คู่รักหลายคู่วางแผนอยากมีลูกหลังจากแต่งงาน แต่ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ หรือภาระหน้าที่การงาน ทำให้ยังไม่สามารถมีลูกได้ทันที หลายคนกังวลว่า หากรอจนอายุมากขึ้น ยิ่งจะทำให้มีลูกยาก และมีความเสี่ยงที่ทารกจะผิดปกติ แต่ปัจจุบันเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการแช่แข็งไข่หรือฝากไข่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยให้คู่รักสามารถมีลูกในวันที่พร้อมได้
สารบัญ
การฝากไข่ แช่แข็งไข่ คืออะไร?
การฝากไข่ (Eggs Freezing หรือ Oocyte Cryopreservation) หรือการแช่แข็งไข่ เป็นการเก็บรักษาคุณภาพของไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิง เพื่อนำไปใช้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต
การฝากไข่หรือแช่แข็งไข่นั้น เป็นการนำเอาไข่ที่สภาพดีและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ออกมาจากรังไข่ แล้วนำไปแช่แข็งในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ -196 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้เซลล์หยุดการทำงานอย่างรวดเร็ว โดยยังคงสภาพและประสิทธิภาพของเซลล์ไว้ในสภาพเดิมได้
การฝากไข่เป็นการเพิ่มโอกาสตั้งท้องและลดโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรม เพราะคุณภาพของไข่ก็จะถูกหยุดไว้ตอนอายุที่ไข่ถูกเก็บ โดยยิ่งอายุมาก ปริมาณไข่ก็น้อยลง คุณภาพของไข่ก็จะแย่ลง ทำให้มีลูกได้ยากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า คนที่มีลูกหลังอายุ 35 ปี โอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรมจะสูงขึ้นมาก และยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสถิติเฉลี่ยคือ
- อายุ 25 ปี โอกาสเสี่ยง 1 ใน 1,200
- อายุ 35 ปี โอกาสเสี่ยง 1 ใน 350
- อายุ 45 ปี โอกาสเสี่ยง 1 ใน 30
รีบปรึกษาคุณหมอ เพิ่มโอกาสท้อง-ลดโอกาสเสี่ยงดาวน์ซินโดรม วันนี้ ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย!
ทั้งนี้เมื่อฝากไข่เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อถึงเวลาที่พร้อมจะมีบุตร ก็นำไข่มาผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย ด้วยวิธี IVF หรือ ICSI เมื่อเกิดเป็นตัวอ่อนแล้ว ก็นำกลับไปฝังตัวที่ผนังมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตต่อในครรภ์
IVF คืออะไร เหมาะกับคู่ของเราหรือเปล่า? อ่านบทความเจาะลึกทุกข้อที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการทำ IVF
ICSI คืออะไร เหมาะกับคู่ของเราหรือเปล่า? อ่านบทความเจาะลึกทุกข้อที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการทำ ICSI
การฝากไข่ แช่แข็งไข่ เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ แต่วางแผนจะมีลูกในอนาคต โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี
- ผู้ที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนและคุณภาพของเซลล์ไข่
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดรังไข่ เช่น มีเนื้องอกรังไข่ เป็นช็อกโกแลตซีสต์
- ผู้ที่มีปัญหาพันธุกรรมเกี่ยวกับรังไข่ ทำให้รังไข่เสื่อมเร็ว เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะบาง (Fragile X Syndrome)
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็ว เนื่องจากอาจมีแนวโน้มมีภาวะรังไข่เสื่อมเร็วได้เช่นกัน
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
อยากมีลูก แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อม ฝากไข่คือคำตอบ ช่วยคงสภาพไข่ ให้สมบูรณ์ที่สุด รอวันที่คุณพร้อมที่สุดสำหรับการตั้งครรภ์ ค้นหาแพ็กเกจฝากไข่ หรือปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง คลิกเลย
ขั้นตอนการฝากไข่ แช่แข็งไข่
ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นไข่
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเดียวกับการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว โดยในช่วง 2-3 วันแรกของรอบเดือน แพทย์จะนัดฝ่ายหญิงมาตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อนับจำนวนไข่ที่ร่างกายผลิตออกมาในรอบประจำเดือนนั้น
จากนั้นแพทย์จะให้ยากระตุ้นไข่ ซึ่งเป็นยาฉีด เพื่อให้ไข่สุกพร้อมกันหลายใบ และพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ โดยต้องฉีดยากระตุ้นไข่ต่อเนื่องเป็นเวลา 10-12 วัน
หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่เป็นระยะเวลาประมาณ 5 วันแล้ว จะต้องฉีดยาป้องกันไข่ตกด้วย เพื่อไม่ให้ไข่ตกก่อนถึงวันเก็บไข่
ในช่วงระหว่างการฉีดยากระตุ้นไข่ แพทย์จะนัดมาตรวจระดับฮอร์โมน และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ประมาณ 3 ครั้ง และกำหนดวันที่จะเก็บไข่ออกมา โดยพิจารณาจากขนาดไข่เป็นหลัก
เมื่อไข่โตจนมีขนาดประมาณ 18-20 มิลลิเมตร มากกว่า 3 ใบ แพทย์จะนัดเก็บไข่ โดยให้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก และนัดเก็บไข่หลังจากฉีดยาให้ตกไข่แล้ว 34 – 36 ชั่วโมงถัดมา
ขั้นตอนที่ 2 เก็บไข่
ขั้นตอนนี้จะทำในห้องผ่าตัด โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึก หรือยาสลบ เพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกเจ็บ และรู้สึกผ่อนคลายในขณะเก็บไข่
จากนั้นแพทย์จะเก็บไข่ทางช่องคลอด โดยสอดเข็มเล่มบางๆ ผ่านช่องคลอดเข้าไปยังรังไข่ เพื่อดูดไข่สุกออกมาจากถุงรังไข่ โดยใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยหาไข่ ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
หลังจากเก็บไข่แล้ว ผู้รับบริการจะต้องนอนสังเกตอาการต่อที่ห้องพักฟื้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง อาจมีอาการปวดท้องน้อยได้ ซึ่งอาการจะหายไปเองประมาณ 1-2 วัน
ขั้นตอนที่ 3 แช่แข็งไข่
เซลล์ไข่จะถูกนำไปตรวจดูความสมบูรณ์ในห้องปฏิบัติการ ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส และรอจนกว่าผู้รับบริการจะพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ จึงจะนำไข่ออกมาปฏิสนธิกับอสุจิของฝ่ายชาย โดยแพทย์มักแนะนำให้นำไข่ที่แช่แข็งไว้ออกมาใช้ภายใน 5-10 ปี หรือก่อนอายุ 40-45 ปี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
วิธีการปฏิบัติตัวหลังฝากไข่ แช่แข็งไข่
- ไม่ควรขับรถกลับบ้านเองตามลำพัง เนื่องจากอาจมีอาการอ่อนเพลียจากยาสลบ
- หากมีไข้สูง มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีเลือดออกจากทางช่องคลอด หรือปัสสาวะลำบาก ควรรีบเข้าไปพบแพทย์ทันที
- ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม และงดการมีเพศสัมพันธ์ ในช่วง 1 สัปดาห์แรก
ข้อดีของการฝากไข่ แช่แข็งไข่
- สามารถรักษาเซลล์ไข่ไว้ใช้ในอนาคต โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถฝากได้นานถึง 10 ปี
- สามารถตรวจเช็กโครโมโซมของตัวอ่อนได้ ส่งผลให้มีบุตรที่แข็งแรง ไม่มีโรคผิดปกติทางพันธุกรรม
- ในขั้นตอนการฝากไข่ ไม่จำเป็นต้องแต่งงานและจดทะเบียนสมรสก็สามารถทำได้ (แต่หากต้องการนำไข่ไปใช้เพื่อการตั้งครรภ์ จำเป็นต้องใช้ทะเบียนสมรส)
ข้อจำกัดของการฝากไข่ แช่แข็งไข่
- อาจเกิดผลข้างเคียงจากขั้นตอนการเก็บไข่ได้ในบางราย
- เนื่องจากต้องฉีดยากระตุ้นไข่และเก็บไข่ทางช่องคลอด จึงอาจทำให้ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์รู้สึกกังวล
การฝากไข่ แช่แข็งไข่ ราคาเท่าไหร่?
ค่าใช้จ่ายในการฝากไข่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 100,000-150,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีค่าฝากไข่รายปี ประมาณ 1,500-5,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและจำนวนไข่ที่ต้องการเก็บ
ยังลังเลใช่ไหม เราควรฝากไข่หรือเปล่า? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจฝากไข่ แช่แข็งไข่ จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย