่มโรคถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่ หรือมะเร็งรังไข่ ดังต่อไปนี้ แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติรุนแรงในอนาคต เช่น
- ปวดท้องน้อย ซึ่งอาจเป็นๆ หายๆ หรือปวดบิด ปวดแบบฉับพลัน รุนแรง
- ปวดหน่วงท้องน้อย ซึ่งอาจสัมพันธ์กับประจำเดือนหรือไม่ก็ได้
- ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
- ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มาเลย
- ปัสสาวะบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องขยายขึ้น
- ท้องอืด แน่นท้อง
- รับประทานอาหารได้น้อยลง และรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
- สิวขึ้นเยอะ
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคเกี่ยวกับท่อนำไข่ไหม? อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่
วิธีการรักษาโรคที่เกี่ยวกับโรคท่อนำไข่
หากท่อนำไข่มีความผิดปกติ และแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด จะมีการผ่าตัด 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐาน แพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณหน้าท้อง อาจเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ ความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค และผ่าตัดนำท่อนำไข่และ/หรือรังไข่ออกมา
ข้อดีของการผ่าตัดรูปแบบนี้คือ สามารถรักษาความผิดปกติของท่อนำไข่ได้ทุกรูปแบบ แต่ข้อเสียคือ ผู้ป่วยจึงจะมีแผลเป็นยาวบริเวณหน้าท้อง และต้องพักฟื้นค่อนข้างนาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
2. ผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง
วิธีนี้เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา และได้รับความนิยมมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิด เนื่องจากไม่จำเป็นต้องกรีดเปิดแผลที่หน้าท้อง แต่แพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร จำนวน 2-4 รู บริเวณหน้าท้อง แล้วสอดเครื่องมือเข้าไปผ่าตัด
วิธีการนี้แผลจะมีขนาดแผลเล็กมาก เจ็บน้อยกว่า กระทบอวัยวะข้างเคียงน้อยกว่า และพักฟื้นได้ไวกว่า โดยส่วนใหญ่ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็เริ่มกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถรักษาความผิดปกติได้ทุกรูปแบบ
ผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกแล้ว มีลูกได้หรือเปล่า จะมีประจำเดือนไหม เข้าสู่วัยทองเลยหรือเปล่า?
การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออก ไม่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนและอาการวัยทอง เพราะท่อนำไข่ไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน
แต่จะมีผลกระทบกับการตั้งครรภ์ ถ้าผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกข้างเดียว และท่อนำไข่อีกข้างยังทำงานเป็นปกติ ผู้ป่วยอาจจะยังมีบุตรได้
แต่ถ้าผ่าตัดเอาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออกไปเลย ก็จะไม่เหลือทางเดินให้ไข่เข้ามายังมดลูกอีกต่อไป หากผู้ป่วยต้องการตั้งครรภ์ อาจต้องใช้วิธีทำเด็กหลอดแก้ว แต่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอวัยวะในระบบสืบพันธุ์อื่นๆ ด้วยว่ายังทำงานเป็นปกติหรือเปล่า
แม้ว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับนรีเวชจะเป็นโรคที่ป้องกันยาก แต่ก็มีวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยง ไม่ให้โรคลุกลามรุนแรงได้ ด้วยการตรวจสุขภาพ ตรวจภายใน หรือในผู้ที่มีความเสี่ยงอาจตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเจอความผิดปกติก็จะได้วางแผนการรักษาได้ทันที
ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับท่อนำไข่รึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย