carpal tunnel release disease faq scaled

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท

โรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท Carpal Tunnel Release นอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจทำให้มือไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม…บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจ 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ อาการที่พบบ่อย กลุ่มอาชีพที่เสี่ยง และวิธีการรักษาเบื้องต้น รวมถึงข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่ควรรู้

หากมีคำถามคาใจเกี่ยวกับโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท ต้องการคำตอบที่แน่ชัด นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่ 

1. สาเหตุของโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท

โรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท หรือ Carpal Tunnel Syndrome (CTS) เกิดจากการใช้งานมือในท่าเดิมนานๆ หรือใช้งานข้อมือหนัก ทำให้พังผืดบริเวณข้อมือหนาขึ้น จนกระทั่งไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ในช่องลอดของข้อมือ ทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ในช่องลอดข้อมือ ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวด ชาตามนิ้วมือ

2. อาชีพเสี่ยงเป็นโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท

อาชีพที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท คือ อาชีพที่มักจะต้องใช้งานมือในท่าเดิมซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น พนักงานออฟฟิศที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นักกีฬาเทนนิส ปิงปอง รวมทั้งผู้ที่ต้องใช้แรงข้อมือมาก เช่น ช่างไม้ ช่างซ่อมเครื่องยนต์ และเกษตรกร

3. ท่าทางหรือพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค

ท่าทางหรือพฤติกรรมบางอย่างอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาทได้ เช่น

  1. การพิมพ์คีย์บอร์ดในท่าที่ไม่เหมาะสม การพิมพ์คีย์บอร์ดโดยการงอข้อมือมากเกินไป หรือการวางมือในท่าที่ไม่สบาย อาจทำให้เกิดแรงกดบนเส้นประสาทมีเดียน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท
  2. การใช้เมาส์เป็นเวลานาน การใช้เมาส์โดยข้อมืออยู่ในตำแหน่งที่งอหรือยกสูงเกินไป สามารถทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือได้ ควรใช้แผ่นรองเมาส์ที่มีที่พักข้อมือเพื่อป้องกันอาการดังกล่าว
  3. การยกของหนักโดยใช้นิ้วและข้อมือมากเกินไป การยกของหนักโดยใช้แรงจากนิ้วและข้อมือมากเกินไป แทนการใช้แรงจากแขนหรือไหล่ ทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับและเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้
  4. การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้แรงข้อมือมาก การใช้เครื่องมือบางอย่างที่ต้องใช้แรงข้อมือมาก เช่น ไขควง ค้อน หรือกรรไกร ในท่าที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นเวลานาน ทำให้ข้อมือเกิดการอักเสบและกดทับเส้นประสาทได้
  5. การนอนในท่าที่งอข้อมือมากเกินไป การนอนโดยที่ข้อมือถูกงอมากเกินไป เช่น การนอนทับแขน หรือการนอนในท่าที่ข้อมือไม่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดแรงกดทับเส้นประสาทในข้อมือได้

4. เพศที่มีความเสี่ยงต่อโรค

เพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทมากกว่าเพศชาย เนื่องจากผู้หญิงมีขนาดช่องลอดข้อมือที่เล็กกว่าผู้ชาย ทำให้เส้นประสาทมีเดียนมีโอกาสถูกกดทับมากขึ้น นอกจากนี้ผู้หญิงบางคนอาจมีความบกพร่องทางพันธุกรรมที่ทำให้เส้นประสาทมีโอกาสถูกกดทับมากกว่าปกติ

5. หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดโรคได้มากขึ้น

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาทเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ เส้นประสาทมีเดียนบวมและเกิดการอักเสบได้

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงท่าทางและการเคลื่อนไหวเพื่อปรับตัวกับการตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใช้ข้อมือและมือในท่าที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแรงกดทับเส้นประสาทได้

6. โรคประจำตัวที่มีผลต่อพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท

ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน รูมาตอยด์ และไฮโปไทรอยด์ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคพังผืดที่ข้อมือกดทับเส้นประสาทได้มากกว่าคนทั่วไป

เนื่องจากโรคเหล่านี้ทำให้เนื้อเยื่อรอบข้อมือเปลี่ยนแปลงและเกิดการอักเสบ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ควรระมัดระวังและตรวจเช็กอาการเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

7. อาการที่บอกว่าเป็นโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท

อาการที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ อาการชาและปวด มักเริ่มจากนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยอาการชาจะค่อยๆ เป็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และมักจะมีอาการชาหรือปวดรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืน

8. วิธีแก้พังผืดที่มือเบื้องต้น / วิธีสลายพังผืดที่มือด้วยตัวเอง

ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการปวดหรือชา ควรปรับพฤติกรรมการใช้มือและข้อมือ โดยหลีกเลี่ยงการงอข้อมือมากๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ และพักการใช้งานมือและข้อมือระหว่างวัน และอาจประคบเย็นที่ข้อมือเพื่อลดอาการบวม

หากพังผืดยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจใช้วิธีดามประคองข้อมือ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือและลดแรงกดบนเส้นประสาท

ในบางรายที่รู้สึกปวดมาก แล้วไปพบแพทย์ แพทย์อาจให้ยาต้านอักเสบ เช่น ยาไอบูโพรเฟน  แอสไพริน และนาพรอกเซน หรือฉีดสเตียรอยด์ เพื่อต้านการอักเสบและระงับอาการปวด

นอกจากนี้อาจทำกายภาพบำบัด หรือฝังเข็ม เพื่อช่วยบรรเทาอาการ โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด

อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้แล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด

9. ปวดข้อมือมาก เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

หากคุณมีอาการชาหรือปวดที่มือและข้อมือเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะพักการใช้งานมือและข้อมือระหว่างวัน และประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกชาและปวด รวมทั้งรู้สึกแสบร้อนหรือเหมือนไฟฟ้าช็อตบริเวณปลายนิ้วมือเป็นประจำ มือไม่ค่อยมีแรง หยิบจับของยาก หรือกำมือไม่สุด และอาการนี้เริ่มรบกวนกิจวัตรประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม 

10. การผ่าตัดรักษาพังผืดกดทับเส้นประสาท

การผ่าตัดเป็นอีกวิธีที่ใช้ในการรักษาโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท มีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดบริเวณกลางฝ่ามือ เพื่อคลายพังผืดที่กดทับเส้นประสาท และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยผ่าตัดคลายพังผืดที่ข้อมือผ่านกล้อง

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท จะช่วยให้คุณสามารถป้องกันและจัดการกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น หากเริ่มมีอาการผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้ หากรีบรักษา ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้

ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมใช่ไหม? ไม่รู้จะปรึกษาใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top