โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ โรคที่หลอดเลือดในสมองเกิดการตีบแคบลงหรือแตกออก ทำให้หลอดเลือดไม่สามารถนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ตามปกติ เมื่อสมองขาดเลือดเป็นเวลานาน เนื้อสมองส่วนนั้นก็จะตายลง ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายส่วนที่สมองนั้นควบคุมอยู่
โรคหลอดเลือดสมองมักเกิดอย่างเฉียบพลัน เมื่อมีอาการขึ้นแล้ว ถ้ารับการรักษาไม่ทัน มักสร้างความเสียหายต่อร่างกายถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต หรือเสียชีวิต
การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ บทความนี้รวบรวมแนวทางการรับประทานอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเอาไว้แล้ว
สารบัญ
อาหารที่ควรรับประทาน เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
กลุ่มอาหารที่รับประทานแล้วช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว มีดังนี้
ผักใบเขียว
ผักใบเขียว เช่น คะน้า ปวยเล้ง ผักบุ้ง บร็อกโคลี ฯลฯ ผักเหล่านี้มีไนเตรต ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนเป็นไนตริกออกไซด์ซึ่งช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี และช่วยควบคุมความดันโลหิต มีงานศึกษาพบว่า การรับประทานผักใบเขียวอย่างน้อย 1 ถ้วยต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดตีบหรืออุดตันได้ 17%
ถั่ววอลนัต
ถั่ววอลนัตเป็นแหล่งไขมันโอเมก้า 3 ชนิดที่เรียกว่า Alpha-linolenic Acid (ALA) มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ส่งเสริมการไหลเวียนเลือด และช่วยลดความดันโลหิต
นอกจากนี้ ถั่ววอลนัตยังอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยปกป้องร่างกายจากภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
ส้ม
ส้ม สายพันธุ์อะไรก็ตาม เป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาติที่มีประโยชน์ เช่น วิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม และยังมีฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารประกอบจากพืชที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ
โยเกิร์ต
โยเกิร์ตเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญของระบบไหลเวียนเลือด เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม และโพรไบโอติกส์
อาหารทะเล
อาหารทะเลเป็นอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาหารทะเลจำพวกปลาเนื้อมันอย่างแซลมอน ทูน่า เป็นแหล่งไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันดี ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี และลดการอักเสบ
ส่วนอาหารทะเลที่เนื้อไม่มัน เช่น ปลาทู กุ้ง หอย แม้จะมีไขมันโอเมก้า 3 หน่อยกว่าปลาเนื้อมัน แต่ยังควรรับประทาน เพราะเป็นแหล่งโปรตีน ไอโอดีน เซเลเนียม และเป็นอาหารแคลอรีต่ำ เหมาะสำหรับการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
กลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ อาหารที่ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดคราบไขมันสะสมในหลอดเลือด รวมถึงอาหารที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินค่ามาตรฐานดัชนีมวลกาย (BMI)
ตัวอย่างอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เช่น
น้ำตาล
การบริโภคน้ำตาล รวมถึงสารให้รสหวานแทนน้ำตาลมากเกินไป ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และเบาหวานนี้ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่หลอดเลือดสมองตีบตันได้
นอกจากนี้การที่ร่างกายมีน้ำตาลปริมาณมาก เผาผลาญไม่หมด ยังทำให้เกิดการสะสมจนกลายเป็นน้ำหนักตัวมากเกินพอดี ถ้าไม่ได้ปรับพฤติกรรมหรือรับการรักษา อาจพัฒนาจนกลายเป็นโรคอ้วน
การหลีกเลี่ยงน้ำตาล ควรคำนึงถึงว่าน้ำตาลไม่ได้มีอยู่แค่ในเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหารเท่านั้น แต่ยังอยู่ในอาหารที่ปรุงมาแล้ว ในน้ำอัดลม ชา กาแฟ รวมถึงในผลไม้ที่มีรสหวานจัด
โซเดียม
โซเดียม ทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ที่สังเกตได้ชัดเจนและหลีกเลี่ยงได้ง่ายคือโซเดียมที่อยู่ในเกลือ แต่นอกจากนี้โซเดียมยังมีอยู่อาหาร อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
แนวทางการหลีกเลี่ยงโซเดียมที่ได้ผลคือปรุงอาหารรับประทานเอง แล้วลดปริมาณเกลือลง หรือเลือกใช้เครื่องปรุงที่มีโซเดียมต่ำ
อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
ไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) คือ ไขมันชนิดที่จะมีลักษณะเป็นของแข็งเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง เช่น เนื้อวัวติดมัน น้ำมันหมู ครีม เนย ชีส อาหารทอด หนังไก่ ไอศกรีม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม
เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเพิ่มระดับไขมันชนิดเลว (LDL) ในเลือดให้สูงขึ้น ทำให้เสี่ยงเกิดการสะสมคราบไขมันในหลอดเลือด นำไปสู่เส้นเลือดตีบหรืออุดตัน ซึ่งพัฒนาไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้
อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง
ไขมันทราน (Trans Fat) คือ ไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งมีทั้งมาจากธรรมชาติและสังเคราะห์ขึ้น
ไขมันทรานส์ธรรมชาติได้จากเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อแพะ เกิดขึ้นจากการที่แบคทีเรียในกระเพาะอาหารของสัตว์เหล่านี้ย่อยหญ้าที่สัตว์กิน ถ้ารับประทานไขมันทรานส์ธรรมชาติในปริมาณพอเหมาะ ไม่มากเกินไป มักไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพ
ส่วนไขมันทรานส์สังเคราะห์ทำจากการปรับโครงสร้างไขมันอิ่มตัวโดยเติมไฮโดรเจนลงไป ช่วยให้ได้ไขมันที่แข็งในอุณหภูมิห้อง เก็บได้นาน ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน
เมื่อรับประทานไขมันทรานส์เข้าไป ระดับไขมันชนิดเลวในเลือดจะเพิ่มขึ้น และระดับไขมันดี (HDL) ยังจะลดลงด้วย ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองรวมถึงโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ
ตัวอย่างอาหารที่มีไขมันทรานส์สังเคราะห์ เช่น มาการีน เนยขาว ครีมเทียม คุกกี้ โดนัท เค้ก ฯลฯ
ความอันตรายของไขมันทรานส์ทำให้บางประเทศออกกฎหมายควบคุมการใช้ไขมันชนิดนี้ สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์ รวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ เมื่อปี พ.ศ 2562
การดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ดังนั้นการดื่มบ่อยๆ หรือดื่มมากเกินไปจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ควรบริโภคเกิน เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง มีดังนี้
- ผู้ชาย ควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ไว้ไม่เกินวันละ 2 แก้ว
- ผู้หญิง ควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ไว้ไม่เกินวันละ 1 แก้ว
ปรับการรับประทานอาหารอย่างไรให้ได้ผล?
แม้ว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมให้กินดีขึ้น เลือกอาหารที่จะรับประทานอย่างเข้มงวดขึ้น หรือนับปริมาณน้ำตาล โซเดียม แอลกอฮอล์ ฯลฯ สำหรับบริโภคต่อวันจะดีต่อสุขภาพ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างกะทันหันอาจทำให้ไม่สามารถคงพฤติกรรมดังกล่าวได้นาน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองจึงควรค่อยเป็นค่อยไป เช่น
- ลดปริมาณเครื่องปรุงที่ประกอบด้วยนำ้ตาล เกลือ ลงทีละน้อย เพื่อให้ต่อมรับรสได้ค่อยๆ ปรับตัว
- แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เป็นอย่างอื่นที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เช่น เปลี่ยนจากมันฝรั่งทอดเป็นถั่วอบ เปลี่ยนจากเนยทาขนมปังเป็นอะโวคาโดหรือเนยถั่ว
- เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันมะกอก
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้ด้วยตัวเรา เริ่มจากสิ่งที่ทำได้ด้วยตนเองอย่างการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่จะส่งผลเสียต่อหลอดเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัว
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ได้ เช่น การออกกำลังกาย อายุ กรรมพันธุ์ ดังนั้นการเพื่อให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง จึงอาจต้องปรับพฤติกรรมด้านอื่นนอกเหนือจากการรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย
ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย