ท้องผูก ถ่ายไม่ออก อุจจาระเป็นก้อนแข็ง ถ่ายไม่ออกหลายวัน อย่าปล่อยทิ้งไว้ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคุณอาจกำลังเป็นโรคขี้เต็มท้อง! โรคนี้คืออะไร สาเหตุ อาการ อันตรายไหม แก้ยังไงได้บ้าง บทความนี้จะเล่าให้ฟัง
สารบัญ
โรคขี้เต็มท้อง คืออะไร?
ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Fecal Impaction) หรือที่นิยมเรียกกันอีกชื่อว่า โรคขี้เต็มท้อง คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระออกได้ จนเกิดเป็นก้อนอุจจาระที่แข็งและติดค้างอยู่ในลำไส้ และเมื่อมีอุจจาระใหม่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้ ทำให้เกิดปริมาณอุจจาระที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนร่างกายแสดงอาการผิดปกติตามมา
อาการของโรคขี้เต็มท้องเป็นยังไง?
โรคขี้เต็มท้องจะมีอาการคล้ายกับโรคท้องผูก แต่มักจะมีระดับอาการที่รุนแรงกว่า และจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อ่อนเพลียง่ายขึ้น
- เบื่ออาหาร
- ปากขม
- เรอเปรี้ยว
- ผายลมบ่อย
- ปวดหลังส่วนล่าง
- ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง
- ท้องอืด แน่นท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ
- หลังถ่ายอุจจาระแล้วจะรู้สึกว่า ยังอุจจาระไม่หมด
- อุจจาระมีเลือดปน
- เจ็บทวารหนัก หรือเป็นโรคริดสีดวงทวาร
ท้องผูกหนักมาก กลัวเสี่ยงเป็นโรคขี้เต็มท้อง อยากตรวจหรือรีบรักษาให้สบายใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
สาเหตุของโรคขี้เต็มท้องคืออะไร?
โรคขี้เต็มท้อง เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นหลัก ดังนี้
- ดื่มน้ำน้อย
- กินอาหารที่มีกากใยน้อย
- กินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาล หรือกินอาหารประเภทเนื้อแดง อาหารที่ย่อยยาก
- ขาดการออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนที่ขยับร่างกาย
- ชอบกลั้นอุจจาระบ่อยๆ
- มีประวัติเคยผ่าตัดจนทำให้เกิดพังผืดที่ลำไส้ หรือเกิดพื้นที่ซอกหลืบภายในลำไส้จนอุจจาระเข้าไปติดค้างได้
- โรคประจำตัวบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ เช่น ความผิดปกติที่อุ้งเชิงกราน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้แปรปรวน โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหรืออาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง โรคเกี่ยวกับระบบประสาท
- ผลข้างเคียงจากยาประจำตัวบางชนิด เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ โรคภูมิแพ้ โรคความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน
วิธีตรวจโรคขี้เต็มท้องมีวิธีไหนบ้าง
การตรวจวินิจฉัยโรคขี้เต็มท้องนั้นไม่ซับซ้อน โดยมีวิธีดังนี้
- การตรวจร่างกายกับแพทย์ โดยแพทย์จะใช้วิธีเอามือกดบริเวณท้อง เพื่อหาตำแหน่งของก้อนอุจจาระที่สะสมหรือบริเวณที่ท้องดูแข็งกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นตำแหน่งที่อุจจาระสะสมอยู่รวมกัน
- การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam) โดยแพทย์จะใส่ถุงมือและทาเจลหล่อลื่นที่นิ้ว จากนั้นจะสอดนิ้วเข้าทางทวารหนัก เพื่อคลำหาสิ่งผิดปกติภายใน
- การตรวจทางรังสีวิทยา เพื่อให้มองเห็นภาพภายในลำไส้อย่างชัดเจนขึ้น เช่น การเอกซเรย์ช่องท้อง การอัลตราซาวด์ช่องท้อง
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ที่จะสอดกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อตรวจหาจุดที่ก้อนอุจจาระสะสม รวมทั้งรอยโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตราย
วิธีรักษาโรคขี้เต็มท้อง
แนวทางการรักษาโรคขี้เต็มท้องจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายอาจใช้วิธีรักษาเพียงวิธีเดียวก็พอ หรือในบางรายก็อาจต้องใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ โดยวิธีรักษาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้
- การสวนทวาร หรือเหน็บยา เพื่อให้อุจจาระนิ่มจนขับถ่ายอุจจาระออกได้อีกครั้ง
- การใช้ยาระบาย แต่ต้องเป็นยาระบายที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น การซื้อยาระบายมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร อาจทำให้เกิดอันตรายต่อลำไส้ได้
- การสอดนิ้วเข้าไปนำอุจจาระออกมา โดยแพทย์จะกดท้องผู้ป่วย และใช้นิ้วล้วงเข้าทางทวารหนักเพื่อนำอุจจาระที่คั่งอยู่ออกมา
- การใช้สารน้ำกลั่น โดยแพทย์จะสอดท่อเข้าทางทวารหนัก และปล่อยน้ำกลั่นทางการแพทย์เข้าไป ร่วมกับนวดท้อง เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ขับถ่ายของอุจจาระออกมา
- การผ่าตัดลำไส้และทวารหนัก เพื่อล้างนำอุจจาระที่ค้างอยู่ออกมา แต่วิธีนี้จะใช้น้อยมาก มักใช้ในกรณีที่อาการรุนแรงมากๆ ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ หรือใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
โรคขี้เต็มท้อง อาจไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพได้เช่นกัน และยังทำให้เกิดอาการไม่สบายตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย
ดังนั้นหากคุณเป็นคนนึงที่มีปัญหาในระบบขับถ่าย อย่าละเลย ปล่อยอาการนี้เอาไว้ เพราะอาจพัฒนาไปเป็นโรคขี้เต็มท้องได้ แนะนำให้เริ่มปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ดื่มน้ำและอาหารที่มีกากใยสูง หากไม่ดีขึ้น ก็แนะนำให้รบมาพบแพทย์
ท้องผูกนานขนาดนี้ จะเสี่ยงเป็นโรคขี้เต็มท้องหรือยัง ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางลำไส้ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย