Default fallback image

ผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด กับ นพ. ชินะภัทร์ ด้วยบริการจาก HDcare

ปวดขา ปวดเมื่อยตึงน่อง ไม่ค่อยมีแรงเดิน อาการเล็กน้อยเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันได้ แล้วโรคนี้มีความร้ายแรงอย่างไร? ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด? อาการที่สังเกตได้เป็นอย่างไรบ้าง? มีวิธีรักษาอย่างไร?

เจาะลึกนิยาม และการรักษาโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน ทั้งวิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัดด้วยการใส่บอลลูนและดามขดลวด กับหมอเบส นพ. ชินะภัทร์ วุฒิวณิชย์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอเบสได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเบส” และ “หมอบอส” 2 คุณหมอฝาแฝดกับความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหลอดเลือด หัวใจ และทรวงอก]

สารบัญ

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน คืออะไร?

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน เกิดจากการตีบแคบลงของหลอดเลือด โดยมีสาเหตุมาจากตะกรันหรือไขมันในหลอดเลือดที่ไปเกาะสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดการตีบตัน และทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงปลายขาและเท้าของคนไข้ได้อย่างเพียงพอ

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน มีอาการอย่างไร?

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันมีระดับอาการที่แบ่งออกได้หลายระยะ โดยในระยะแรกเริ่ม หรือระยะที่หลอดเลือดยังไม่มีการตีบตันมากนัก คนไข้อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลย 

แต่หากหลอดเลือดมีการตีบตันมากขึ้น คนไข้มักเริ่มมีอาการปวดขา ปวดเมื่อย ตึงน่อง โดยเฉพาะเวลาเดิน หรือในบางรายก็อาจไม่มีแรงเดินต่อได้ ต้องหยุดพักเพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงขาเพียงพอก่อนเท่านั้น

และเมื่อระยะของโรคเริ่มรุนแรงขึ้นอีก ที่ขาหรือเท้าคนไข้ก็อาจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจนทำผิวหนังบริเวณดังกล่าวเน่าตาย ทำให้คนไข้มีอาการนิ้วเป็นสีดำคล้ำ หรือเป็นแผลซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ รวมถึงขนาดแผลยังลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายในวงกว้างขึ้น ร่วมกับมีอาการปวดปลายเท้าตลอดเวลา ไม่ทุเลาลง

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน ใครเสี่ยงบ้าง?

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันเป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงมาจากความเสื่อมของร่างกาย ร่วมกับปัจจัยด้านโรคประจำตัว หรือความผิดปกติของสุขภาพที่ทำให้เกิดตะกรันไปเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน จึงได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • คนไข้โรคความดันโลหิตสูง
  • คนไข้โรคเบาหวาน
  • คนไข้ที่มีภาวะไตวาย ต้องฟอกเลือดเป็นประจำ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ และเกิดลิ่มเลือดไปเกาะที่ขอบผนังหลอดเลือดได้ง่าย

จากกลุ่มผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน โดยเฉพาะคนไข้กลุ่มโรคเบาหวาน แพทย์จึงจะมีการนัดตรวจเท้าคนไข้เป็นประจำทุกปี เพื่อวัดค่าความดันที่ปลายเท้าซึ่งอาจต่ำลงกว่าปกติ โดยหากตรวจพบเลขความดันเลือดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ แพทย์ก็จะส่งตัวคนไข้มารับคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือดอีกครั้ง เพื่อรับการตรวจประเมินอย่างละเอียดขึ้นต่อไป

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน ตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร?

แพทย์จะเริ่มต้นการตรวจวินิจฉัยคนไข้ด้วยการตรวจชีพจรปลายเท้าก่อน โดยจะใช้มือตรวจคลำตามตำแหน่งต่าง ๆ ของเท้าคนไข้เพื่อวัดความแรงในการเต้นของชีพจร 

หากแพทย์คลำพบตำแหน่งที่ชีพจรเต้นเบา หรือตรวจชีพจรได้ไม่ชัด ก็จะตรวจเพิ่มเติมด้วยการใช้อุปกรณ์ฟังสัญญาณหลอดเลือด ร่วมกับตรวจด้วยเครื่องวัดความดันซึ่งสามารถแปลค่าความดันเลือดที่ไหลมาถึงปลายเท้าได้เป็นตัวเลขอย่างชัดเจน

หลังจากนั้นหากแพทย์ยังต้องการข้อมูลในการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ก็อาจส่งตัวคนไข้ไปรับการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือดแบบฉีดสี หรือตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดส่วนปลายต่อไป เพื่อดูตำแหน่งการตีบตันของหลอดเลือดได้อย่างชัดเจนขึ้น 

โรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตัน หากไม่รีบรักษาหรือดูแลอย่างถูกวิธี จะเกิดผลเสียอย่างไร? ทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่?

หากคนไข้ตรวจพบโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็สามารถรักษาโรคนี้ให้หายได้ โดยไม่สูญเสียอวัยวะ แต่หากปล่อยโรคทิ้งไว้นาน ๆ ก็มีโอกาสที่นิ้วเท้าหรือผิวหนังที่เท้าจะขาดเลือดจนเน่าและกลายเป็นสีดำ รวมถึงอาจติดเชื้อซ้ำซ้อนจนต้องตัดนิ้วเท้าหรือตัดเท้าทิ้ง 

หรือในคนไข้บางรายที่การติดเชื้อลุกลามรุนแรงมาก ก็อาจต้องตัดทั้งเท้าและขาทิ้งทั้งหมด หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากการติดเชื้อลุกลามรุนแรงมาก

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ มีอะไรบ้าง?

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบแบ่งออกได้หลัก ๆ 2 วิธี ได้แก่

1. การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด

แพทย์จะเริ่มต้นวิธีรักษาด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น เช่น

  • คุมระดับความดันโลหิต ไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด หรืออาการของโรคเบาหวานให้อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง 
  • กินยาประจำตัวอย่างต่อเนื่อง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • งดสูบบุหรี่ และเลิกบุหรี่อย่างถาวร

นอกจากนี้แพทย์จะมีการจ่ายยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อรักษาอาการของโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบให้ทุเลาลงด้วย อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดแล้วอาการคนไข้ยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะแนะนำให้คนไข้รักษาด้วยวิธีผ่าตัดต่อไป

2. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดทำบายพาส เป็นการผ่าตัดดั้งเดิมที่มีมานานแล้ว โดยแพทย์จะนำหลอดเลือดดำบริเวณอื่นของร่างกายคนไข้มาสร้างเป็นทางเบี่ยงข้ามหลอดเลือดส่วนที่ตีบตันแทน จัดเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องลงแผลผ่าตัดค่อนข้างยาว และใช้เวลาผ่าตัดค่อนข้างนาน
  • การผ่าตัด PTA (Percutaneous Transluminal Angioplasty) หรือ “การผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด” เป็นการผ่าตัดเพื่อนำบอลลูนเข้าไปถ่างขยายตำแหน่งของหลอดเลือดส่วนที่ตีบตัน ร่วมกับใส่ขดลวดค้ำยันภายในหลอดเลือด จัดเป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีแผลผ่าตัดเป็นรูขนาดเล็กเพียงไม่เกิน 1 เซนติเมตร ทำให้คนไข้เจ็บตัวน้อยกว่า และฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น 

ใครเหมาะกับการผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด

การผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด เหมาะกับคนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุ หรือมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ทำให้มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ช้า หรือมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง เช่น คนไข้ที่เคยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 

ส่วนกลุ่มคนไข้ที่ไม่เหมาะต่อการผ่าตัดเทคนิคนี้จะเป็นกลุ่มคนไข้ที่หลอดเลือดมีการตีบตันเป็นทางยาวมาก ทำให้มีโอกาสล้มเหลวในการผ่าตัดได้สูง ในกรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนไปผ่าตัดด้วยการทำบายพาสแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการวางแผนการผ่าตัดจากแพทย์อีกครั้ง

จุดเด่นของการผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด

  • เป็นการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบเสมอไป แต่สามารถใช้การฉีดยาชา และการให้ยานอนหลับเพื่อให้คนไข้รู้สึกกึ่งหลับกึ่งตื่นระหว่างผ่าตัดได้
  • แผลผ่าตัดมีขนาดเพียงไม่เกิน 1 เซนติเมตร ทำให้มีโอกาสเจ็บแผลได้น้อยและเสียเลือดระหว่างผ่าตัดได้น้อยกว่า
  • ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น ยิ่งหากคนไข้มีแผลที่ปลายเท้าในขนาดไม่ใหญ่อยู่แล้ว ก็สามารถลุกเดินหลังผ่าตัด 1 วันได้เลย

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษาด้วยการผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด

อาการติดเชื้อ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด เนื่องด้วยรอยโรคที่คนไข้มักจะมีแผลและการติดเชื้อเกิดขึ้นที่เท้าอยู่แล้ว เพียงแต่ด้วยเลือดที่ไหลไปเลี้ยงเท้าไม่พอ จึงทำให้ยังไม่มีอาการแสดงจากการติดเชื้อใด ๆ 

จนกระทั่งแพทย์ผ่าตัดขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดจนทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเท้าเพิ่มขึ้น แผลและการติดเชื้อที่เคยสงบจึงพัฒนากลายเป็นการอักเสบ และติดเชื้อที่ลุกลามในที่สุด ซึ่งหลังผ่าตัด แพทย์จะมีการติดตามดูโอกาสเกิดผลข้างเคียงนี้อย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาล และจะมีการให้ยาฆ่าเชื้อหลังผ่าตัดเสร็จสิ้นเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย

หลังรักษาด้วยการผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด มีโอกาสเป็นซ้ำไหม?

มีโอกาส เนื่องจากการเกิดโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และสามารถทำให้เกิดตะกรันหรือไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนตีบตันได้อีก ดังนั้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป คนไข้ที่เคยผ่าตัดทำบอลลูนไปแล้วก็สามารถเป็นโรคนี้ซ้ำได้อีก ทำให้ยังต้องกลับมาตรวจติดตามอาการของโรคต่อเป็นระยะ ๆ 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด

  • คนไข้ต้องกินยาประจำตัวที่เคยกินอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม เช่น ยาคุมความดันโลหิต ยารักษาระดับไขมันในเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด
  • ก่อนผ่าตัด คนไข้ต้องดูแลทำความสะอาดและฆ่าเชื้อผิวที่ขาหนีบให้สะอาดเสียก่อน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต้องแทงสวนหลอดเลือดระหว่างผ่าตัด
  • ในกรณีที่ใช้การวางยาสลบก่อนผ่าตัด คนไข้ต้องงดน้ำและงดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

เปิดแผลจุดไหน ขนาดของแผลเท่าไร?

ตำแหน่งที่แพทย์แทงสวนหลอดเลือดจะอยู่ที่บริเวณขาหนีบ โดยหลังจากสวนหลอดเลือดแล้ว แพทย์ก็จะใส่อุปกรณ์บอลลูนเพื่อถ่างขยายหลอดเลือดผ่านรูแผลที่สร้างไว้ที่ขาหนีบ 

ระหว่างผ่าตัด แพทย์จะเห็นภาพด้านในแผลได้อย่างไร?

แพทย์จะผ่าตัดขยายหลอดเลือดที่ตีบตันในห้องผ่าตัดที่มีอุปกรณ์ฉายรังสีซึ่งสามารถดูหลอดเลือดที่ตีบตันหลังจากการฉีดสีได้แบบ Real-time ทำให้สามารถนำบอลลูนเข้าไปถ่างขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยันได้อย่างแม่นยำในทุกตำแหน่งที่มีการตีบตัน

ระหว่างผ่าตัด แพทย์ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่?

ในระหว่างผ่าตัด โดยส่วนมากคนไข้หลายรายจะมีการตีบตันของหลอดเลือดในหลายระดับพร้อมกัน เช่น ตีบตันที่หลอดเลือดระดับต้นขา ระดับเหนือเข่า ระดับใต้เข่า 

แพทย์จะต้องผ่าตัดแก้ไขทุกระดับของหลอดเลือดที่มีการตีบตันให้ได้ครบทุกตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้เลือดไหลไปเลี้ยงปลายเท้าได้อย่างเพียงพอมากที่สุด ไม่ใช่แก้ไขเพียงบางระดับเท่านั้น มิฉะนั้นถึงแม้การผ่าตัดจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เลือดก็อาจยังไหลไปเลี้ยงเท้าคนไข้ไม่เพียงพออยู่

หลังผ่าตัด พักฟื้นกี่วันจึงจะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ช่วงเวลาที่คนไข้จะสามารถลุกเดินและกลับบ้านได้นั้นขึ้นอยู่กับสภาพแผลที่เท้าของคนไข้แต่ละราย หากมีแผลค่อนข้างเล็ก โดยส่วนมากนอนโรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้ และแพทย์จะนัดติดตามดูแผลที่แผนกคนไข้นอกแทน 

แต่กรณีที่คนไข้มีแผลใหญ่ มีเนื้อตายที่เท้า มีการติดเชื้อรุนแรง แพทย์ก็อาจให้นอนโรงพยาบาล 1-2 สัปดาห์เพื่อติดตามดูอาการสมานตัวของแผลที่เท้าอย่างใกล้ชิดก่อน

อาการข้างเคียงแบบไหนที่ต้องรีบกลับมาพบแพทย์?

อาการข้างเคียงหลังผ่าตัดที่คนไข้จะต้องรีบกลับมาพบแพทย์แบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • อาการข้างเคียงที่เกิดบริเวณรอยแทงเข้าหลอดเลือดตรงขาหนีบ หากหลังผ่าตัดพบว่าที่ขาหนีบมีอาการบวมโต มีก้อนปูดนูน ห้อเลือดอยู่ภายใน ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยทันที
  • อาการติดเชื้อที่แผลเดิมบริเวณเท้า หากหลังผ่าตัดไปแล้วแผลซึ่งมีตั้งแต่ก่อนผ่าตัดเกิดบวมแดง อักเสบ หรือมีสัญญาณคล้ายกับการติดเชื้อที่ลุกลามรุนแรง ให้กลับมาพบแพทย์ เนื่องจากอาจต้องฉีดยาฆ่าเชื้อเพิ่มเพื่อให้เชื้อสงบลง

หลังผ่าตัดแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำในจุดเดิมไหม?

มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะตำแหน่งใต้เข่าซึ่งมีโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบตันซ้ำได้มากกว่าตำแหน่งอื่น ดังนั้นคนไข้หลายรายที่แม้จะเคยผ่าตัดถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคเดิมซ้ำได้อีกในตำแหน่งเดิม 

คนไข้บางรายมีโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำได้ภายใน 1 ปีหลังการผ่าตัดขยายหลอดเลือด โดยอาจเป็นที่ตำแหน่งเดิมซ้ำอีก หรือเป็นซ้ำในหลายตำแหน่งพร้อมกันก็ได้ โดยอาจเกิดจากการผ่าตัดครั้งแรกแพทย์ไม่ได้แก้ไขการตีบตันของหลอดเลือดบางจุด ทำให้อาการกลับมาในภายหลัง แต่กรณีนี้พบได้น้อยมาก เนื่องจากปกติแล้วในการผ่าตัดครั้งเดียวแพทย์จะทำการแก้ไขการตีบตันของหลอดเลือดในทุกตำแหน่งทั้งหมด

ถ้าหลอดเลือดตีบในจุดอื่น สามารถใช้การผ่าตัดแบบนี้รักษาได้ไหม?

สามารถผ่าตัดใช้บอลลูนขยายและดามขดลวดได้เช่นกัน

การดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ

ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง จะต้องควบคุมระดับอาการของโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบตันได้ เช่น ออกกำลังกาย กินของหวานมันให้น้อยลง คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

สำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ก็ยังต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ควบคุมน้ำหนัก รวมถึงระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดโอกาสเป็นโรคที่เป็นต้นตอทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบในภายหลัง นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงไม่สูบบุหรี่ หรือหากสูบ ก็ให้รีบเลิกบุหรี่อย่างถาวรโดยเร็ว

ผ่าตัดขยายหลอดเลือดแดงตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด กับ นพ. ชินะภัทร์ ด้วยบริการจาก HDcare

มีอาการปวดขา ตึงน่อง ไม่มีแรงเดิน หรือสังเกตเห็นผิวเท้า นิ้วเท้าเปลี่ยนสี อย่ารีรอที่จะรีบเดินทางไปพบแพทย์โดยทันที หรือหากยังไม่แน่ใจ อยากปรึกษาแพทย์เบื้องต้นก่อน ทีมงาน HDcare สามารถช่วยประสานงานนัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทางด้านศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือดให้คุณได้ ทั้งยังเลือกได้ว่าจะคุยออนไลน์หรือปรึกษาที่โรงพยาบาล

และหากจำเป็นต้องรับการผ่าตัดขยายหลอดเลือด HDcare ยังมีแพ็กเกจผ่าตัดพร้อมพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวที่จะช่วยประสานงานกับโรงพยาบาลและอยู่เป็นเพื่อนคุณตลอดระยะเวลาที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top