breast tumor cyst treatment comparison scaled

5 วิธีรักษาเนื้องอกเต้านมและซีสต์เต้านม แบบไหนเหมาะกับคุณ

เนื้องอกในเต้านมและซีสต์เต้านมเป็นความผิดปกติในเต้านมผู้หญิงที่พบได้บ่อย แม้จะไม่ใช่โรคมะเร็งเต้านม แต่เมื่อเป็นแล้ว ก็สร้างความกังวลใจได้ไม่แพ้กัน เมื่อตรวจพบแล้วต้องทำอย่างไร มีวิธีรักษาอะไรบ้าง เราจะพาไปหาคำตอบกัน

ทำความรู้จักกับ “เนื้องอกในเต้านม” และ “ซีสต์เต้านม” 

เนื้องอกในเต้านมมีหลายชนิดมาก แต่ชนิดที่พบได้บ่อยก็คือ เนื้องอกเต้านมชนิดปกติ (Fibroadenoma) เป็นเนื้องอกที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ไม่เป็นอันตราย และในบางคนก็สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา จะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งที่ประกอบไปด้วยพังผืดและเนื้อเยื่อจากต่อมน้ำนม

ส่วนซีสต์เต้านม (Breast Cyst) หรือที่เรียกว่า “ถุงน้ำในเต้านม” เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายของผู้หญิงมีการเตรียมพร้อมให้นมบุตรในทุกๆ เดือน ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ ไม่มีการตั้งครรภ์ เมื่อมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเพศลดลง ถุงน้ำก็จะค่อยๆ ยุบลงไปเอง แต่ในบางครั้งก็อาจมีบางถุงที่ยังพองอยู่ และทำให้เกิดซีสต์ที่เต้านมได้

เปรียบเทียบก้อนที่เต้านมกับซีสต์เต้านม ต่างกันอย่างไร รักษาวิธีไหนดี อ่านเพิ่มเติมคลิกเลย

ทำอย่างไรเมื่อตรวจพบเนื้องอกในเต้านมและซีสต์เต้านม

โดยปกติแล้ว เนื้องอกในเต้านมและซีสต์เต้านมจะถูกตรวจเจอจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง นำไปสู่การพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่า ก้อนที่เต้านมเป็นเนื้องอกในเต้านม ซีสต์เต้านม หรือมะเร็งเต้านม เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาให้ตรงจุด ซึ่งหากไปพบแพทย์ จะมีกระบวนการดังนี้

1. ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

ขั้นตอนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จะเริ่มจากการที่แพทย์ตรวจเต้านมด้วยวิธีการคลำก่อน หลังจากนั้นจะทำการอัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) เพื่อดูองค์ประกอบของเนื้อเยื่อเต้านมว่า เป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ ถุงน้ำ ซีสต์เต้านม หรือก้อนเนื้อ

อย่างไรก็ตาม การอัลตราซาวด์จะไม่สามารถตรวจหาหินปูนขนาดเล็กได้ ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรืออายุ 35 ปีขึ้นไป แพทย์จะให้ตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) ร่วมด้วย เพราะสามารถมองเห็นความแน่นของเนื้อเยื่อเต้านม การกระจายของเนื้อเต้านมที่ผิดปกติ หรือจุดหินปูนในเต้านมได้ 

การตรวจแมมโมแกรมนั้น จัดเป็นวิธีตรวจคัดกรองที่สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ระบุตำแหน่งความผิดปกติของเต้านมได้แม่นยำและรวดเร็ว

นอกจากการตรวจอัลตราซาวด์และตรวจแมมโมแกรมแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อเต้านม (Breast Biopsy) เพื่อส่งตรวจห้องปฏิบัติการด้วย โดยวิธีดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่า ก้อนที่เต้านมที่ตรวจพบ เป็นมะเร็งเต้านม เนื้องอกชนิดปกติ หรือเกิดจากสาเหตุใด

2. ตรวจติดตามอาการว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่

หากตรวจวินิจฉัยแล้วว่า เป็นเนื้องอกในเต้านมชนิดปกติ หรือซีสต์เต้านม โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้ามีขนาดเล็ก และไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจติดตามอาการด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจแมมโมแกรมไปก่อน ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยจะแนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม ถ้าเนื้องอกในเต้านม หรือซีสต์เต้านม มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้รู้สึกกังวล หรือทำให้เกิดอาการผิดปกติอย่าง เจ็บ หรือปวดเต้านม แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป

เปรียบเทียบวิธีรักษาเนื้องอกในเต้านมและซีสต์เต้านม

หากแพทย์ประเมินแล้วว่าเนื้องอกในเต้านมและซีสต์เต้านมนี้ จำเป็นต้องรักษา ก็สามารถรักษาได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะมีข้อดี และความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. รักษาด้วยยาฮอร์โมน

ฮอร์โมนเพศหญิงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่กระตุ้นให้เนื้องอกในเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น ในผู้ที่ไม่อยากรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แต่รู้สึกเป็นกังวลกับก้อนที่เต้านม แพทย์ก็อาจแนะนำให้รักษาด้วยการรับประทานยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง เพื่อให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง หรือหยุดการเจริญเติบโตได้

2. รักษาด้วยการเจาะเอาน้ำออกจากซีสต์เต้านม (Aspiration of Breast Cyst)

เป็นวิธีรักษาซีสต์เต้านมธรรมดาที่ไม่ยุบลงเอง มีขนาดใหญ่ และมีน้ำคั่งอยู่ปริมาณมากจนทำให้เกิดอาการเจ็บเต้านมตามมา โดยแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังไปยังถุงน้ำเต้านม แล้วดูดเอาของเหลวออกมา ทำให้ซีสต์เต้านมมีขนาดเล็กลง และอาจยุบหายไปเองได้เลย

การเจาะน้ำออกจากซีสต์เต้านม เป็นวิธีรักษาซีสต์เต้านมที่ง่าย รวดเร็ว เจ็บตัวน้อย และใช้ระยะเวลาพักฟื้นเร็ว แต่อาจจำเป็นต้องทำ 1-2 ครั้ง กว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และถ้าหากดูดของเหลวออกมาแล้ว พบเลือดปนออกมา ก็อาจจะต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อดูว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ 

3. รักษาด้วยความเย็นติดลบ (Cryoablation)

เป็นหนึ่งในวิธีรักษาเนื้องอกชนิดปกติโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้เข็มที่บรรจุไนโตรเจนเหลวเจาะผ่านผิวหนังไปยังเนื้องอก ความเย็นจากไนโตรเจนเหลวจะทำให้เนื้องอกกลายเป็นก้อนน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว และตายทันที หลังจากนั้นจะค่อยๆ ถูกกำจัดตามกระบวนการกำจัดของเสียของร่างกาย

การรักษาเนื้องอกในเต้านมด้วยความเย็นติดลบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีก้อนเนื้องอกขนาดตั้งแต่ 2-4 เซนติเมตร สามารถมองเห็นด้วยการอัลตราซาวด์ได้ หรือผู้ที่มีก้อนเนื้องอกหลายๆ ก้อน แล้วไม่ต้องการผ่าตัดหลายครั้ง หรือไม่อยากมีรอยแผลเป็นหลายจุด

อย่างไรก็ตาม การรักษาเนื้องอกในเต้านมด้วยความเย็นติดลบจะไม่สามารถทำได้ในผู้ที่มีก้อนเนื้องอกตำแหน่งใกล้กับผิวหนัง ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่เกิน 4 เซนติเมตร หรือมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม

4. รักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (High-Intensity Focused Ultrasound: HIFU)

เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาเนื้องอกในเต้านมที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงต่ำ เจ็บตัวน้อย และใช้ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน โดยแพทย์จะปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูงเข้าไปที่ก้อนเนื้องอกโดยตรง แล้วทำให้เกิดความร้อนประมาณ 65-80 องศาเซลเซียส ทำให้โปรตีนในเซลล์ถูกทำลาย ส่งผลให้เนื้องอกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และจะค่อยๆ สลายไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้เห็นผลทันที ต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งกว่าที่เนื้องอกจะยุบตัวลง และเห็นผลการรักษาชัดเจน แต่จะต้องใช้ระยะเวลามากน้อยแค่ไหน หรือต้องทำซ้ำไหม ก็ขึ้นอยู่กับขนาดเนื้องอกของผู้เข้ารับการรักษา

5. รักษาด้วยการผ่าตัดเนื้องอกในเต้านม หรือซีสต์เต้านม

เป็นวิธีรักษาเนื้องอกในเต้านม หรือซีสต์เต้านมที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ โดยการผ่าตัดนี้ มีทั้งการผ่าตัดเต้านมแบบเปิด ผ่าตัดเต้านมแบบส่องกล้อง หรือการผ่าตัดเนื้องอกเต้านมผ่านเข็ม ด้วยเครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อระบบสุญญากาศ (VAE)

แพทย์จะผ่าตัดเพื่อเลาะเอาก้อนเนื้องอก หรือซีสต์เต้านมทั้งหมดออกมา ในบางรายอาจรวมถึงเนื้อเยื่อรอบๆ เล็กน้อยด้วย

รักษาเนื้องอกในเต้านมและซีสต์เต้านมที่ไหนดี

จะเห็นได้ว่า แนวทางการรักษาเนื้องอกในเต้านมและซีสต์เต้านมแต่ละวิธี จะเหมาะกับลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป การจะเลือกวิธีไหนเป็นวิธีรักษาเนื้องอกในเต้านม หรือซีสต์เต้านมของตนเอง จึงจำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมก่อน

สำหรับใครที่เป็นเนื้องอกในเต้านม หรือซีสต์เต้านม แล้วกำลังมองหาโรงพยาบาลชั้นนำใกล้บ้านเพื่อรักษาเนื้องอกในเต้านม หรือซีสต์เต้านมอยู่? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top