เนื้องอกรังไข่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งอาจมีทั้งชนิดที่ไม่เป็นอันตราย และชนิดที่เป็นอันตราย อาการบ่งชี้ของโรคเนื้องอกรังไข่ อาจไม่ชัดเจนนัก เช่น ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
ทำให้หลายๆ คนคิดว่าเป็นอาการปกติของรอบเดือน หรือเป็นเพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ และตรวจติดตามอาการอย่างเหมาะสม
บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักเนื้องอกรังไข่ให้มากขึ้น เพื่อที่คุณจะได้เช็กได้ว่า รังไข่ของคุณ ยังปกติดีอยู่หรือเปล่า
สารบัญ
เนื้องอกในรังไข่ คืออะไร?
เนื้องอกรังไข่ หรือ ก้อนเนื้อที่รังไข่ (Ovarian Tumor) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทุกช่วงวัย
โดยเกิดจากการที่เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติจนเกิดเป็นเนื้องอก ซึ่งมีทั้งแบบเนื้องอกตันและเนื้องอกที่มีของเหลวอยู่ข้าง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่
- ถุงน้ำที่เกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง (Functional Cyst) เป็นถุงน้ำที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ เพื่อสร้างไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธ์ุของเพศหญิง จึงมักเกิดขึ้นพร้อมกับรอบเดือน
โดยถุงน้ำจะโตขึ้นแล้วแตกออก ทำให้เซลล์ไข่ไหลออกมา จากนั้นจะค่อยๆ ยุบตัวและฝ่อลงไป โดยไม่ทำให้เกิดอันตราย หรืออาการใดๆ ต่อร่างกาย
2. เนื้องอกรังไข่ที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign Ovarian Tumor) เกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์รังไข่ ทำให้เกิดก้อนเนื้องอก หรือถุงน้ำที่ผิดปกติขึ้น โดยเนื้องอกชนิดนี้จะโตอย่างช้าๆ และจะไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และมีโอกาสน้อยมากที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง เนื้องอกนี้แบ่งได้หลายชนิดเช่นกัน โดยชนิดที่พบได้บ่อย เช่น
- ถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) เกิดจากเซลล์ที่มีความสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เช่น ไขมัน เส้นผม กระดูก ฟัน มาอยู่บริเวณรังไข่ตั้งแต่แรกเกิด แล้วมีการพัฒนาหรือถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่างให้เจริญเติบโตขึ้น จึงทำให้ถุงน้ำชนิดนี้ ส่วนใหญ่มักมีเส้นผม เล็บ กระดูก ฟัน หรือไขมันอยู่ภายใน
- ถุงน้ำที่มีลักษณะคล้ายเนื้องอก (Endometrioma) เกิดจากการที่เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ โดยไปเจริญบริเวณรังไข่ จนทำให้เกิดการอักเสบ และกลายเป็นถุงน้ำที่มีของเหลวภายในคล้ายเลือดเก่า สีข้นคล้ายช็อกโกแลต ทำให้มีอีกชื่อเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)
3. มะเร็งรังไข่ (Malignant Ovarian Tumor) เป็นมะเร็งทางนรีเวชชนิดร้ายแรง เกิดจากการที่เซลล์จะมีการแบ่งตัวผิดปกติ โดยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถลุกลามแพร่กระจายไปที่อวัยวะข้างเคียงได้ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย และยังพบได้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีด้วย แต่โดยส่วนใหญ่เนื้องอกรังไข่ มักไม่ใช่มะเร็ง จะมีเพียงประมาณ 6% ของจำนวนผู้ป่วยโรคเนื้องอกรังไข่เท่านั้นที่พบว่าเป็นมะเร็งรังไข่
กังวลใจใช่ไหม? ว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคเนื้องอกรังไข่หรือเปล่า ไม่รู้จะปรึกษาใคร ทักหา HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยดูแลคุณ ปรึกษาความกังวลใจของคุณกับคุณหมอเฉพาะทางผ่านไลน์ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย!
สาเหตุการเกิดเนื้องอกในรังไข่ คืออะไร?
สาเหตุของการเกิดเนื้องอกรังไข่นั้นยังไม่แน่ชัด แต่มีบางปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกในรังไข่ คือ
- โรคอ้วน ซึ่งส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่เป็นปกติ
- ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรก เมื่ออายุน้อยกว่า 11 ปี
- กรรมพันธุ์ บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นเนื้องอกรังไข่ หรือเป็นมะเร็งทางนรีเวช
- การกินยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง
- การสูบบุหรี่
อาการของโรคเนื้องอกในรังไข่ เป็นอย่างไร?
โรคเนื้องอกในรังไข่ ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่สามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ ดังต่อไปนี้
- การคลำพบก้อนที่ท้องน้อย
- รู้สึกปวดที่ท้องน้อยได้บ้าง
- บางรายอาจรู้สึกว่าท้องโตขึ้น
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
- ปัสสาวะบ่อย ซึ่งเกิดจากก้อนเนื้องอก หรือถุงน้ำกดทับกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอก หรือถุงน้ำกดทับลำไส้ใหญ่
อาการที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกให้ทราบว่า ผู้ป่วยอาจจะมีภาวะเนื้องอกในรังไข่ ซึ่งควรตรวจคัดกรอง เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติต่อไป
แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการที่เฉียบพลัน รุนแรง ซึ่งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากก้อนเนื้องอกรังไข่ เช่น ถุงน้ำรังไข่แตก ถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ปวดท้องอย่างรุนแรง มีโลหิตไหลออกจากโพรงมดลูก หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นอาการฉุกเฉิน ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
อาการที่เป็นอยู่ใช่โรคเนื้องอกในรังไข่ไหม? อยากตรวจโรคที่เกี่ยวกับรังไข่เพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare หาแพ็กเกจราคาดี จาก รพ. ชั้นนำใกล้คุณได้ ที่นี่
การรักษาเนื้องอกในรังไข่ มีกี่วิธี?
สำหรับวิธีรักษาเนื้องอกรังไข่ จะขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอกที่พบ แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
- กรณีผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในรังไข่ขนาดเล็ก หรือเป็นถุงน้ำที่แพทย์ประเมินว่าไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่มักจะให้ติดตามอาการ ตรวจอัลตราซาวด์เป็นระยะ และอาจให้รับประทานยาควบคู่ไปด้วย
- กรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ โตขึ้นเรื่อยๆ และรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือเป็นมะเร็งรังไข่ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดรังไข่ ซึ่งมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่แบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และ การผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่โดยการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง
การผ่าตัดทั้ง 2 รูปแบบนั้น มีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา และแนะนำวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด
แต่ปัจจุบันการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบส่องกล้องทางหน้าท้อง ถือเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากแผลจะมีขนาดเล็ก เจ็บน้อยกว่า และระยะเวลาพักฟื้นสั้นกว่า ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดพังผืดในช่องท้อง และภาวะแทรกซ้อนด้วย
เนื้องอกในรังไข่ ป้องกันได้ไหม?
โรคเนื้องอกในรังไข่เป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้มีเกิดความผิดปกติที่รุนแรงได้ ดังนี้
- การอัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ ช่วยให้พบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับมดลูกและรังไข่ได้
- ตรวจภายใน คัดกรองความผิดปกติของโรคทางนรีเวช โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรทำเป็นประจำทุกปี สำหรับผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเริ่มตรวจหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 3 ปี ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศ แนะนำให้เริ่มตรวจภายในเมื่ออายุ 30 ปีเป็นต้นไป
สุขภาพของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ และไม่ควรมองข้ามกับอาการผิดปกติของร่างกาย เพราะอาการเหล่านั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคใดโรคหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายได้ ดังนั้นหากพบความผิดปกติใดๆ ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และรับการรักษาต่อไป
ถ้ายังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรคเนื้องอกในรังไข่รึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย