cardiovascular disease faq scaled

รวมทุกเรื่องเกี่ยวกับโรคหัวใจ อาการ วิธีลดความเสี่ยง การรักษา

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น โรคหัวใจ มีวิธีไหนบ้างที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรตรวจสุขภาพหัวใจเมื่อใดและบ่อยแค่ไหน ไม่มีอาการผิดปกติ แปลว่าไม่เป็นโรคหัวใจจริงหรือไม่…บทความนี้รวบรวมทุกเรื่องเกี่ยวกับโรคหัวใจมาฝาก มาดูกันว่า สิ่งที่คุณกำลังกังวลนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

สารบัญ

1. สาเหตุหลักของโรคหัวใจคืออะไร

ตอบ: สาเหตุหลักของโรคหัวใจ มักเกี่ยวข้องกับการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

  1. ไขมันในเลือดสูง ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูงทำให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด
  2. ความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจโดยทำให้หลอดเลือดแดงเสียหาย
  3. การสูบบุหรี่ ส่งผลให้หลอดเลือดตีบตันและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
  4. โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
  5. การใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและโซเดียมมากเกินไป ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียดเรื้อรัง
  6. ประวัติครอบครัว หากมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจก็จะเพิ่มขึ้น

2. อาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ

ตอบ: สัญญาณเตือนของโรคหัวใจที่ควรระวัง ได้แก่

  1. เจ็บหรือแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือตึงเครียด
  2. หายใจลำบาก เมื่อออกแรง หรือขณะนอนราบ
  3. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ
  4. เหงื่อออกมาก โดยไม่มีสาเหตุจากการออกกำลังกายหรืออากาศร้อน
  5. บวม ที่ข้อเท้า เท้า ขา หรือหน้าท้อง
  6. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมหนัก
  7. เวียนหัวหรือเป็นลม เลือดไม่ไหลเวียนไปยังสมองเพียงพอ
  8. ปวดหรืออึดอัดที่แขน คอ หรือหลัง อาจร่วมกับเจ็บหน้าอก
  9. คลื่นไส้หรืออาเจียน ร่วมกับเจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก
  10. หายใจหอบ เมื่อออกกำลังกาย หรือเมื่อทำกิจกรรมที่เคยทำได้โดยไม่ปัญหา

3. ภาวะหัวใจล้มเหลวคืออะไร สัญญาณเตือน

ตอบ: ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือสภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหัวใจอ่อนแอลง หรือมีความสามารถในการบีบตัวลดลง ทำให้เกิดการสะสมของของเหลวในปอดหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

สัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่

  • หายใจลำบาก หายใจติดขัด โดยเฉพาะเมื่อออกแรง หรือรู้สึกหายใจลำบากขณะนอนราบ
  • บวม บวมที่ข้อเท้า ขา หรือหน้าท้องเนื่องจากการสะสมของของเหลว
  • อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยง่ายแม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมหนัก
  • อาการไอ มีอาการไอเรื้อรัง หรือไอแล้วมีเสมหะที่มีฟองสีชมพูหรือขาว
  • น้ำหนักเพิ่ม การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจบ่งบอกว่าเกิดภาวะการคั่งน้ำ
  • ใจสั่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือไม่เป็นจังหวะ

4. โรคหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ตอบ: การรักษาโรคหัวใจมีหลายวิธีตามประเภทและความรุนแรงของโรค ได้แก่

  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การเลิกสูบบุหรี่ และการลดความเครียด
  • การใช้ยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และการแข็งตัวของเลือด
  • การรักษาด้วยหัตถการและผ่าตัด เช่น การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน การผ่าตัดบายพาสหัวใจ การซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิด Defibrillator และการผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน
  • ในกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง การปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา

5. มีวิธีใดบ้างที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

ตอบ: หากต้องการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ควรปรับพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น 

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ 
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และอุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืช 
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  • หยุดสูบบุหรี่ 
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ โดยฝึกทำสมาธิหรือฝึกหายใจลึกๆ 

นอกจากนี้ควรหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพ

6. ความเครียดส่งผลอย่างไรต่อโรคหัวใจ

ตอบ: ความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ โดยเพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น 

นอกจากนี้ ความเครียดเรื้อรังยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นอันตรายและเพิ่มการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดแดงเสียหาย

ไม่เพียงเท่านั้น ความเครียดยังกระตุ้นพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น การจัดการความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพหัวใจให้ดี

7. การออกกำลังกายแบบไหนช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง

ตอบ: การออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจมีหลายประเภท ดังนี้

  1. การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือเดินเร็ว ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือด
  2. การฝึกความแข็งแรง เช่น การยกน้ำหนัก หรือการใช้ยางยืด ซึ่งช่วยเสริมกล้ามเนื้อและช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  3. การออกกำลังกายแบบ HIIT (High Intensity Interval Training) คือ วิธีออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูงในระยะเวลาสั้นๆ สลับกับการพัก ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจและระบบการหายใจ
  4. การออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น โยคะ เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ และยังช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

8. ควรตรวจสุขภาพหัวใจเมื่อใดและบ่อยแค่ไหน

ตอบ: ควรตรวจสุขภาพหัวใจเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรืออาการผิดปกติอื่นๆ และควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอหากคุณมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • มีโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ และตามคำแนะนำของแพทย์
  • อายุเกิน 40 ปี ควรเริ่มตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง
  • มีอาการหรือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจสุขภาพตามความเหมาะสม

สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

9. โรคหัวใจเกิดเฉพาะในผู้สูงอายุจริงไหม เด็กเป็นโรคหัวใจได้ไหม

ตอบ: แม้ว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจค่อนข้างสูง เนื่องจากมักจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด แต่โรคหัวใจก็สามารถเกิดขึ้นในคนอายุน้อยได้เช่นกัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจในคนที่อายุน้อย ได้แก่

  • กรรมพันธุ์ ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • พฤติกรรมสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการขาดการออกกำลังกาย
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ความเครียด การบริหารจัดการความเครียดไม่ดี มีความเครียดเรื้อรัง

10. ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ แปลว่าไม่มีโรคหัวใจจริงไหม

ตอบ: การที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เป็นโรคหัวใจเสมอไป เพราะโรคหัวใจบางชนิดอาจไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ อาจไม่มีอาการชัดเจนจนกว่าอาการจะรุนแรงหรือเกิดภาวะหัวใจวาย
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจไม่มีอาการปวดหรือรู้สึกผิดปกติ แต่ยังสามารถเป็นอันตรายได้
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ บางกรณีอาจไม่มีอาการจนกว่าภาวะจะลุกลาม

ดังนั้น การตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำแม้จะไม่มีอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหากมีปัจจัยเสี่ยงเช่น ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน

11. การออกกำลังกายหนักๆ ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ไหม

ตอบ: การออกกำลังกายที่ช่วยให้หัวใจแข็งแรงนั้น ไม่ใช้การออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้หัวใจเต้นแรง แต่เป็นการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต และช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจ

12. ถ้ากินยาลดไขมันแล้ว ก็ไม่ต้องคุมอาหารมากนัก

ตอบ: การรับประทานยาลดไขมัน ไม่ได้หมายความว่าสามารถรับประทานอาหารอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับสุขภาพไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเลือด 

แม้ว่ายาลดไขมันสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ แต่การควบคุมอาหารยังคงมีความสำคัญในการรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดอย่างยั่งยืน การรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ไฟเบอร์สูง ไขมันและโซเดียมต่ำยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

เชื่อว่า 12 เรื่องที่นำมาฝากในบทความนี้ น่าจะช่วยให้หลายคนหายคาใจและหมดกังวลเกี่ยวกับโรคหัวใจแล้ว

ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top