เจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดต้อกระจก คืออะไร? เหมาะกับใคร? รักษาอย่างไรได้บ้าง? และการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ประเภท ตอบคำถามโดยหมอปุ้ม พญ. ปนียา ตปนียางกู จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหิน และการผ่าตัดต้อกระจก หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอปุ้มได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอปุ้ม” คุณหมอตากับประสบการณ์รักษาต้อหิน ต้อกระจก โรคตาที่พบบ่อยในคนยุคใหม่]
สารบัญ
- โรคต้อกระจกคืออะไร?
- โรคต้อกระจกเกิดจากอะไร?
- ปัจจุบันรักษาโรคต้อกระจกอย่างไร?
- การผ่าตัดต้อกระจกแบ่งออกได้กี่วิธี? ข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละวิธี
- ในปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดวิธีใด?
- ใครเหมาะต่อการผ่าตัดต้อกระจก?
- ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลเล็ก
- โรคต้อกระจกสามารถรักษาได้ทุกชนิดหรือไม่?
- สิ่งสำคัญที่คนไข้ควรรู้ในการผ่าตัดต้อกระจก
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก
- เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ประเภท?
- 1. เลนส์ชนิดแข็ง
- 2. เลนส์ชนิดพับได้
- การเลือกเลนส์แก้วตาเทียมอย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง?
- อายุการใช้งานเลนส์แก้วตาเทียม สามารถใช้ได้ถาวรหรือไม่?
- การดูแลตนเองหลังผ่าตัดต้อกระจก
- ผ่าตัดต้อกระจก เมื่อไหร่เห็นชัด?
- ผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว ยังต้องใส่แว่นอยู่หรือไม่?
- ผ่าตัดต้อกระจกแล้ว จะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่?
- การมองเห็นจากเลนส์แก้วตาเทียมมีความคมชัดเท่าเลนส์แก้วตาธรรมชาติหรือไม่?
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจก
- หลังผ่าตัดต้อกระจก สามารถกลับมาผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมใหม่ได้หรือไม่?
- ผ่าตัดต้อกระจก กับ พญ. ปนียา ด้วยบริการจาก HDcare
โรคต้อกระจกคืออะไร?
โรคต้อกระจก คือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมตามธรรมชาติของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีความขุ่นเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนบดบังการมองเห็นของคนไข้ ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นแย่ลง ในคนไข้บางรายที่เป็นโรคต้อกระจกในระดับที่เลนส์ตาเป็นสีขาวขุ่นทั้งหมด อาจมีระดับการมองเห็นเพียงมือที่โบกอยู่ตรงหน้าเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โรคต้อกระจกก็สามารถผ่าตัดรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่คนไข้ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนหรือโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย
โรคต้อกระจกเกิดจากอะไร?
80-90% ของคนไข้โรคต้อกระจกมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามอายุ ดังนั้นโรคนี้จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดโรคได้อีก ได้แก่
- จากอุบัติเหตุที่ดวงตา
- จากภาวะหรือโรคกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ภาวะลูกตาอักเสบ โรคเบาหวาน
- การเป็นโรคต้อกระจกแต่กำเนิด แต่มักพบได้เป็นส่วนน้อย
ปัจจุบันรักษาโรคต้อกระจกอย่างไร?
ปัจจุบันวิธีรักษาหลักของโรคต้อกระจก และได้รับการยอมรับทางการแพทย์ คือ วิธีผ่าตัด ในคนไข้บางรายอาจมีการใช้ยาบรรเทาอาการได้ แต่ยังไม่จัดเป็นวิธีรักษาหลักที่ได้รับการยอมรับแต่อย่างใด
การผ่าตัดต้อกระจกแบ่งออกได้กี่วิธี? ข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละวิธี
การผ่าตัดต้อกระจกสามารถแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง จากนั้นแพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็งลงไปในถุงหุ้มเลนส์
- ข้อดี: สามารถผ่าตัดในคนไข้ที่ต้อกระจกสุกมาก ๆ และไม่สามารถใช้การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กในการรักษาได้ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด
- ข้อจำกัด: เป็นการผ่าตัดที่แผลใหญ่กว่า ต้องมีการเย็บแผลหลังการรักษา ทำให้ระยะเวลาฟื้นตัวหลังผ่าตัดค่อนข้างนาน และมีโอกาสที่คนไข้จะรู้สึกเจ็บแผลมากกว่า
- การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลเล็ก ร่วมกับใช้พลังงานเลเซอร์ในการเปิดแผล และใช้คลื่นอัลตราซาวด์สลายเลนส์ที่ขุ่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อดูดออกมา จากนั้นแพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับเข้าไปแทน
- ข้อดี: ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน รวมถึงเป็นการผ่าตัดที่ใช้เพียงการหยอดยาชาก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีฉีดยาชาแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กมาก ทำให้ไม่ต้องเย็บแผล เจ็บแผลน้อย และใช้เวลาฟื้นตัวเร็วกว่า
- ข้อจำกัด: ในคนไข้ที่ต้อกระจกสุกมาก ๆ อาจไม่เหมาะกับวิธีนี้
ในปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดวิธีใด?
ในปัจจุบันแพทย์จะนิยมใช้การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กร่วมกับใช้คลื่นอัลตราซาวด์มากกว่า เนื่องจากมีข้อได้เปรียบที่ดีกว่า ดังต่อไปนี้
- สะดวกต่อคนไข้ ให้ความรู้สึกหลังการผ่าตัดที่สบายมากกว่า
- ทำให้เจ็บแผลน้อย
- ใช้เวลารักษาไม่นาน
- ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก
- เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับในปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบ ซึ่งสามารถช่วยตอบสนองการมองเห็นที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไข้ได้หลากหลายมากขึ้น
ใครเหมาะต่อการผ่าตัดต้อกระจก?
- คนไข้ที่เลนส์แก้วตาเริ่มขุ่นจากโรคต้อกระจกในระยะกลางขึ้นไป
- คนไข้ที่เลนส์แก้วตาเริ่มขุ่นจากโรคต้อกระจกจนเริ่มกระทบต่อชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก เช่น เห็นภาพซ้อน เห็นภาพไม่คมชัด เห็นแสงแตกกระจาย
ในคนไข้ที่เพิ่งเป็นโรคต้อกระจกในระยะเริ่มต้น แพทย์มักจะยังไม่แนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดในทันที เนื่องจากตัวโรคมักจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลเล็ก
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลเล็กมักกินระยะเวลาไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- ก่อนวันผ่าตัด คนไข้จะต้องเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับค่าสายตาและวิถีชีวิตเสียก่อน จากนั้นแพทย์จะวัดค่าเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับตาคนไข้ เพื่อนำมาใช้ในการผ่าตัด
- คนไข้ล้างหน้าและหยอดยาขยายม่านตาให้เรียบร้อย
- เมื่อยาขยายม่านตาออกฤทธิ์เต็มที่ คนไข้จะขึ้นนอนบนเตียงผ่าตัด และแพทย์จะเริ่มทำความสะอาดดวงตาให้กับคนไข้
- แพทย์จะคลุมผ้าปิดใบหน้าคนไข้ เหลือไว้เพียงส่วนดวงตาข้างที่จะผ่าตัด
- แพทย์หยอดยาชาป้องกันอาการเจ็บให้คนไข้ แต่คนไข้ยังอาจรู้สึกตึง ๆ ที่ลูกตาได้บ้าง แต่ในคนไข้ที่เป็นคนไข้เด็ก คนไข้ที่กลัวความมืด หรือนอนบนเตียงผ่าตัดนาน ๆ ไม่ได้ ในกรณีนี้ก็อาจพิจารณาเป็นการดมยาสลบแทน
- แพทย์ใช้เครื่องมือถ่างตาคนไข้เพื่อเปิดพื้นที่ในการผ่าตัด จากนั้นผ่าเปิดแผลไม่เกิน 3 มิลลิเมตร
- แพทย์ใช้คลื่นอัลตราซาวด์สลายเนื้อต้อกระจกเป็นเศษเล็ก ๆ และดูดนำออกมา
- แพทย์ปล่อยเลนส์แก้วตาเทียมแบบพับเข้าไปด้านในถุงหุ้มเลนส์ จากนั้นตัวเลนส์จะกางตัวออกหลังจากเข้าไปในถุงหุ้มเลนส์แล้ว
- หากแผลผ่าตัดเรียบร้อยดี ก็ไม่จำเป็นต้องเย็บแผลแต่อย่างใด
โรคต้อกระจกสามารถรักษาได้ทุกชนิดหรือไม่?
สามารถรักษาได้ทุกชนิด ไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด ยกเว้นแต่คนไข้ที่เป็นโรคต้อกระจก และมีโรคหรือภาวะอื่นร่วมด้วยจนส่งผลต่อการมองเห็น ในกรณีนี้แพทย์จะไม่ได้แนะนำให้ผ่าตัดต้อกระจก เนื่องจากไม่ใช่วิธีช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นอย่างตรงจุด
สิ่งสำคัญที่คนไข้ควรรู้ในการผ่าตัดต้อกระจก
สิ่งที่คนไข้ควรรู้และเข้าใจก่อนตัดสินใจผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่
- นิยามของโรคต้อกระจก
- วิธีรักษาโรคต้อกระจกแต่ละวิธี
- ชนิดของเลนส์ที่ใช้รักษาโรคต้อกระจก เพื่อให้สามารถเลือกใช้ในการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก
- คนไข้แจ้งประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว รวมถึงยาประจำตัวทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เนื่องจากจำเป็นต้องงดยาบางประเภทก่อนรับการผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- คนไข้ต้องตรวจตากับแพทย์อย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจถึงความพร้อมของดวงตาในการผ่าตัด เช่น ความดันลูกตา ลักษณะของดวงตา
- เลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับสายตาและวิถีชีวิต โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการเลือกเลนส์แต่ละประเภท
- พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เนื่องจากคนไข้จำเป็นต้องปิดตาไว้ก่อนหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น
- ต้องระมัดระวังอย่าให้ติดเชื้อที่ดวงตา ไม่มีอาการไอหรือจาม เนื่องจากอาจส่งผลกระทบระหว่างการผ่าตัดได้
- อาบน้ำ สระผม ล้างหน้ามาก่อนผ่าตัด รวมถึงงดแต่งหน้า งดทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิว งดใส่ขนตาปลอม งดทาเล็บหรือติดเล็บปลอมมาในวันผ่าตัด
เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ประเภท?
เลนส์แก้วตาเทียมในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1. เลนส์ชนิดแข็ง
เป็นเลนส์แก้วตาเทียมที่พับไม่ได้ ปัจจุบันสามารถใช้ปรับค่าสายตาได้เพียงระยะเดียวเท่านั้น เป็นประเภทของเลนส์ที่จะใช้ในการผ่าตัดแบบเปิดแผลกว้าง เนื่องจากสามารถใส่ลงไปในถุงรองเลนส์ได้ง่าย หรือใช้ในกรณีที่คนไข้มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็ก เช่น ถุงรองเลนส์ฉีกขาด
2. เลนส์ชนิดพับได้
เป็นเลนส์ที่ใช้สำหรับการผ่าตัดแบบแผลเล็ก มีชนิดแยกย่อยเพื่อแก้ปัญหาการมองเห็นที่แตกต่างกันของคนไข้ออกได้อีกหลายแบบ โดยแบ่งออกได้หลัก ๆ 2 ชนิด ได้แก่
2.1 เลนส์ระยะเดียว (Monofocal IOL)
เป็นเลนส์แก้วตาเทียมแบบพับสำหรับแก้ปัญหาสายตาสั้น หรือปัญหาการมองไกลไม่ชัด แบ่งแยกย่อยออกได้อีก 2 ชนิดได้แก่
- เลนส์ระยะเดียว แบบแก้ปัญหาสายตาเอียง เป็นเลนส์ที่ช่วยแก้การมองเห็นในระยะไกลเพียงอย่างเดียว
- เลนส์ระยะเดียว แบบไม่แก้ปัญหาสายตาเอียง เป็นเลนส์ที่ช่วยแก้การมองเห็นในระยะไกล และช่วยแก้ปัญหาสายตาเอียงร่วมด้วย
ข้อดีของเลนส์ระยะเดียว
- เป็นเลนส์ที่ให้ความคมชัดในการมองเห็นมากที่สุด
- ไม่ค่อยมีผลข้างเคียงด้านแสงแตกกระจายในเวลากลางคืน
- ไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยเสริมด้านแสงสว่างในการมองเห็นมากนัก
- มีราคาถูก จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มคนไข้ที่ต้องผ่าตัดต้อกระจก
ข้อจำกัดของเลนส์ระยะเดียว
- ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการมองใกล้ได้ ดังนั้นคนไข้ที่มีปัญหาสายตายาวจึงยังจำเป็นต้องใช้แว่นอ่านหนังสือสำหรับการอ่าน หรือมองระยะใกล้อยู่
ใครเหมาะกับการใช้เลนส์ระยะเดียว
- กลุ่มคนไข้ที่ไม่ค่อยใช้สายตาอ่านหนังสือ หรือทำงานกับหน้าจอบ่อยนัก
- กลุ่มคนไข้ที่มีค่าสายตาสั้นเพียงอย่างเดียว
- กลุ่มคนไข้ที่มีภาวะสายตาสั้นและสายตายาว แต่ต้องการแก้ปัญหาสายตาสั้นเท่านั้น และพอใจที่จะยังใช้แว่นตาอ่านหนังสือในการมองระยะใกล้อยู่
- กลุ่มคนไข้ที่สายตาสั้นและสายตาเอียง ก็สามารถผ่าตัดโดยใช้เลนส์ระยะเดียวแบบแก้ปัญหาสายตาเอียงได้เช่นกัน แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงกว่าเลนส์ระยะเดียวที่ไม่ได้แก้ปัญหาสายตาเอียงไปด้วย
2.2 เลนส์หลายระยะ (Multifocal IOL)
เป็นเลนส์แก้วตาเทียมแบบพับสำหรับแก้ปัญหาทั้งสายตาสั้นและสายตายาว ทำให้คนไข้สามารถมองเห็นทั้งระยะใกล้ กลาง และไกลได้ชัดทั้งหมด สามารถแบ่งแยกย่อยออกได้ดังต่อไปนี้
2.2.1 เลนส์ 2 ระยะ
เป็นเลนส์ที่ช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดขึ้นได้ทั้งหมด 2 ระยะด้วยกัน เช่น ใกล้กับไกล ไกลกับกลาง คนไข้สามารถเลือกใส่เลนส์ 2 ระยะกับดวงตาทั้ง 2 ข้างแตกต่างกันได้ เพื่อให้การมองเห็นคมชัดทั้ง 3 ระยะ ทั้งใกล้ กลาง และไกล เช่น ตาข้างขวาใส่เลนส์มองใกล้และไกลชัด ส่วนข้างซ้ายใส่เลนส์มองไกลและกลางชัด
ข้อดีของเลนส์ 2 ระยะ: สามารถมองเห็นชัดได้ถึง 3 ระยะ ในกรณีที่คนไข้ผ่าตัดต้อกระจกที่ตาทั้ง 2 ข้าง หรืออาจจะใส่แว่นเสริมแค่ในบางเวลาเท่านั้น
ข้อจำกัดของเลนส์ 2 ระยะ: ไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด
ใครเหมาะกับการใช้เลนส์ 2 ระยะ:
- คนไข้ที่ต้องผ่าตัดต้อกระจก และเคยผ่าตัดแก้ไขกระจกตามาก่อน เช่น ทำเลสิก เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้มักจะมีปัญหาภาวะแสงแตกกระจายในเวลากลางคืนอยู่แล้ว ซึ่งเลนส์ 2 ระยะสามารถเป็นตัวช่วยไม่ให้แสงแตกกระจายเพิ่มกว่าเดิมได้
- คนไข้ที่ต้องผ่าตัดต้อกระจกที่ดวงตาทั้ง 2 ข้าง และต้องการมองชัดมากกว่า 1 ระยะ แต่ยังต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด
2.2.2 เลนส์ 3 ระยะ
เป็นเลนส์ที่แก้ไขการมองเห็นทั้งระยะใกล้ กลาง และไกล ทำให้คนไข้ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาในการมองเห็นแต่อย่างใด
ข้อดีของเลนส์ 3 ระยะ: ช่วยแก้ปัญหาการมองเห็นได้ทุกระยะ ทำให้คนไข้ไม่ต้องใช้แว่นสายตาในทุกระยะการมองเห็น ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายยิ่งขึ้นไปอีก
ข้อจำกัดของเลนส์ 3 ระยะ:
- ไม่คมชัดมากเท่ากับเลนส์ระยะเดียว ดังนั้นคนไข้ที่ต้องใช้สายตาทำงานฝีมือ หรือมองรายละเอียดในระยะใกล้ เช่น เย็บผ้า อ่านหนังสือตอนกลางคืน อาจยังต้องใช้แว่นสายตาเป็นตัวช่วยเสริมอยู่ รวมถึงต้องใช้แสงไฟในการมองเห็นเพิ่มด้วย
- อาจมองเห็นแสงแตกกระจายในเวลากลางคืนได้บ้าง
- มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยเลนส์ที่ค่าใช้จ่ายสูงที่สุดคือ เลนส์ 3 ระยะที่ช่วยแก้ไขสายตาเอียงร่วมด้วย
ใครเหมาะกับการใช้เลนส์ 3ระยะ:
- คนไข้ที่ต้องการให้การมองเห็นในทุกระยะชัดทั้งหมด
- คนไข้ที่มีงบประมาณในการผ่าตัด
ข้อดีของเลนส์หลายระยะ
- แก้ปัญหาค่าสายตาได้มากกว่า 1 ระยะ ทำให้ในคนไข้บางรายแทบไม่ต้องใส่แว่นเลย หรือต้องใส่ในบางโอกาสเท่านั้น
- คนไข้ที่มีปัญหาสายตาเอียงร่วมด้วย ก็ยังสามารถเลือกใช้เป็นเลนส์หลายระยะที่ช่วยแก้ปัญหาสายตาเอียงด้วยได้เช่นกัน ทำให้การมองเห็นสะดวกสบายยิ่งขึ้น
- ด้วยเทคโนโลยีการผลิตเลนส์ที่ทันสมัยขึ้น คนไข้จึงสามารถเลือกความคมชัดในการมองเห็น 2 ระยะขึ้นไปในเลนส์ชนิดนี้ตามแต่วิถีชีวิตของตนเองได้ เช่น เลนส์ที่มองเห็นไกลและกลางชัด เลนส์ที่มองเห็นใกล้และกลางชัด เลนส์ที่มองเห็นใกล้และไกลชัด นอกจากนี้ยังเลือกใส่ในดวงตา 2 ข้างไม่เหมือนกันได้
ข้อจำกัดของเลนส์หลายระยะ
- ความคมชัดจะไม่เท่ากับเลนส์ระยะเดียว คนไข้บางรายที่ต้องทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องมองเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ มาก เช่น เย็บผ้า ทำงานฝีมือ อ่านหนังสือ อาจยังต้องใช้แว่นสายตาเสริมการมองเห็นอยู่
- ทำให้เกิดภาวะแสงแตกกระจายในเวลากลางคืนได้ คนไข้จึงต้องระมัดระวังในการขับขี่พาหนะในเวลากลางคืน
- ไม่เหมาะกับคนไข้ที่เป็นโรคต้อหินร่วมด้วยอยู่แล้ว เนื่องจากตัวโรคนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การมองเห็นของคนไข้แคบลงเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเลนส์แก้วตาเทียมได้อย่างเต็มที่
- มีค่าใช้จ่ายที่สูง
ใครเหมาะกับเลนส์หลายระยะ
- คนไข้โรคต้อกระจกที่ต้องการแก้ไขทั้งปัญหาสายตาสั้นและสายตายาว
- คนไข้ที่ไม่สะดวกใส่แว่น หรือต้องการใส่แว่นให้น้อยที่สุด
- คนไข้ที่มีงบประมาณในการผ่าตัด เนื่องจากเป็นชนิดของเลนส์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเลนส์ระยะเดียว
การเลือกเลนส์แก้วตาเทียมอย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง?
- การใช้สายตาในแต่ละวันของคนไข้ เช่น การอ่านหนังสือ การอ่านเอกสาร การมองจอโปรเจ็กเตอร์หรือคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่คนไข้ต้องใช้สายตาอ่านข้อความหรืออยู่กับหน้าจอบ่อย ๆ การใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบหลายระยะมักจะสะดวกสบายมากกว่า
- งบประมาณค่าใช้จ่าย ยิ่งเลนส์แก้วตาเทียมสามารถแก้ไขค่าสายตาได้หลากหลายมากเท่าไร ราคาก็จะยิ่งมีราคาสูงมากขึ้น เช่น เลนส์ระยะเดียวและแก้สายตาเอียงได้ก็จะมีราคาสูงกว่าเลนส์ระยะเดียวและไม่ได้ช่วยแก้สายตาเอียงด้วย ส่วนเลนส์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดคือ เลนส์ 3 ระยะพร้อมช่วยแก้สายตาเอียง
อายุการใช้งานเลนส์แก้วตาเทียม สามารถใช้ได้ถาวรหรือไม่?
เลนส์แก้วตาเทียมมีอายุการใช้งานถาวรตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงจะให้ความสำคัญในการคัดเลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับชีวิตของคนไข้มากที่สุด
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดต้อกระจก
- หลังผ่าตัด คนไข้ไม่จำเป็นต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล
- แพทย์จะปิดตาคนไข้ไว้ 4-6 ชั่วโมง แต่ในบางรายอาจปิดไว้ข้ามคืน หากคนไข้สะดวก
- งดยกของหนักและงดก้มศีรษะนาน ๆ เป็นเวลา 5-7 วันหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดแรงดันที่แผล
- ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันแผลฉีกขาด
- งดให้แผลโดนน้ำเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ใส่ที่ครอบตาระหว่างนอนหลับ 1 เดือน และให้งดนอนตะแคงทับดวงตาข้างที่ผ่าตัด
- คนไข้ไม่จำเป็นต้องใส่แว่นกันฝุ่นละอองหรือละอองน้ำ แต่ให้ป้องกันอย่าให้ฝุ่นควัน สิ่งสกปรก หรือน้ำเข้าตาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
- หากต้องการล้างหน้า ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทนการล้างหน้าปกติ เพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตาจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- หากต้องการสระผม ให้ไปสระที่ร้าน หรือนอนสระอย่างระมัดระวังแทน
- สามารถใช้ดวงตาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติทุกอย่าง เพียงแต่อาจมีอาการตาล้าหรือตาแห้งได้บ้าง หากใช้สายตามากเกินไป
- แพทย์จะจ่ายยาหยอดฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบให้หลังผ่าตัด ให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
- แพทย์จะนัดหมายให้คนไข้กลับมาตรวจแผลเป็นระยะ ๆ โดยความถี่ในการนัดหมายจะอยู่ที่ 1 วันหลังผ่าตัด 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด 1 เดือนหลังผ่าตัด และ 3 เดือนหลังผ่าตัด
ผ่าตัดต้อกระจก เมื่อไหร่เห็นชัด?
หลังผ่าตัดต้อกระจก โดยส่วนมากในวันรุ่งขึ้น คนไข้จะเริ่มมีการมองเห็นที่ชัดเจน
ผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว ยังต้องใส่แว่นอยู่หรือไม่?
ขึ้นอยู่กับชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่คนไข้เลือกใช้ เช่น หากคนไข้มีสายตาเอียงและสายตาสั้น แต่เลือกเลนส์สำหรับการมองเห็นระยะไกลเท่านั้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาสายตาเอียงด้วย ในกรณีนี้ก็ยังต้องใส่แว่นแก้สายตาเอียงอยู่
หรือหากคนไข้เลือกเลนส์สำหรับการมองเห็นระยะไกล แต่มีปัญหาสายตายาวร่วมด้วย ก็จำเป็นต้องใช้แว่นตาสำหรับอ่านหนังสือ หรือสำหรับมองใกล้อยู่
ผ่าตัดต้อกระจกแล้ว จะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือไม่?
หลังผ่าตัด คนไข้จะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกซ้ำอีก โดยส่วนมากผลลัพธ์หลังการผ่าตัดจะอยู่ถาวรตลอดชีวิต และเลนส์แก้วตาเทียมจะไม่เสื่อมไปตามอายุของคนไข้ด้วย
ในคนไข้บางรายอาจพบปัญหาถุงรองเลนส์ขุ่นหลังผ่าตัดบ้าง แต่อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์ซึ่งใช้เวลาไม่นาน
การมองเห็นจากเลนส์แก้วตาเทียมมีความคมชัดเท่าเลนส์แก้วตาธรรมชาติหรือไม่?
มีความคมชัดใกล้เคียงกัน เพียงแต่ในช่วงแรก ๆ หลังการผ่าตัด คนไข้อาจรู้สึกว่า ภาพที่มองเห็นมีความสว่างมากหรือเป็นสีฟ้ากว่าปกติได้ เนื่องจากเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่เป็นต้อกระจกมักจะมีสีขุ่นหรือมีสีเหลืองจนคนไข้อาจคุ้นชิน
นอกจากนี้คนไข้ที่เลือกเลนส์แก้วตาเทียมแบบ 2 ระยะ ในช่วงแรกหลังผ่าตัดอาจพบภาพแสงแตกกระจายในช่วงกลางคืนบ้าง แต่หลังจากปรับตัวกับการมองเห็นได้ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตแต่อย่างใด
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจก
- ปวดตา
- รู้สึกตึงลูกตา
- ตาแห้ง
- อาการแสบตา
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้เป็นอาการข้างเคียงปกติที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้วหลังผ่าตัด คนไข้สามารถหยอดน้ำตาเทียมเพื่อเสริมความชุ่มชื้นและลดอาการเคืองตาหรือตาแห้งได้
หลังผ่าตัดต้อกระจก สามารถกลับมาผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมใหม่ได้หรือไม่?
แพทย์จะไม่แนะนำให้คนไข้กลับมาผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมซ้ำ เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดได้ ดังนั้นคนไข้จึงจำเป็นต้องพิจารณาชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมอย่างรอบคอบตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เนื่องจากเป็นเลนส์ที่จะใช้เสริมการมองเห็นไปตลอดชีวิต
ผ่าตัดต้อกระจก กับ พญ. ปนียา ด้วยบริการจาก HDcare
มีปัญหาโรคต้อกระจก อยากเรียกคืนความคมชัดของดวงตากลับคืนมา รวมถึงแก้ปัญหาค่าสายตาที่ทำให้การมองเห็นพร่าเบลอ ใช้ชีวิตไม่สะดวก บริการ HDcare ยินดีเป็นผู้ช่วยประสานงานให้คุณได้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกกับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หรือหากยังไม่แน่ใจว่าควรผ่าตัดอย่างไร ควรใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบไหน ยังรู้สึกกลัวหรือไม่มั่นใจ ก็สามารถทักหาแอดมิน HDcare เพื่อนัดปรึกษาคุณหมอผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่โรงพยาบาลก่อนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย